ตอน : ทำไมยิ่งเรียนรู้แต่ยังล้มเหลว !!

ตอน : ทำไมยิ่งเรียนรู้แต่ยังล้มเหลว !!

เมื่อการเรียนรู้เป็นสิ่งที่ดี แต่ต้องรู้จัก “เลือกที่จะเรียนรู้” ไม่ใช่เรียนรู้แบบไม่มีทิศทางจนมั่วไปหมด และอย่า “เรียนรู้เพื่อลอกเลียน” แต่ต้อง“เรียนรู้เพื่อสร้างหนทาง วิธีการที่เหมาะกับตนเอง”แล้วท่านจะสนุกและได้ประโยชน์จากการเรียนรู้ !

ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีแนวทางให้เรียนรู้ ให้ศึกษาค้นคว้ามากมาย จะเลือกอ่านหนังสือแบบเดิมๆ ก็มีหนังสือให้เลือกอ่านจนถึงชาติหน้าก็ยังอ่านไม่หมด ถ้าขี้เกียจอ่านปัจจุบันก็มีพอดแคสให้ฟังจนหูเปื่อยก็ฟังไม่ครบ ถ้าชอบดูมากกว่าชอบอ่านก็มีให้ดูใน youtube ทั้งของไทยและของต่างประเทศก็ไม่สามารถดูได้หมด

แต่ก็แปลก... มีเจ้าของกิจการและผู้บริหารจำนวนไม่น้อย ที่ต่างก็เคยอ่าน เคยฟัง เคยดู เคยเข้าอบรมสัมมนาต่างๆมาก็มาก แต่ก็ยังไม่สามารถหาเคล็ดลับของความสำเร็จมาใช้ในการบริหารจัดการทีมงานหรือองค์กรให้เป็นไปอย่างที่ต้องการได้ซะที!?

ตัวอย่างของความสำเร็จ มีให้เรียนรู้มากอย่างที่กล่าวมาข้างต้น แต่ปัญหาที่ทำให้ไม่สามารถนำสิ่งที่เรียนรู้มาบริหารจัดการงาน คน หรือธุรกิจให้เป็นไปตามเป้าหมายได้ น่าจะเป็นเพราะ...

1.เรียนรู้จน “ล้น”

เชื่อหรือไม่ว่า มีเจ้าของกิจการจำนวนไม่น้อยที่ผ่านมาช่วงก่อนเกิดวิกฤติโควิดที่รูปแบบการอบรมสัมมนายังสามารถจัดได้ตามปกติ แทบจะเรียกได้ว่า อาชีพหลักคือเข้าอบรมสัมมนาแทบทุกหลักสูตรที่สถาบันต่างๆ จัดอบรมทั้งของภาคเอกชนที่เสียเงิน หรือภาครัฐจัดฟรี ส่วนอาชีพรองคือทำธุรกิจ!

การขยันเรียนรู้เป็นสิ่งที่ดี แต่การเรียนรู้จนล้นแบบนี้เข้าข่ายเรียนรู้มากเกินไปจนสับสน จนไม่รู้ว่าจะเลือกหยิบอันไหนมาใช้หรือหยิบมาใช้แล้วเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาตามสิ่งที่เรียนรู้บ่อยๆ จนไม่เกิดผล

ที่สำคัญมากในประเด็นนี้ก็คือ เรียนรู้มากแต่ไม่สามารถเข้าใจถึงแก่นหรือแกนสำคัญของสิ่งที่เรียนรู้ สิ่งที่ได้ก็จะได้แค่การเรียนรู้แต่ไม่สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์อะไรเลย

2.เรียนรู้แล้ว ไม่สามารถเลือกนำมาปรับใช้

เพราะฉะนั้น ต้องรู้วิธีที่จะเรียนรู้ ว่าเรียนรู้อย่างไรให้จับประเด็นสำคัญหรือแกนให้ได้และต้องรู้ว่าจะนำไปใช้อย่างไร เช่น เรื่องที่เราเรียนรู้นั้น อะไรคือปัจจัยหรือประเด็นหลัก และประเด็นหลักอันไหน ที่พอจะนำมา “ปรับใช้” ให้เหมาะกับตัวเรา ธุรกิจของเรา ไม่ใช่เอามาใช้ทั้งดุ้นโดยไม่ได้ผ่านการคิด วิเคราะห์ และถ้าจะเลือกนำมาใช้แล้ว จะใช้อย่างไร ใช้กับใครเป็นต้น

ข้อเท็จจริงที่ท่านควรมองออก....

