ลุ้นผู้ถือหุ้น SCB ไฟเขียว "ยานแม่" ทะยาน !
วันนี้ ! ลุ้นผู้ถือหุ้น “ไทยพาณิชย์” ไฟเขียว ยานแม่ "เอสซีบีเอกซ์" ทะยาน หวังยกระดับสู่กลุ่ม "เทคโนโลยีการเงิน" ระดับภูมิภาคภายในปี 2568 หลังไม่จำกัดตัวเองอยู่ที่ธุรกิจธนาคารแบบดั้งเดิมแล้ว !
วันนี้ (15 พ.ย. 2564) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB จัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น (EGM) เพื่อขออนุมัติการปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งสำคัญ ! หลังจาก เมื่อ 22 ก.ย. ที่ผ่านมา ที่ประชุมบอร์ดมีมติเดินหน้าปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่ของกลุ่มไทยพาณิชย์ (SCB GROUP) ภายใต้วิสัยทัศน์ “ยานแม่เทคคอมพานี” จนทำให้เกิดกระแส “ทอล์ค ออฟ เดอะ ทาวน์”
เปิดปฏิบัติการปรับโครงสร้างใหม่ภายใต้การขับเคลื่อนของบริษัทแม่ บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCBX เพื่อประกอบธุรกิจเป็นบริษัทลงทุน (Holding Company) โยกผู้ถือหุ้น SCB ไปถือหุ้น SCBX แทน พร้อมนำ SCBX เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น แต่ยังใช้ชื่อหุ้นเดิม SCB การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ขององค์กรอายุเกินกว่า 100 ปี เพื่อเป็นการเร่งขยาย “ธุรกิจเชิงรุก” เข้าสู่ธุรกิจการเงินและแพลตฟอร์มอย่างเต็มรูปแบบ เตรียมพร้อมเข้าสู่สนามการแข่งขันแบบใหม่ที่กำลังเกิดขึ้น และยกระดับสู่กลุ่มบริษัทเทคโนโลยีการเงินระดับภูมิภาคภายในปี 2568
ในบริบทใหม่ของโลกที่เปลี่ยนแปลงเร็วในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า ผู้ชนะในโลกใหม่ ต้องเป็นผู้สร้างธุรกิจที่เป็น “Network effect” เท่านั้น วลีเด็ดของ “อาทิตย์ นันทวิทยา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ที่เคยให้สัมภาษณ์ “กรุงเทพธุรกิจ” ไว้ดังนั้นจึงไม่สามารถจำกัดตัวเองอยู่ในธุรกิจธนาคารแบบดั้งเดิมได้อีกต่อไป แต่จะต้องแปลงสภาพตัวเองไปสู่การสร้างคุณค่าใหม่ให้กับผู้ถือหุ้นและผู้บริโภค
ดังนั้น หากวันนี้ (15 พ.ย.2564) ที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นผ่านมติดังกล่าว ในเดือนม.ค.-ก.พ. 2565 ผู้ถือหุ้นตอบรับการเสนอซื้อหลักทรัพย์ (Tender Offer) จากบริษัท SCBX (1 หุ้น SCB ต่อ 1 หุ้น SCBX) โดยผู้ถือหุ้นต้องตอบรับคำเสนอซื้ออย่างน้อย 90% และในเดือนมี.ค. 2565 หุ้น SCBX เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และเพิกถอนหุ้น SCB ในวันเดียวกัน รวมทั้งในเดือนมิ.ย. 2565 SCB จ่ายเงินปันผลให้ SCBX จำนวน 70,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในการดำเนินการดังต่อไป
