ตลาดหลักทรัพย์ฯ บ่มเพาะธุรกิจ "SE" สานต่อพลังความตั้งใจดีเพื่อสังคม
ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ริเริ่มโครงการ SET Social Impact Platform นับตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา ขับเคลื่อนการพัฒนาศักยภาพทางธุรกิจให้แก่ "ธุรกิจเพื่อสังคม" หรือ Social Enterprise: SE
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย นอกจากจะเป็นองค์กรหลักของภาคตลาดทุน ที่มองหาและพัฒนาธุรกิจที่มี "ศักยภาพ" ให้มีโอกาสเข้ามาระดมทุนแล้ว อีกหนึ่งบทบาทคือ การพัฒนาตลาดทุนเพื่อให้เป็นประโยชน์แก่ผู้เกี่ยวข้องในทุกมิติของสังคม ทั้งในด้านรูปแบบการทำธุรกิจให้เติบโตควบคู่กับการช่วยเหลือสังคมให้มีโอกาสที่ดีขึ้น
และหนึ่งในโครงการที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ริเริ่มขึ้นคือ SET Social Impact Platform นับตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นการนำเอาศักยภาพของตลาดหลักทรัพย์ฯ ในบทบาทตัวกลางแลกเปลี่ยน “ความมั่งคั่ง” โดยการพัฒนาให้เป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงภาคธุรกิจที่มีทรัพยากรและประสบการณ์ ได้ทำงานร่วมกับภาคสังคม ที่ต้องการแก้ไขปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเกิดการพัฒนาที่สร้างการเปลี่ยนแปลง ขยายผลลัพธ์ที่ดีทางสังคมเป็นทวีคูณ การขับเคลื่อนที่สำคัญคือ การพัฒนาศักยภาพทางธุรกิจให้แก่ "ธุรกิจเพื่อสังคม" (Social Enterprise: SE) เพื่อการพัฒนาและต่อยอดธุรกิจ โดยได้จัดหลักสูตรการเรียนรู้ในหลายระดับ ตั้งแต่เริ่มต้นไปจนถึงการปฏิบัติจริง
ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ร่วมกับสมาคมบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (maiA) ดำเนินโครงการ SET Social Impact Gym ต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 ในลักษณะ incubation program ที่มีผู้บริหารระดับสูงจากบริษัทจดทะเบียนร่วมเป็นโค้ชจิตอาสาในการฝึกทักษะการเป็นผู้ประกอบการให้กับ SE โดยปีนี้มี SE ที่ผ่านการคัดเลือกเข้ามาจำนวน 8 ราย
นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ เห็นโอกาสการเติบโตของธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise: SE) ซึ่งประเด็นความยั่งยืนเป็นวาระสำคัญระดับโลกในปัจจุบัน และในประเทศไทยเองก็มี ecosystem ที่รองรับการเติบโตของ SE อย่างไรก็ตามความสามารถในการเป็นผู้ประกอบการถือเป็นหัวใจสำคัญของ SE ที่จะสานพันธกิจทั้งด้าน Social และ Enterprise ให้สามารถเติบโตได้
แม้ว่ามูลค่าทางเศรษฐกิจของ SE จะไม่มากนัก แต่สิ่งสำคัญคือการดำเนินงานของ SE สามารถเข้าถึงและสร้างผลกระทบเชิงบวกได้ในระดับฐานรากหรือระดับชุมชน หากประเทศไทยมี SE ที่แข็งแกร่งจำนวนมาก ที่สามารถดำเนินธุรกิจไปพร้อมกับการแก้ไขปัญหาสังคมได้ ก็จะส่งเสริมให้เศรษฐกิจเติบโต ควบคู่ไปกับการสร้างความสุขให้แก่สังคมได้อย่างยั่งยืน
นายไตรสรณ์ วรญาณโกศล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอส พี วี ไอ จำกัด (มหาชน) หรือ SPVI และในฐานะนายกสมาคม maiA กล่าวว่า สมาคมบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ได้ร่วมโครงการ SET Social Impact Gym กับตลาดหลักทรัพย์ฯ ตั้งแต่ปี 2560 จนถึงปัจจุบันเข้าสู่ปีที่ 5 โดยในปีนี้ เรามีผู้บริหารจากบริษัทจดทะเบียนมาร่วมเป็นโค้ชจิตอาสาถึง 33 ท่าน และถึงแม้สถานการณ์ปีนี้จะไม่เอื้ออำนวยจากโควิด-19 แต่ยังสามารถดำเนินโครงการได้ราบรื่นผ่านทั้งช่องทางออนไลน์และออฟไลน์