ไม่ว่าจะเป็นหนังสือที่ท่านอ่าน พอดแคสที่ท่านฟัง ยูทูปที่ท่านดู แม้กระทั่งการเข้าสัมมนา... ท่านควรจะรู้ว่าทุกอย่างที่ท่านเสพนั้น “น้ำเยอะกว่าเนื้อ!” ใจความสำคัญหรือแกนหลักจริงๆมีไม่กี่ประเด็น แต่มาขยายความให้ยืดเยื้อ เวิ่นเว้อในหนังสือ ในพอดแคสที่ฟัง ในยูทูปที่ดู หรือในหลักสูตรที่จัดสัมมนา ก็เพื่อการทำมาหากินของผู้ถ่ายทอดเหล่านั้นเท่านั้น!

เพราะฉะนั้น ต้องรู้วิธีแยกเนื้อหาสำคัญ (ที่มีเพียงน้อยนิด) ออกมาจากน้ำท่วมทุ่งให้ได้ก่อน แล้วค่อยนำเนื้อหาสำคัญบางอันที่เหมาะกับสถานการณ์ของท่านมาใช้ ก็แค่นั้น!

3.เรียนรู้เพื่อ “ลอกเลียน แต่ไม่เนียน!”

ขอย้ำตรงนี้เลยว่า “ไม่มีสูตรสำเร็จในการบริหารจัดการและการทำธุรกิจ ที่เหมาะสมกับทุกคนบนโลกสามารถนำไปเลียนแบบได้!”

เพราะมีปัจจัยที่แตกต่างกันมาก ที่จะทำให้แต่ละคนประสบความล้มเหลวหรือประสบความสำเร็จ เช่นในเรื่องบริหารจัดการ ท่านเห็นคนอื่นทำแบบนี้แล้วได้ผล แต่ตัวท่านเองมีลักษณะนิสัยและบุคลิกที่ไม่ใช่แบบนั้นไปฝืนทำโดยขนาดความเป็นธรรมชาติ การลอกเลียนแบบนั้นมักลงท้ายด้วยความล้มเหลว

หรือเห็นคนอื่นทำธุรกิจขายสินค้าทางออนไลน์แบบนั้นแล้วไปได้ดี ท่านก็ไปลอกเลียนแต่ขาดความเข้าใจที่ลึกซึ้งในสิ่งที่ลอกเลียน สุดท้ายก็ได้แต่ลอกแล้วเจ็บเจียนตายเพราะธุรกิจไปไม่รอด

4. เรียนรู้แล้ว ไม่สามารถ ต่อยอด

ถ้าท่านนำสิ่งที่เรียนรู้มาใช้แล้วได้ผลเพียงน้อยนิด ส่วนมากมักจะเกิดจาก ท่านไม่ได้ต่อยอด!

วิธีฝึกเพื่อให้ท่านต่อยอดได้...ต้องเข้าใจก่อนว่าการต่อยอดคือการนำประสบการณ์ ผสานความคิดสร้างสรรค์ของท่านลงไปคลุกกับสิ่งที่ท่านเรียนรู้มาเพื่อให้เกิดความรู้ที่ดีกว่า เหนือกว่าสิ่งที่เรียนรู้ในเรื่องนั้นๆ!

คนที่เก่ง จะเป็นคนที่ต่อยอดเก่ง ซึ่งเป็นความสามารถเฉพาะตัวถ่ายทอดกันยากในเรื่องนี้ แต่ก็ฝึกกันได้จากแนวทางข้างต้น (เรียนรู้ บวกการนำประสบการณ์และความคิดสร้างสรรค์มาผสมผสาน)

5. เน้นแต่เรียนรู้ แต่สร้างแนวทางของตนเองไม่ได้

คนที่ประสบความสำเร็จส่วนมากไม่ได้ประสบความสำเร็จโดยการลอกเลียนคนอื่นทุกอย่าง แต่ประสบความสำเร็จเพราะสร้างแนวทางของตนเองได้

แนวทางของตนเองไม่ได้สร้างยากอะไร... เริ่มจากเรียนรู้ ลองทำ สั่งสมประสบการณ์ ใส่ความคิดสร้างสรรค์ และต่อยอดจนเกิดเป็นแนวทางของตนเองนั่นเอง!

บทสรุป

การเรียนรู้เป็นสิ่งที่ดี แต่ต้องรู้จัก “เลือกที่จะเรียนรู้” ไม่ใช่เรียนรู้แบบไม่มีทิศทางจนมั่วไปหมด และอย่า “เรียนรู้เพื่อลอกเลียน” แต่ต้อง“เรียนรู้เพื่อสร้างหนทาง วิธีการที่เหมาะกับตนเอง”แล้วท่านจะสนุกและได้ประโยชน์จากการเรียนรู้

“อย่าแค่ได้เรียนรู้ แต่ต้องรู้วิธีนำสิ่งที่เรียนรู้มาใช้ให้เกิดประโยชน์ครับ!”