โดยโครงสร้างของ SCBX จะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ “ธุรกิจธนาคารไทยพาณิชย์” และ “กลุ่มธุรกิจใหม่” สร้างการเติบโต ตามแผนธุรกิจ 5 ปี (2564-2568) ตั้งเป้าจะมีฐานลูกค้าเพิ่มเป็น 200 ล้านรายจากปัจจุบันฐานลูกค้าธนาคารไทยพาณิชย์ที่ 16 ล้านราย โดย SCBX กำไรต้องเติบโตระดับ 1.5-2 เท่า หรือ มีมูลค่าตามราคาตลาด (Market Cap) แตะ “1ล้านล้านบาท” โดย SCBX จะยังอยู่ภายใต้การกำกับดูแลที่ใกล้ชิดของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นี่คือเป้าหมายของแม่ทัพใหญ่ SCBX
“วันนี้เรามีฐานลูกค้าแบงก์เอง 16 ล้าน แอฟโรวินฮู้ด 2 ล้านคน และจากที่จับมือกับ เอไอเอส 40 ล้านคน และหากมีการจับมือกับธุรกิจยักษ์ใหญ่ของไทยอีก ฐานลูกค้าก็จะใหญ่ขึ้น และเมื่อเราก้าวขึ้นไปในระดับภูมิภาค และระดับโลก ฐานลูกค้าอาจจะก้าวกระโดดจาก 200 ล้านคน เป็น 2,000 ล้านคนได้”
แม่ทัพใหญ่ SCB แจกแจงต่อว่า ธุรกิจธนาคารไทยพาณิชย์ จะยังคงดำเนินธุรกิจตามปกติ คงไว้ซึ่งความขลังของ “แบงก์ใบโพธิ์” ที่มีความเข้มแข็งทางด้านการเงิน มุ่งเน้นรักษาการเติบโตกำไรที่ระดับ 30,000 ล้านบาทต่อปี ถือเป็นจุดที่พอดีของการเติบโตเชิงคุณภาพ ด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้ร่วมกับการปรับลดกระบวนการขั้นตอนต่างๆ เพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน และตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไปให้มากที่สุดในทุกช่องทาง ธนาคารจะเน้นความสำคัญกับการสร้างความพึงพอใจสูงสุดแก่ลูกค้าเป็นที่ตั้ง จะช่วยสนับสนุนความต่อเนื่องของการทำกำไรได้
ขณะที่ กลุ่มธุรกิจใหม่ สร้างการเติบโต จะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มแรกเป็น “ธุรกิจม้าเร็ว” เป็นธุรกิจดังเดิมของธนาคารที่มีความสามารถทำกำไรเติบโตในระยะ 3 ปีข้างหน้า ได้แก่ ธุรกิจบัตรเครดิต สินเชื่อบุคคล และสินเชื่อรถยนต์ ที่แยกออกมาตั้งเป็นบริษัทย่อย คือ บริษัท ออโต้ เอ็กซ์ จำกัด และ บริษัท คาร์ด เอกซ์ จำกัด นอกจากนี้ ยังมี บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ไทยพาณิชย์ และจัดตั้งบริษัทร่วมทุน AlphaX โดยแต่ละธุรกิจในกลุ่มนี้วางเป้าหมายเติบโต ROE มากกว่า 20% ต่อปี ภายใน 3 ปี ต้องนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น
กลุ่มสอง "กลุ่มธุรกิจสายบู๊” เป็นธุรกิจใหม่ทั้งด้านการลงทุนในเทคโนโลยีทางการเงินดิจิทัลแอสเซท และสร้างแฟลตฟอร์มต่างๆ เพื่อให้สอดรับกับรูปแบบของธุรกิจที่เปลี่ยนไปและแข่งขันในธุรกิจใหม่ที่จะเข้ามาในอนาคต พร้อมขยายไปสู่ภูมิภาคโดยในเบื้องต้นจะเน้นที่อินโดนีเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ซึ่งจะสร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้กับ SCBX ในอนาคตแทนรายได้จากธุรกิจเดิมที่กำลังลดลง
