ส.อ.ท.ชี้พร้อมจ่ายค่ากักตัวแรงงานต่างด้าวเข้าไทย
ส.อ.ท.ชี้ เอกชนพร้อมจ่ายไม่เกินหัวละ 2 หมื่น ใช้ รพ.สนาม กักตัวเพื่อลดต้นทุน ด้าน "หอการค้า" แนะรัฐใช้ พ.ร.บ.ควบคุมโรค ป้องกันย้ายงานหลังกักตัวเสร็จ
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ภาคเอกชนยินดีที่จะเสียค่าใช้จ่ายสำหรับการนำเข้าแรงงาน แต่ต้องเป็นวงเงินที่ไม่มากจนเกินไป โดยเงื่อนไขการกักตัว 7-14 วัน ให้มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยคืนละไม่เกิน 1,000 บาท หรือรวมแล้วไม่เกิน 20,000 บาทต่อคน รวมทั้งมีข้อเสนอว่าควรมีสถานที่กักตัวแรงงานที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศร่วมกันในรูปแบบโรงพยาบาลสนาม หรือ Hospitel เพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่ายสำหรับการกักตัว
ทั้งนี้ ส.อ.ท.ต้องการให้ภาครัฐเร่งแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานหลังจากการเปิดประเทศและการคลายล็อกกิจกรรม เพราะที่ผ่านมาแรงงานต่างด้าวจำนวนมากเดินทางกลับประเทศ ซึ่งเบื้องต้นประเมินความต้องการแรงงานต่างด้าว 500,000 คน โดยมีความต้องการมากในกลุ่มอุตสาหกรรมก่อสร้างและอาหาร
นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เห็นด้วยกับข้อเสนอของกระทรวงแรงงานในการนำแรงงานต่างด้าวเข้าประเทศ โดยค่าใช้จ่ายการนำเข้าแรงงานต่างด้าวแยกออกเป็น 3 ส่วน คือ 1.ค่าใช้จ่ายในการจัดหาแรงงาน 2.ค่าใช้จ่ายในการนำเข้าแรงงาน เช่น วีซ่า และ 3 .ค่าใช้จ่ายในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 ซึ่งในส่วนนี้รัฐบาลรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการฉีดวัคซีน 2 เข็ม เอกชนเห็นด้วย
ส่วนช่วงที่ต้องมีการกักตัวและมีการตรวจหาเชื้อโควิดด้วยวิธี RT-PCR จำนวน 2 ครั้ง ครั้งละ 1,300 บาท รวม 2,600 บาท โดยให้นายจ้างหรือสถานประกอบการเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย ซึ่งตรงนี้เห็นด้วยเช่นกันเพราะเอกชนเป็นผู้ใช้แรงงานต่างด้าว ส่วนสถานที่กักตัวต้องเป็นศูนย์ที่รัฐบาลเป็นผู้จัดให้ ขณะที่ค่าใช้จ่ายอื่น เช่น ค่าอาหาร ค่าสาธารณสุข ค่าทิ้งขยะ เป็นต้น จะต้องคำนวณว่า ต่อวันมีค่าใช่จ่ายเท่าไร ซึ่งจะทำให้เอกชนสามารถคำนวณค่าใช้จ่ายได้
นอกจากนี้รัฐบาลจะต้องใช้ พ.ร.บ.ควบคุมโรค มาใช้แทน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน โดยเฉพาะในเรื่องของการย้ายงานของแรงงานต่างด้าวในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด เนื่องจาก พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน เปิดช่องให้แรงงานสามารถย้ายงานได้หรือย้ายงานข้ามจังหวัดได้ ซึ่งหากยังคงเปิดช่องนี้ได้ก็จะทำให้เอกชนที่ออกค่าใช้จ่ายในการนำแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานก็สูญเสียประโยชน์ ดังนั้นอยากให้นำพ.ร.บ.ควบคุมโรค มากำกับดูแลเพื่อป้องกันไม่ให้แรงงานย้ายที่ทำงาน