ด้วยกลิ่นอายของบริษัทฯ ในตลาดเอ็ม เอ ไอ ที่มีประสบการณ์ความเป็น “เถ้าแก่” นำพาธุรกิจมาได้ด้วยตัวเอง จึงเห็นจุดอ่อนและโอกาสดีๆ ที่จะนำพา SE แต่ละรายให้เติบโตต่อเนื่องได้ในอนาคต ซึ่งผู้บริหารแต่ละรายที่เข้าร่วมเป็นโค้ชในโครงการ SET Social Impact Gym ต่างก็มาด้วยใจ พร้อมกับโอกาสการเชื่อมโยงกันทางธุรกิจ เพื่อสร้างเครือข่ายที่แข็งแรงร่วมกัน
“และจากการดำเนินโครงการมา 3-4 ปี ได้เห็นหลาย SE ที่เราโค้ช เริ่มงอกออกจากเมล็ดมีใบ กิ่งกานแผ่ขยาย และบางต้นเติบโตกลายเป็นต้นไม้ที่แข็งแกร่ง”
นายเกตติวิทย์ สิทธิสุนทรวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ลีโอ โกลบอล โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ LEO เล่าให้ฟังว่า จากการเรียนรู้ SE ที่ผ่านเข้ามา ทำให้รู้ว่ายังไม่มีความเข้าใจการทำธุรกิจที่จะสามารถตอบโจทย์โมเดลธุรกิจ ซึ่งโค้ชมีหน้าที่เป็นผู้ที่ทำให้ SE เข้าใจ และหาทางเลือกให้เนื่องจากมองเห็นโอกาส และพยายามทำให้เห็น “จุดแข็ง” ของตัวเองคือตรงไหน
โดย SE กลุ่มผมเขามาด้วยความตั้งใจที่อยากจะช่วยสังคม ซึ่งทุกคนมาด้วยความตั้งใจเต็มร้อยโค้ชก็พยายามชี้ช่องทางให้ช่วยสังคมเท่าที่ทำได้ อย่าแบกโลกไว้กับตัวเองทั้งใบ ซึ่งในปีนี้มองว่า SE ที่เข้ามาทั้ง 8 ราย มีโอกาสที่ธุรกิจสามารถเติบโตไปได้อีก
“ถ้าสามารถย่นระยะเวลาที่ SE ต้องไปจ่ายค่าเรียนด้วยตัวเอง เทียบกับการมาเรียนรู้จากโค้ชในโครงการนี้ฯ พวกเขาจะได้ผลลัพธ์ไวและเป็นประโยชน์มาก”
นางเอื้อมพร ปัญญาใส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แปซิฟิกไพพ์ จำกัด (มหาชน) หรือ PAP เผยว่า ธุรกิจเพื่อสังคมที่เข้าร่วมโครงการฯ ในแต่ละปีจะมีโจทย์ที่แตกต่างกันออกไปตามปัญหาสังคมในช่วงเวลานั้นๆ โดยช่วงแรกที่เริ่มโครงการ SET Social Impact Gym พบว่า SE ส่วนใหญ่จะมาด้วยเรื่องสิ่งแวดล้อม ขณะที่ในปีนี้ธุรกิจเพื่อสังคมมีความหลากหลายมากขึ้น มีทั้งธุรกิจเพื่อสังคมที่แก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ด้านการพัฒนาชุมชน ด้านผู้เปราะบาง และด้านสุขภาพ
บทบาทที่สำคัญของโค้ชคือ การให้คำแนะนำเกี่ยวกับแผนธุรกิจ เพราะถึงอย่างไร SE ก็เป็นธุรกิจประเภทหนึ่ง แม้บางรายจะเปลี่ยนผ่านมาจากมูลนิธิ ซึ่งสิ่งสำคัญในการทำธุรกิจของ SE นอกจากเป้าหมายเพื่อสร้างแรงกระเพื่อม (Impact) ให้กับสังคมแล้ว จะต้องนำพาธุรกิจของตัวเองให้รอดด้วย
นางสาววัชรินทร์ ศิรวจนะกุล ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท โซนิค อินเตอร์เฟรท จำกัด (มหาชน) หรือ SONIC กล่าวว่า SE แต่ละรายมีศักยภาพและมีความตั้งใจดีในการทำธุรกิจ เพียงแค่ขาดคนแนะนำหรือขาดความเชื่อมั่นในตัวเองเท่านั้น ซึ่งภายหลังจากการเข้าชั้นเรียน พบว่า SE ทั้ง 8 รายมีความเข้าใจในการทำธุรกิจที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น และสามารถปรับตัวได้เร็ว