“ธุรกิจกลุ่มนี้จะเห็นการโตชัดเจนในปีที่ 4 เป็นต้นไป อาจจะไม่ใช่การโตในแง่กำไรเท่านั้น แต่จะเป็นการโตเชิงมูลค่าของธุรกิจ วางเป้าหมายเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นทั้งในและต่างประเทศ อาทิ โรบินฮู้ด ฟู้ดเดลิเวอรี เป็นโครงการแรก”
รวมทั้งจะขยายเข้าสู่ “ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล” (Digital Asset Business) ในระดับโลก เพื่อเข้าสู่โลกการเงินแห่งอนาคตผ่านทาง SCB 10X และ บล.ไทยพาณิชย์ โดยการร่วมลงทุนและเป็นพันธมิตรกองทุนระดับโลก และการพัฒนาธุรกิจดิจิทัลแอสเส็ทด้านต่างๆ ในโมเดลธุรกิจใหม่เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับกลุ่มในระยะยาว
เริ่มต้นด้วยการประกาศความร่วมมือระหว่าง บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC และ ธนาคารไทยพาณิชย์ ประกาศบรรลุข้อตกลงและลงนามในสัญญาร่วมทุน ในการจัดตั้งบริษัทในชื่อ “เอไอเอสซีบี” (AISCB) เพื่อให้บริการด้านการเงินดิจิทัล เช่น บริการด้านสินเชื่อ ก่อนขยายสู่บริการทางการเงินอื่น ๆ ต่อไป นับเป็นก้าวสำคัญในการผนึกกำลังสร้างฐานธุรกิจแห่งการเติบโตในรูปแบบใหม่ให้กับทั้งสององค์กรชั้นนำระดับประเทศ
ก่อนจะขยับความร่วมมือระหว่าง SCB กับ “กลุ่มซีพี” จัดตั้งกองทุน Venture Capital ขนาด 600-800 ล้านเหรียญ หรือราว 2-2.6 หมื่นล้านบาท เพื่อการลงทุนในธุรกิจเทคโนโลยีทางการเงินในด้านต่างๆ เช่น เทคโนโลยีบล็อกเชน Decentralized Finance ตลอดจนเทคโนโลยีที่เกิดใหม่อื่นๆ นอกเหนือจากการบริหารกองทุนร่วมกันแล้ว กลุ่มธนาคารและกลุ่มซีพีจีจะร่วมลงทุนในกองทุนนี้ร่วมกับผู้ลงทุนที่ไม่ใช่ผู้ลงทุนรายย่อย (Accredited Investor)
และ การตั้งบริษัทร่วมทุน “ทีป็อป อินคอร์ปเรชั่น” ดำเนินธุรกิจบริหารศิลปินและแพลตฟอร์มออนไลน์ ด้วยทุนจดทะเบียน 150 ล้านบาท โดย บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ WORK ถือหุ้น 60% และ SCB 10X ถือหุ้น 40%
ล่าสุด สร้างความฮือฮาในแวดวงการเงินอีกครั้ง... กับความเคลื่อนไหวของ SCB ในการประกาศทุ่มเงินลงทุนกว่า 17,850 ล้านบาท ซื้อหุ้น บริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด หรือ Bitkub ในสัดส่วน 51% นี่ถือเป็นการประกาศเชิงรุก “ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล” แบบเต็มตัว ผ่านทาง บล. ไทยพาณิชย์ ซึ่งถือเป็นการยืนยันวัตถุประสงค์สู่การเป็นยานแม่ที่ทำธุรกิจทางด้านฟินเทค หรือเทคโนโลยีทางการเงินระดับโลกที่ไม่ใช่แบงก์พาณิชย์อย่างเดียวอีกต่อไป
ท้ายสุด “อาทิตย์” บอกไว้ว่า เราใช้เวลา 2 ปี เริ่มคุยกับบอร์ดตั้งแต่ปลายปี 2562 แต่เมื่อมีวิกฤติโควิด ทำให้เราต้องไปโฟกัสการช่วยเหลือลูกค้าให้เรียบร้อยโดยเร็ว เพื่อที่จะได้กลับมาเตรียมตัวโปรเจคนี้ ด้วยทีมงานที่แข็งแรงของเรา และสถานการณ์ที่บรรเทา ทำให้ปลายปี 2563 เราสามารถเริ่มกลับมาเตรียมตัวโปรเจคนี้ได้สำเร็จ