Education for All ลงทุนกับการศึกษา ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจมากกว่าที่คุณคิด

Education for All ลงทุนกับการศึกษา ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจมากกว่าที่คุณคิด

ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ต้องเร่งจัดการอย่างเป็นระบบ ก่อนที่จะส่งผลต่อเสถียรภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุลการ ประธานคณะกรรมการสถาบันที TDRI และประธานกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ "การศึกษาพื้นฐาน รากฐานการอยู่รอดในโลกใหม่" โดยมีใจความสำคัญ 2 เรื่องหลักคือ ความเสมอภาคและการสร้างสรรค์นวัตกรรมการศึกษาจะเป็นรากฐานของการอยู่รอดในโลกใหม่ 

ความท้าทายของเศรษฐกิจไทย
ราว 30 ปีที่แล้ว ประเทศไทยเคยจินตนาการว่ากำลังจะก้าวไปสู่การเป็นเสือตัวที่ 5 แห่งเอเชีย ด้วยนโยบายเสรีการค้าและเงิน มีการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบก้าวกระโดด ตามหลังสิงคโปร์ ไต้หวัน และฮ่องกงไปติดๆ แต่สุดท้ายก็ฝันสลาย เมื่อต้องเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540

ต่อมา 5-10 ปีให้หลัง เมื่อสถานการณ์เศรษฐกิจเริ่มกลับสู่สภาวะมีเสถียรภาพมากขึ้น ซึ่งขับเคลื่อนโดยระบบเศรษฐกิจที่พึ่งพาแรงงานอย่างเข้มข้น แต่แล้วก็ต้องพบว่าคลื่นลมยังไม่สงบเมื่อนักลงทุนตัดสินใจย้ายฐานการผลิตสินค้าไปประเทศเพื่อนบ้านที่ค่าแรงถูกกว่า และคลื่นลูกหลังที่กระทบแรงกว่าเมื่อโลกก้าวสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 แรงงานทักษะขั้นต่ำที่มีการศึกษาเฉลี่ย 7-8 ปี จะถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยี 

ทำให้แม้เวลาจะผ่านมาแล้วกว่า 2 ทศวรรษ ประเทศไทยก็ยังคงติดอยู่ในกับดักรายได้ปานกลางอยู่เช่นเดิม

วิกฤติเศรษฐกิจขยายช่องความเหลื่อมล้ำ
หลังวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย ก็มีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง จากรายงานธนาคารโลกปีที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่า อัตราการเติบโตรายได้ของกลุ่มประชากรยากจน 40% ของประเทศ หรือ Bottom 40 มีแนวโน้มลดลงช่วง 2558-2561 แม้ว่ารายได้เฉลี่ยประชากรทั้งประเทศมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น

นอกจากนี้ผลการวิเคราะห์ข้อมูลของ UNESCO เมื่อปี 2558 ยังชี้ให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของเด็กไทย โดยเด็กที่พื้นฐานครอบครัวฐานะยากจนที่สุด 20% ของประเทศ มีแค่ 8% เท่านั้นที่สามารถเข้าศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัยได้ ในขณะที่เด็กจากครอบครัวร่ำรวย 20% ของประเทศ มีโอกาสในการเข้าศึกษามหาวิทยาลัยมากกว่ากลุ่มแรก 6 เท่า 

ซึ่งต่างจากกลุ่มประเทศรายได้สูงที่มีโอกาสในการศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาของเด็กครอบครัวยากจนกับเด็กครอบครัวร่ำรวยห่างกันไม่มากนัก 

ปรากฏการณ์สืบทอดทุนมนุษย์ข้ามรุ่น 

ด้วยการส่งเสริมความเสมอภาคทางการศึกษาอย่างต่อเนื่อง แสดงผลลัพธ์ที่ดีในผลการวิเคราะห์ของสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กสศ. ที่ได้ศึกษาข้อมูลการศึกษาของประชากรไทยย้อนหลังไปมากกว่า 60 ปี จากฐานข้อมูล Global Database on Intergenerational Mobility (GDIM) ของธนาคารโลก พบว่า

ในเวลาเพียง 1 Generation คนไทยได้รับการศึกษามากขึ้นอย่างมาก จากเดิมที่ประชากรรุ่นพ่อ แม่ ที่เกิดในช่วงปี 2500 (Generation X) มีประชากรมากกว่า 40% ที่ไม่ได้รับการศึกษาเลย ในขณะที่ประชากรรุ่นลูกของคนกลุ่มนี้ (Generation Y) ซึ่งเกิดในช่วงปี 2520 สัดส่วนของประชากรที่ไม่ได้รับการศึกษาเลยลดลงเหลือเพียง 2% เท่านั้น

