บีซีพีจี ชี้ “โรงไฟฟ้าพลังน้ำ-ลม” ดันกำไรไตรมาส3 พุ่ง ย้ำจุดยืน Net Zero ปี73
“บีซีพีจี” ระบุ “โรงไฟฟ้าพลังน้ำ-ลม” เป็นช่วงไฮซีซั่น ดันกำไรไตรมาส 3/64 พุ่งกว่า 40% มั่นใจภาพรวมปีนี้โตต่อเนื่องหลังปิดดิลขายไฟสำเร็จตามเป้า ย้ำจุดยืนตั้งเป้า Net Zero ภายในปี73
นายบัณฑิต สะเพียรชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ภาพรวมปี 2564 ยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่ง และสามารถดำเนินงานตามแผนที่วางไว้ โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 1 พ.ย.2564 ที่ผ่านมา โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ชิบะ ในประเทศญี่ปุ่น กำลังการผลิต 20 เมกะวัตต์ และโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กำลังการผลิต 7.7 เมกะวัตต์ ได้เปิดดำเนินการขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ตามแผนเรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะเปิดดำเนินการได้เต็มโครงการที่กำลังการผลิตรวม 12 เมกะวัตต์ภายในสิ้นปีโดยจะเริ่มรับรู้รายได้ทันทีในไตรมาสที่ 4/2564 และเต็มปีในปี 2565
“ในปีหน้า บริษัทฯ มีโครงการที่จะทยอยเปิดดำเนินการรวมกำลังการผลิตอีกกว่า 49 เมกะวัตต์ ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์โคมากาเนะ และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ยาบูกิ ในประเทศญี่ปุ่น กำลังการผลิต 25 เมกะวัตต์ และ 20 เมกะวัตต์ ตามลำดับ โดยจะเปิดดำเนินการในช่วงครึ่งปีแรก ทำให้บริษัทฯ มีการเปิดดำเนินการขายไฟเชิงพาณิชย์ในญี่ปุ่นรวมทั้งสิ้น 34.7 เมกะวัตต์ ขณะที่ปัจจุบันบีซีพีจี มีการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในญี่ปุ่น กำลังการผลิตตามสัญญาขายไฟฟ้ารวม 89.7 เมกะวัตต์ โดยอยู่ระหว่างการก่อสร้างและพัฒนาอีกจำนวน 55.0 เมกะวัตต์”
อย่างไรก็ตาม บีซีพีจี ยังคงยึดมั่นที่จะดำเนินธุรกิจด้านการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสีเขียวควบคู่ไปกับการสร้างเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับชุมชน โดยบริษัทฯ กำลังก้าวเข้าสู่การเป็น Carbon Neutral ในต้นปี2565 และตั้งเป้าเป็นองค์กรที่ปล่อยก๊าซสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในอีก 10 ปีข้างหน้า ราวปี 2573 และยังเป็นหนึ่งในผู้จัดตั้ง Carbon Markets Club แพลทฟอร์มซื้อขายคาร์บอนเครดิต เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนที่มีอุดมการณ์เดียวกันในการแก้ปัญหาโลกร้อนสามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตกันได้ตามความสมัครใจ
ทั้งนี้ ปัจจุบันภาครัฐมีนโยบายส่งเสริม Digital Energy ซึ่งเป็นสิ่งที่บีซีพีจีพัฒนามาตลอดกว่า 3 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะการเปิดโอกาสให้ประชาชนเป็นทั้งผู้ผลิต ผู้ใช้ และสามารถซื้อขายไฟฟ้าส่วนที่เหลือใช้ระหว่างกัน หรือที่เรียกว่า Prosumer ซึ่งจะเป็นผู้ที่ขับเคลื่อนให้เกิดการขยายตัวของเทคโนโลยีแบบทวีคูณ (Exponential) ต้นทุนของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop) ที่ลดลงและนวัตกรรมทางการเงิน
“ในการประกาศเจตนารมณ์สู้วิกฤตโลกร้อนมีจุดมุ่งหมาย 3 ประการ คือ 1. เพิ่มมาตรการเพื่อรับมือกับปัญหาอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 2. วัดผลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จากการประกอบธุรกิจของตนเอง เพื่อหาวิธีการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และ 3. ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเพิ่มแหล่งกักเก็บคาร์บอน พร้อมทั้งส่งเสริมพฤติกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน”
สำหรับผลการดำเนินงานของกลุ่มบริษัทฯ ในไตรมาส 3/64 มีรายได้จากการดำเนินงานที่ 1,302 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 2/64 ที่มีรายได้รวม 1,088 ล้านบาท และ เพิ่มขึ้น 5.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีรายได้รวม 1,238 ล้านบาท มีกำไรจากการดำเนินงานปกติที่ 709 ล้านบาท เติบโตจากไตรมาสที่ 3/2563 และจากไตรมาสที่ 2/2564 ร้อยละ 10.3 และ ร้อยละ 40.7 ตามลำดับ
ขณะที่ผลการดำเนินงานในงวด 9 เดือนของปี 2564 มีรายได้จากการดำเนินงานที่ 3,437 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 343 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 11.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีรายได้รวม 3,094 ล้านบาท มีกำไรสุทธิจากการดำเนินงานปกติที่ 1,702 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 278 ล้านบาท หรือเติบโต 19.5% เมื่อเทียบกับการดำเนินงานในงวด 9 เดือนปี 2563 ที่มีกำไรสุทธิจากการดำเนินงานปกติที่ 1,424 ล้านบาท
ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานในไตรมาส3 ของกลุ่มบริษัทฯ เติบโตอย่างแข็งแกร่ง เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา และช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยปัจจัยหนุนมาจากการเข้าสู่ High Season ของฤดูกาลน้ำ ส่งผลให้โรงไฟฟ้าพลังน้ำ Nam San 3A และ Nam San 3B ใน สปป. ลาว ผลิตไฟฟ้าได้มากขึ้นกว่าช่วงปกติ อีกทั้ง ในช่วงดังกล่าว ทั้งในประเทศไทย และฟิลิปปินส์ เริ่มเข้าสู่ฤดูมรสุม ทำให้โรงไฟฟ้าพลังงานลมมีผลการดำเนินงานเติบโตขึ้นจากไตรมาสก่อน นอกจากนี้ ยังรวมถึงการได้รับส่วนแบ่งกำไรจากการลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพที่อินโดนีเซียเพิ่มขึ้น จากอัตราค่าไฟที่สูงขึ้น และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่ลดลง