"มนตรี" CEO ใหม่ ปตท.สผ. ดันแนวคิด Energy New Normal

"มนตรี" CEO ใหม่ ปตท.สผ. ดันแนวคิด Energy New Normal

ปตท.สผ.ดัน“เอนเนอร์จี นิวนอร์มอล”ลงทุน3กลุ่มธุรกิจใหม่“หุ่นยนต์-โรงไฟฟ้า-พลังงานหมุนเวียน”ชี้ราคาน้ำมัน 70-80 ดอลลาร์ เร่งเจรจาแหล่งเอราวัณ เล็งแผนเพิ่มกำลังการผลิต “อาทิตย์-บงกช” ดันเป้าขายปีนี้ 4.1 แสนบาร์เรล ชี้ปีหน้าโต 7% ใช้เทคโนโลยีลดปล่อยคาร์บอน 25% ปี2030

นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปตท.สผ.ได้กำหนดแนวทางการดำเนินงานตามแนวคิด Energy New Normal ซึ่งสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมพลังงานที่มีความท้าทายมาก โดยทั่วโลกคำนึงถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการดำเนินธุรกิจของ ปตท.สผ.เป็นต้นน้ำ ในการปล่อยก๊าซคาร์บอนจากการผลิตก๊าซ

ดังนั้น การควบคุมสภาวะโลกร้อนถือเป็นส่วนหนึ่งของความท้าทายของ ปตท.สผ. โดยแนวคิด Energy New Normal ของ ปตท.สผ.มี 3 แนวทางคือ

1.การสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมซึ่งเป็นธุรกิจหลัก เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยจะเน้นการลงทุนในพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่ ปตท.สผ.มีความชำนาญ ได้แก่ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และตะวันออกกลาง โดยจะเพิ่มสัดส่วนก๊าซธรรมชาติเป็น 80% และน้ำมัน 20% ควบคู่ไปกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านเทคโนโลยีการดักจับ และการกักเก็บคาร์บอน (CCS) ตั้งเป้าลดการปล่อยคาร์บอน 25% ปี 2030

2.การลงทุนธุรกิจใหม่ (Beyond E&P) 3 ด้านคือ ด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ และปัญญาประดิษฐ์ โดยลงทุนผ่านบริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด หรือ เออาร์วี, ธุรกิจไฟฟ้าที่ต่อยอดจากก๊าซธรรมชาติ เช่น โครงการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ 600 เมกะวัตต์, พลังงานหมุนเวียน (ลมและแสงอาทิตย์) จะมองหาโอกาสการลงทุนกับพันธมิตรที่มีศักยภาพ โดยล่าสุดได้จัดตั้ง บริษัท ฟิวเจอร์เทค เอนเนอร์ยี่ เวนเจอร์ส จำกัด และบริษัท ฟิวเจอร์เทค โซลาร์ (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อรองรับการลงทุนในอนาคต

3.การลงทุนในธุรกิจที่รองรับการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน ซึ่งมุ่งสู่พลังงานสะอาด และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ด้วยเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (CCUS) รวมถึงพลังงานรูปแบบใหม่ในอนาคต (Future Energy) เช่น พลังงานไฮโดรเจน

ชี้ราคาน้ำมัน 70-80 ดอลลาร์

นอกจากนี้ จากสถานการณ์ความท้าทายในช่วงการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน สำหรับทิศทางราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ในขณะที่โลกเรากำลังฟื้นตัวจะทยอยเร่งอัตราการผลิตขึ้นมา ขณะนี้อยู่ที่กว่า 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล มองว่าโอเปคจะพยายามบาลานซ์ราคาน้ำมันอยู่ในช่วง 70-80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ปัจจุบันราคาสูงมาก แต่เริ่มมีกำลังการผลิตจากรัสเซีย สหรัฐ และออสเตรเลีย

ทั้งนี้ จะทำให้ราคาอยู่ที่ระดับ 7-10 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ก่อนที่ราคาก๊าซจะเข้าสู่สมดุลใน 2-3 ปีข้างหน้า ส่วนราคาขายเฉลี่ยก๊าซธรรมชาติของ ปตท.สผ.ในปี 2565 จะใกล้เคียงกับปีนี้ที่ 5.7- 6.0 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู 

เร่งสรุปเข้า“เอราวัณ”ธ.ค.นี้

สำหรับการเปลี่ยนผ่านสิทธิการดำเนินการแหล่งเอราวัณ ตามกำหนดจะต้องเข้าพื้นที่วันที่ 24 เม.ย.2564 ซึ่งก่อนสิ้นปีนี้จะสรุปเป็นภาพที่ชัดเจน โดยขณะนี้ ปตท.สผ.ยังไม่สามารถเข้าพื้นที่เพื่อติดตั้งแท่นผลิตและท่อใต้ทะเลได้ตามแผน แม้บริษัทจะยอมรับเงื่อนไขการเข้าพื้นที่ของผู้รับสัมปทานปัจจุบันแล้วก็ตาม ซึ่งจะส่งผลกระทบกับการผลิตก๊าซธรรมชาติตามสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) 

