เปิด 6 วิธี "เจ้าของ" นำ "เงินกิจการ" มาใช้แบบไหนให้ถูกต้อง

เปิด 6 วิธี "เจ้าของ" นำ "เงินกิจการ" มาใช้แบบไหนให้ถูกต้อง

ไม่ใช่ว่าเป็น "เจ้าของ" แล้วจะนำเงินบริษัทออกมาใช้จ่ายแบบไหนก็ได้ เพราะอย่าลืมว่า นำเงินออกมา ก็ต้องชี้แจงเรื่อง "ภาษี" ด้วย แล้วการนำเงินออกมาอย่างถูกต้อง มีรูปแบบและวิธีใดบ้าง แบบไหนมีข้อดีข้อเสียทางภาษีอย่างไร? ที่นี่มีคำตอบ

หาก "เจ้าของกิจการ" ต้องการนำ "เงินกิจการ" ออกมาใช้ ก็สามารถทำได้หลายวิธี แต่สิ่งที่สำคัญคือทำให้ถูกต้องตามหลักบัญชี และ ภาษี

..ต้องตอบได้ว่า นำไปใช้จ่ายอะไร และมีประโยชน์ใดบ้างกับกิจการ

เมื่อการดำเนินกิจการมาถึงจุดที่มีรายได้และกำไรมากมาย เจ้าของบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล อยากนำเงินของกิจการออกมาใช้จ่ายส่วนตัวบ้าง ก็มักนำมาใช้โดยลืมคำนึงถึงหลักทางบัญชีและภาษี

กิจการที่อยู่ในรูปแบบ นิติบุคคล การที่เจ้าของนำเงินของกิจการออกมาใช้จะต้องมีที่ไปชัดเจน มีหลักฐานเพื่อใช้ในทางภาษีและสามารถตรวจสอบภายหลังได้ เพื่อให้สามารถนำมาเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อหักภาษี รวมถึงต้องหัก ณ ที่จ่าย และนำส่งภาษีอย่างถูกต้อง 

ดังนั้น การนำเงินออกมาใช้สามารถทำได้อย่างถูกต้อง มีรูปแบบและวิธีใดบ้าง รวมถึงแต่ละวิธีมีข้อดีข้อเสียทางภาษีแตกต่างกันอย่างไร ไปติดตามกัน

  •  เงินเดือน 

เงินเดือน หรือ ค่าตอบแทน ของเจ้าของกิจการ เนื่องจากกิจการจะอยู่ในรูปแบบนิติบุคคล ส่วนเจ้าของกิจการอยู่ในรูปแบบบุคคลธรรมดา ซึ่งถือเป็นคนละบุคคลกันในทางกฎหมาย และเมื่อเจ้าของกิจการทำงานให้กับกิจการ จึงมีสิทธิได้รับเงินเดือน ค่าตอบแทนเช่นกัน

และวิธีการจ่ายเงินเดือนให้กับเจ้าของกิจการ ถือเป็นการนำเงินของกิจการออกไปใช้ส่วนตัวได้อย่างถูกต้องตามหลักทางบัญชี

ซึ่งเงินเดือนที่จ่ายให้กับเจ้าของกิจการ สามารถนำมาเป็นรายจ่ายของกิจการ ทำให้บริษัทเสียภาษีลดลงสูงสุดได้ถึง 20% แต่ก็ขึ้นอยู่กับอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลของกิจการที่ต้องจ่ายด้วย 

ส่วนเจ้าของกิจการจะต้องนำรายได้จากเงินเดือนนี้ ไปรวมเป็นรายได้ที่ได้รับ เพื่อนำไปคำนวณในการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

  •  เงินโบนัส 

กิจการสามารถจ่ายโบนัสให้กับเจ้าของกิจการในฐานะกรรมการได้ในลักษณะเดียวกับที่จ่ายเงินเดือน

โดยจะสามารถนำมาหักภาษีนิติบุคคลได้สูงสุด 20% แต่ก็ขึ้นอยู่กับอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลของกิจการที่ต้องจ่ายด้วย ส่วนทางด้านเจ้าของกิจการจะต้องนำโบนัสที่ได้รับนี้ไปรวมเป็นรายได้ เพื่อใช้คำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ต้องจ่ายด้วยเช่นกัน

สำหรับทั้งโบนัสและเงินเดือนหากนำยอดรวมทั้งปีมาคิดภาษีบุคคลธรรมดาแล้ว มียอดภาษีต้องเสีย กิจการต้องหัก ภาษี ณ วันที่จ่ายเอาไว้ตามอัตราก้าวหน้าเพื่อนำส่งสรรพากรด้วย

