ธ.ก.ส.พร้อมจ่ายชดเชยประกันราคาข้าวใน3วัน

ธ.ก.ส.พร้อมจ่ายชดเชยประกันราคาข้าวใน3วัน

ธ.ก.ส.พร้อมหนุนแหล่งทุนจ่าย​เงินชดเชยประกันรายได้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวหากรัฐบาลอนุมัติ โดยสามารถจ่ายได้ภายใน 3 วันทำการ ขณะที่ การจ่ายเงินล็อตสองแก่เกษตรกรยังไม่ได้ข้อสรุป

นายสมเกียรติ กิมาวหา รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.)เปิดเผยว่า ธ.ก.ส.พร้อมที่จะใช้สภาพคล่องของธนาคารรองรับโครงการประกันรายได้แก่เกษตรกรในพืชผลการเกษตรตามมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งประกอบด้วย ข้าวนาปี ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และ มันสำปะหลัง

ทั้งนี้ เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติในการจ่ายเงิน โดยให้ธ.ก.ส.นำเงินของธนาคารไปจ่ายชดเชยส่วนต่างราคาประกันพืชผลต่างๆและมีข้อมูลรายละเอียดของเกษตรกรที่จะจ่ายเงินชดเชยให้ทางธ.ก.ส.สามารถจ่ายเงินให้แก่เกษตรกรภายใน 3 วันทำการ โดยผ่านช่องทางการให้บริการต่างๆของธนาคาร ทั้งสาขาที่มีอยู่กว่า 1.2 พันแห่งทั่วประเทศ และ ช่องทางของเอทีเอ็ม รวมถึง แอพลิเคชัน เอโมบายของธนาคาร

 

สำหรับมติคณะรัฐมนตรีเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมามีมติให้รัฐบาลจ่ายเงินประกันรายได้พืช 3 ชนิด ประกอบด้วย ข้าวนาปีฤดูกาลผลิต 2564/65 ซึ่งมีเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนไว้จำนวน 4.6 ล้านราย ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ซึ่งมีเกษตรกรขึ้นทะเบียนไว้จำนวนประมาณ 5 แสนราย และ มันสำปะหลัง ซึ่งมีเกษตรกรขึ้นทะเบียนไว้ประมาณ 5 แสนราย

ทั้งนี้ ข้าวนาปีประกันราคาไว้ที่ประมาณ 1 หมื่นบาท ถึง 1.5 หมื่นบาท ต่อตันแล้วแต่ชนิดของข้าว ส่วนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ประกันราคาไว้ที่8.50 บาทต่อกิโลกรัม และ มันสำปะหลังประกันราคาไว้ที่ 2.50 บาทต่อกิโลกรัม

สำหรับการจ่ายเงินชดเชยประกันราคาข้าวนาปีนั้น ทางธ.ก.ส.ได้ดำเนินการจ่ายในรอบแรกไปแล้วเมื่อวานนี้จำนวน 5.3 แสนครัวเรือน เป็นเงิน 1.12 หมื่นล้านบาท ส่วนรอบที่สองนั้น ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังอยู่ระหว่างการสรุปรายละเอียด ซึ่งรวมถึง การจัดหาแหล่งทุนด้วย ส่วนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และมันสำปะหลังนั้น ขณะนี้ ยังไม่มีการจ่ายเงินชดเชย เนื่องจาก ยังไม่ถึงฤดูการเก็บเกี่ยว

ทั้งนี้ ในปีการผลิตที่ผ่านมา รัฐบาลได้จ่ายเงินชดเชยประกันราคาข้าวให้แก่เกษตรกรไปจำนวนประมาณ 4.7 ล้านครัวเรือน เป็นเงินประมาณ 4.8 หมื่นล้านบาท ส่วนในปีนี้ ยังไม่ได้มีการประเมิน แต่เชื่อว่า รัฐบาลจะต้องใช้เม็ดเงินมากกว่านั้น เนื่องจาก ราคาข้าวนาปีอยู่ในภาวะตกต่ำ

อย่างไรก็ดี เพื่อไม่ให้ราคาข้าวตกต่ำไปมากกว่านี้ รัฐบาลโดยธ.ก.ส.พร้อมที่จะปล่อยสินเชื่อเพื่อชะลอการขายข้าว เพื่อให้ข้าวไม่เข้าสู่ตลาดมากเกินไปจนทำให้ราคาตกต่ำ ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็จูงใจด้วยการจ่ายค่ารักษาข้าวตันละ 1 พันบาทอีกด้วย