ในขณะเดียวกันการวิเคราะห์ข้อมูลดังกล่าวยังได้พบเรื่องน่าสนใจของปรากฏการณ์สืบทอดทุนมนุษย์ (Intergenerational Priviledge) ในประเทศไทย ดังนี้ พ่อแม่ที่จบการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย ทำให้รุ่นลูกมีโอกาสสูงมากถึง 48% ที่จะจบระดับมหาวิทยาลัยเช่นกัน ในขณะที่หากพ่อ แม่ มีการศึกษาต่ำกว่าระดับประถม โอกาสที่รุ่นลูกจะเรียนอุดมศึกษาเหลือเพียง 16% เท่านั้น และมีโอกาส 49% จะหลุดออกจากระบบการศึกษาก่อนจบประถม และ 34% ก่อนเรียนจบมัธยม

Education for All ลงทุนกับการศึกษา ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจมากกว่าที่คุณคิด โดยยืนยันผลการวิเคราะห์จากข้อมูลการสอบ TCAS ในปีการศึกษา 2564 ที่ผ่านมา ก็สะท้อนให้เห็นว่ากลุ่มเด็กที่มาจากครอบครัวยากจนและยากจนพิเศษ หรือ Bottom 20 สามารถเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาได้เพียง 10-12% เท่านั้น 

"วันที่ความยากจนข้ามชั่วคนถูกขจัดออกไปจากสังคมไทยได้สำเร็จ จะเป็นวันที่ประเทศไทยสามารถก้าวออกจากกับดักรายได้ปานกลางได้สำเร็จเช่นเดียวกัน" ดร.ประสาร กล่าว

ลงทุนกับการศึกษาให้ผลตอบแทนระยะยาว
ดังนั้น มาตรการฟื้นฟู และกระตุ้นเศรษฐกิจที่ภาครัฐ และภาคเอกชนจะลงทุนในอนาคตอันใกล้นี้ควรคำนึงถึงกลุ่มเป้าหมายและโจทย์การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์นี้

ซึ่งนอกจากจะช่วยพัฒนารากฐานที่สำคัญในการพัฒนาประเทศในระยะยาวแล้ว ยังถือเป็นมาตรการที่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจมากกว่าที่หลายคนคิด

จากผลการศึกษาของคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พบว่า การดึงเด็กกลุ่มที่หลุดจากระบบการศึกษาก่อนสำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐานกลับมาได้ สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของพวกเขาได้ในระยะยาว และเป็นการลงทุนของภาครัฐที่คุ้มค่าในระดับเดียวกันกับโครงการลงทุนภาครัฐขนาดใหญ่ 

โดยจากการประเมินผลตอบแทนส่วนบุคคล หรือ Estimated Private Benefit ที่เพิ่มขึ้นจากการขจัดปัญหาเด็กนอกระบบการศึกษา หรือการรักษาให้เด็กเยาวชนให้สามารถคงอยู่ในระบบการศึกษาจนสำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐาน (มัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือเทียบเท่า) ทุกคน มีมูลค่าทางเศรษฐกิจรวมแล้วประมาณ 20,000-110,000 ล้านบาทต่อปี ตลอดช่วงอายุการทำงานของพวกเขา

วงเงินดังกล่าวเมื่อคิดเป็นอัตราผลตอบแทนของการลงทุนหรือ IRR แล้ว จะอยู่ที่ประมาณ 9.3% ซึ่งสูงกว่าต้นทุนทางการเงินของรัฐที่อยู่ราว 2.7% และอยู่ในระดับสูงเทียบเคียงกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เช่น รถไฟฟ้า หรือการลงทุนในสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานต่างๆ ของรัฐบาล ที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จะพิจารณาโครงการที่มีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจในระดับ 9-12%

Education for All ลงทุนกับการศึกษา ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจมากกว่าที่คุณคิด นอกจากนั้น ผลตอบแทนดังกล่าวยังไม่นับรวมผลตอบแทนทางสังคม หรือ Social Return on Investment  ในเชิงมหภาคของการศึกษาที่เพิ่มขึ้น เช่น อัตราการหลุดออกจากระบบการศึกษาที่ลดลง จะส่งผลให้คุณภาพแรงงานและขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งสุขภาพประชากรจะแข็งแรงมากขึ้น ทำให้ความเสมอภาคทางสังคมและคุณภาพชีวิตดีขึ้นตามลำดับ