แต่ทั้งนี้ ปตท.สผ.ได้ประสานงานกับผู้ซื้อและหน่วยงานรัฐอย่างต่อเนื่อง เพื่อวางแผนให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด และจะพยายามเร่งการลงทุนในแหล่งอื่นที่มีศักยภาพเพียงพอ เพื่อชดเชยปริมาณการผลิตที่หายไปบางส่วน

“ผู้รับสัมปทานเดิมต้องเข้ามารื้อถอน ไม่น่าจะได้ข้อสรุปภายในเดือนนี้ ระหว่างนี้จะเพิ่มกำลังผลิตจากแหล่งอื่นมาทดแทน อาทิ โครงการแสงอาทิตย์ คาดว่าจะผลิตได้เพิ่ม 100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และอีก 2 ปีเพิ่มเป็น 330 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ในขณะที่แหล่งบงกช จากเดิมกำหนดไว้ที่ 700 ลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เป็น 850 ลูกบาศก์ฟุตต่อวัน”

เดินหน้าโปรเจกต์“เมียนมาร์”

สำหรับโครงการในประเทศเมียนมาร์ ปตท.สผ.ยังคงดำเนินโครงการสำรวจและผลิตเพื่อส่งก๊าซธรรมชาติสำหรับใช้ผลิตไฟฟ้าให้กับภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรมของประเทศเมียนมาร์อย่างต่อเนื่อง 

ส่วนโครงการในประเทศมาเลเซีย ขณะนี้เริ่มผลิตก๊าซธรรมชาติจากโครงการมาเลเซีย-แปลงเอช ตั้งแต่เดือน ก.พ.2564 มีกำลังการผลิตสูงสุดอยู่ที่ 270 ล้านลูกบาศก์ฟุต ตามเป้าหมาย ซึ่งส่งผลให้ปริมาณการขายปิโตรเลียมเฉลี่ยเพิ่มขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 1 ที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ยังค้นพบแหล่งปิโตรเลียมใน 4 โครงการ ได้แก่ โครงการซาราวัก เอสเค 410 บี (แหล่งลัง เลอบาห์) โครงการซาราวัก เอสเค 417 (หลุมโดกง-1) โครงการซาราวัก เอสเค 405 บี (หลุมซีรุง-1) และโครงการซาราวัก เอสเค 438 (หลุมกุลินตัง-1) และยังคงเดินหน้าสำรวจในแหล่งอื่นในพื้นที่ใกล้เคียง โดยวางแผนพัฒนาโครงการในประเทศมาเลเซียในรูปแบบกลุ่มโครงการ (Cluster development) รวมถึงการใช้อุปกรณ์การผลิตและสิ่งอำนวยความสะดวกร่วมกัน เพื่อให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ส่วนโครงการในภูมิภาคตะวันออกกลาง อาทิ โอมาน แปลง 61 ที่เสร็จสิ้นการเข้าซื้อสัดส่วนการลงทุน 20% ในไตรมาส 1 ปี 2564 ปัจจุบันสามารถผลิตก๊าซธรรมชาติที่ 1,500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และคอนเดนเสทที่ 69,000 บาร์เรลต่อวัน ในขณะที่โครงการในระยะสำรวจที่สำคัญคือ โครงการอาบูดาบี ออฟชอร์ 1, อาบูดาบี ออฟชอร์ 2 และอาบูดาบี ออฟชอร์ 3 ปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาทางธรณีวิทยา และวางแผนเจาะหลุมสำรวจ

นอกจากนี้ โครงการในทวีปแอฟริกามีความคืบหน้าที่สำคัญในโครงการแอลจีเรีย ฮาสสิ เบอร์ ราเคซ โดย ปตท.สผ.ได้เข้าซื้อสัดส่วนการลงทุนอีก 24.5% จากบริษัท ซีนุค เป็น 49% โดยมีโซนาแทรค (SONATRACH) ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันแห่งชาติของแอลจีเรีย เป็นผู้ร่วมลงทุนหลัก 51% ปัจจุบัน คาดว่าจะเริ่มผลิตน้ำมันดิบได้ในปี 2565 ด้วยกำลังการผลิตประมาณ 10,000-13,000 บาร์เรลต่อวัน

ตั้งเป้ายอดขายปีหน้าโต7%

อย่างไรก็ตาม ปตท.สผ.ได้ปรับเพิ่มเป้าหมายปริมาณขายปิโตรเลียมปี 2564 เป็น 417,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน จากไตรมาส 2 ที่ตั้งไว้ 412,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน ซึ่งปริมาณที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากโครงการในต่างประเทศ โดยคาดการณ์ราคาขายก๊าซธรรมชาติที่ประมาณ 5.7 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู 

รวมทั้งตั้งเป้ารักษาระดับต้นทุนต่อหน่วยที่ประมาณ 28-29 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เทียบเท่าน้ำมันดิบ และอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อมราคาที่ประมาณ 70-75% ของรายได้จากการขาย และตั้งเป้ายอดขายปี 2565 โต 7% ส่วนงบลงทุนในปี 2565 อยู่ระหว่างการจัดทำแผนการลงทุน 5 ปี คาดว่าจะประกาศความชัดเจนได้ในปลายเดือน พ.ย.นี้

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์