ทั้งนี้ สิ่งสำคัญที่ทำให้ธุรกิจเพื่อสังคมประสบความสำเร็จคือต้องตอบตัวเองให้ชัดเจน อยากเป็น SE ใช่หรือไม่ มูลค่าของธุรกิจตนเองคืออะไร บางรายเมื่อสอบถามไปสอบถามมาอาจไม่ใช่ SE แต่เป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurs) ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ผิด
นายชัยวัฒน์ เดชเกิด กรรมการผู้จัดการ ห้างหุ้นส่วนจำกัด โอเรียนทอล คิงดอม หนึ่งในธุรกิจเพื่อสังคมที่เข้าร่วมโครงการ SET Social Impact Gym 2021 เล่าให้ฟังว่า บริษัทฯ มีเป้าหมายอยากสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่กลุ่มชาติพันธุ์ และมีเป้าหมายเผยแพร่วัฒนธรรมท้องถิ่น ผ่านการนำลวดลายเฉพาะมาออกแบบเป็นสินค้าที่มีความทันสมัย สามารถใช้ในชีวิตประจำวัน
สำหรับกลุ่มลูกค้าของบริษัทฯ เดิมเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างประเทศ แต่ด้วยโควิด-19 ส่งผลให้ลูกค้ากลุ่มเดิมหายไป ซึ่งช่วงแรกบริษัทฯ พยายามปรับตัว โดยมีแผนผลิตสินค้าให้ได้จำนวนมากเพื่อดึงรายได้กลับมา แต่โค้ชแนะนำว่าควรผลิตจำนวนไม่มาก แต่เน้นการสร้างคุณค่าให้สินค้าแต่ละชิ้นมากกว่า
นอกจากนี้ ภายหลังเข้าร่วมโครงการฯ บริษัทได้เรียนรู้วิธีการทำธุรกิจที่มีความยั่งยืน เพื่อเป้าหมายการสร้างความเป็นอยู่ที่ดีแก่ชาวเขาและทำได้ต่อเนื่องไปในอนาคต ซึ่งสิ่งที่โค้ชแนะนำคือ นอกจากสอนและสั่งเขาผลิตแล้ว ต้องให้เขารู้จักติดต่อลูกค้า ซึ่งเราจะค่อยๆ ถ่ายทอดความรู้ดังกล่าวให้กับชุมชน
“จากประสบการณ์ที่ทำมาธุรกิจที่เชียงใหม่ที่เจอก็จะเป็นธุรกิจขนาดเล็ก เวลาคุยกันก็จะมีมุมมองของธุรกิจขนาดเล็ก แต่พอมาเจอธุรกิจขนาดใหญ่ ทำให้เรามีมุมมองที่ว่า ธุรกิจเล็กจะทำให้เติบโตขึ้นเป็นธุรกิจใหญ่ได้อย่างไร”
นายฉลองรัฐ ไชยราช ผู้ก่อตั้ง บริษัท ปลูกฝันปันรัก จำกัด หรือ “ไร่ปลูกฝันปันรัก” อีกหนึ่งในธุรกิจเพื่อสังคมที่เข้าร่วมโครงการ SET Social Impact Gym 2021 เล่าว่า เดิมบริษัทฯ เป็นมูลนิธิเวิร์ลแชร์ที่ดูแลศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ป่วยจิตเวช แต่ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้มูลนิธิมีรายได้ไม่เพียงพอดูแลผู้ป่วยในศูนย์ฯ จึงเกิดความคิดนำผักที่ผู้ป่วยปลูกในช่วงเข้ารับการฟื้นฟูมาจำหน่ายเพื่อสร้างรายได้
โดยช่วงแรกของการเข้าเรียนกับโครงการ SET Social Impact Gym ยอมรับว่า บริษัทยังติดกรอบความคิดการ “ขอทุน” ซึ่งเป็นรูปแบบการดำเนินงานของมูลนิธิ แตกต่างจากการทำธุรกิจที่ต้อง “ขายของ” เพื่อสร้างรายได้ ซึ่งจุดนี้บริษัทได้เรียนรู้การเปลี่ยนวิธีการคิด (Mindset) โดยได้คำแนะนำจากโค้ชแต่ละท่านช่วยลำดับความสำคัญของปัญหาให้กับเรา
นอกจากนี้ โค้ชยังแนะนำความรู้ในการดำเนินธุรกิจ เช่น การใช้ทรัพยากรที่มีให้เกิดประโยชน์ การลดต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น รวมถึงการเข้าใจความต้องการของลูกค้า ซึ่งองค์ความรู้ที่ได้จากชั้นเรียนในครั้งนี้ จะช่วยนำพาให้บริษัทฯ สามารถสร้างรายได้และบรรลุเป้าหมายการสร้างสุขภาวะแก่ผู้ป่วยจิตเวชได้อย่างแท้จริง
สำหรับการสนับสนุนธุรกิจเพื่อสังคมของตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อสานต่อพลังความตั้งใจในการสร้างความยั่นยืนทางธุรกิจ ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญด้านความยั่งยืนที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ดำเนินงานอย่างต่อเนื่องตลอดหลายปีที่ผ่านมา