ดังนั้นการลงทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาขั้นพื้นฐาน จึงไม่เพียงแต่เป็นการลงทุนที่มีความคุ้มทุนทางการเงินแล้ว แต่การแก้ไขปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำในการพัฒนาทุนมนุษย์ยังมีนัยสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนในโลกยุคหลัง COVID-19

เสนอ 5 มาตรการ เพื่อ Education for All
ประการที่ 1 การสร้างเครือข่ายหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อสนับสนุนการสร้างหลักประกันโอกาสทางการศึกษา เพื่อให้เด็กเยาวชนทุกคน โดยเฉพาะกลุ่มที่อาศัยอยู่กับครัวเรือนที่มีรายได้น้อย ทั้ง Bottom 40 และ Bottom 20 ได้รับโอกาสที่เสมอภาคในการศึกษา และการพัฒนาจนสามารถออกจากกับดักความยากจนได้ใน Generation นี้

ประการที่ 2 การยกระดับขีดความสามารถ และทรัพยากรของโรงเรียนที่มีประชากรนักเรียนจากครัวเรือนที่มีรายได้น้อยและด้อยโอกาส ให้สามารถมีระบบการเฝ้าระวัง และการส่งต่อกลุ่มเป้าหมายที่มีความด้อยโอกาสทางเศรษฐกิจสังคม และสุขภาพ ให้แก่หน่วยงานที่มีภารกิจโดยตรงได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

รวมทั้งการปรับปรุงระบบการจัดสรรงบประมาณด้านการศึกษา และอัตรากำลังครูตามหลักอุปสงค์ และหลักความเสมอภาค เพื่อให้โรงเรียนมีทรัพยากร และกำลังคนที่เพียงพอทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพในการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพได้อย่างเสมอภาคแก่นักเรียนทุกคน

ประการที่ 3 ส่งเสริมวัฒนธรรมการทำงานด้วยข้อมูลเชิงประจักษ์ (Culture of Evidence) การดำเนินการตามมาตรการทั้ง 2 ประการข้างต้นด้วยการวิจัยทดสอบนวัตกรรมในพื้นที่จริง และมีการติดตามประเมินผลเพื่อใช้ประกอบการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายและการขยายผลการดำเนินงานสู่ระดับชาติ 

เพื่อสื่อสารให้ครู ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้ปกครอง ผู้นำชุมชน ไปจนถึงเด็กเยาวชนที่เกี่ยวข้องให้สามารถเข้าใจ และยอมรับด้วยหลักฐานเชิงประจักษ์อย่างแท้จริงว่า การปฏิรูปดังกล่าวสอดคล้องต่อความต้องการ และบริบทในพื้นที่ของพวกเขาอย่างแท้จริง 

ประการที่ 4 การส่งเสริมการศึกษาทางเลือก หรือ Alternative Education และการพัฒนาทักษะแรงงานที่สอดคล้องกับเทคโนโลยี และอุตสาหกรรมยุคใหม่ให้กับเยาวชนวัยหลังการศึกษาภาคบังคับ เพื่อให้เขามีทางเลือกที่เสมอภาคในการเรียนรู้และการพัฒนาศักยภาพ และพรสวรรค์ควบคู่ไปกับการหารายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัวอย่างยืดหยุ่น

และประการที่ 5 ข้อเสนอมาตรการทั้ง 4 ประการข้างต้นนี้ ไม่ใช่ภารกิจของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง หรือภาคส่วนใด ภาคส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นการร่วมกันสร้างโมเดลการพัฒนาเด็กและเยาวชนให้สามารถเติบโตขึ้นเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศท่ามกลางความท้าทายในวันข้างหน้า 

ข้อมูลวิชาการและผลการวิจัยได้ชี้ให้เห็นทิศทางการพัฒนาประเทศหลัง COVID-19 ที่ค่อนข้างชัดเจนว่า หากประเทศไทยจะสามารถก้าวออกจากกับดักรายได้ปานกลางสู่การเป็นประเทศรายได้สูงตามเป้าหมายภายใน 20 ปีนั้น เราคนไทยทุกคนจำเป็นต้องไปถึงเป้าหมายแห่งการพัฒนาที่สำคัญนี้ด้วยกัน

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์