  • ให้กรรมการกู้ยืมเงิน

ส่วนใหญ่เวลาที่เจ้าของกิจการ ผู้ถือหุ้น หรือกรรมการได้นำเงินของกิจการออกไปใช้ โดยไม่สามารถบอกได้ว่าเงินดังกล่าวเป็นรายจ่ายค่าอะไร นักบัญชีจะลงบัญชีว่า “ให้กรรมการกู้ยืมไป” ซึ่งวิธีนี้ถือว่ามีข้อเสียอยู่มาก เพราะการที่กิจการให้กรรมการกู้ยืม ถือเป็นการดำเนินธุรกิจลักษณะเดียวกับธนาคารพาณิชย์ ซึ่งจะต้องมีการคิดดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืม

และเมื่อกิจการมีรายได้ดอกเบี้ยรับเข้ามา (ถึงแม้ทางปฏิบัติจริงจะไม่มีการจ่ายดอกเบี้ยให้กิจการก็ตาม) จะต้องนำมารวมในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งถ้าหากรับดอกเบี้ยมาสูงก็จะส่งผลให้ต้องเสียภาษีสูงขึ้นตามไปด้วย เป็นการแก้ปัญหาการนำเงินกิจการออกไปใช้ในระยะสั้น แต่ในระยะยาวถือว่าไม่เหมาะ

  •  เงินปันผล 

การจ่ายเงินปันผล เป็นการนำเงินของกิจการออกมาใช้ที่ดีวิธีหนึ่ง แต่ส่วนใหญ่เจ้าของกิจการ หรือผู้ถือหุ้น มักไม่นิยมใช้ เพราะนอกจากเงินปันผลจะไม่สามารถนำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายของกิจการในการคำนวณภาษีได้แล้ว (เพราะต้องนำกำไรสะสม หลังจากจ่ายภาษีทั้งหมดมาจ่ายเงินปันผล) ก่อนที่จะจ่ายเงินให้กับเจ้าของกิจการ ผู้ถือหุ้น หรือกรรมการ จะต้องทำการหักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตรา 10% ของเงินปันผลที่จ่ายเพื่อนำส่งสรรพากร 

การจ่ายเงินปันผลนี้จะต้องเป็นเงินจากผลกำไร หากกิจการขาดทุนก็จะไม่สามารถจ่ายเงินปันผลได้

ส่วนเจ้าของกิจการในฐานะผู้ถือหุ้นที่ได้รับเงินปันผล สามารถเลือกได้ว่าต้องการนำรายได้เงินปันผลดังกล่าวมารวมเป็นรายได้เพื่อเสีย "ภาษีบุคคลธรรมดา" หรือไม่ ซึ่งจะเลือกไม่นำมารวม โดยใช้สิทธิ final tax (หัก ณ ที่จ่าย 10% แล้ว ไม่ต้องนำทั้งรายได้ และภาษีที่ถูกหักไว้มารวมคำนวณสำหรับภาษีทั้งปีอีก

หรือจะเลือกนำเงินปันผลมารวมเป็นรายได้เพื่อยื่นภาษี ก็ให้นำทั้งเงินปันผลรับ และภาษีที่ถูกหักไว้ 10% มารวมคำนวณภาษีบุคคลธรรมดา และหากมียอดภาษีที่ชำระไว้เกินก็จะสามารถขอคืนภาษีได้

  •  ค่าเช่า 

หากเจ้าของกิจการได้นำสินทรัพย์ต่างๆ ของตนเอง ไม่ว่าจะเป็น บ้าน โกดัง ที่ดิน สำนักงาน รถยนต์ เป็นต้น มาใช้ในกิจการ กิจการสามารถจ่ายเป็นค่าเช่าให้กับเจ้าของกิจการเป็นการตอบแทนได้ แต่จะต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 5%

ทั้งนี้ กิจการสามารถนำรายจ่ายจากค่าเช่าต่างๆ ไปหักค่าใช้จ่ายกิจการในการคิดภาษีได้ตามจริงที่จ่ายไป ยกเว้น "ค่าเช่ารถยนต์" จะมีกำหนดว่า สามารถนำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายได้สูงสุดไม่เกิน 36,000 บาทต่อเดือน

ดังนั้น เพื่อประโยชน์ทางภาษีกิจการไม่ควรจ่ายค่าเช่ารถยนต์เกิน 36,000 บาทต่อเดือน

ส่วนเจ้าของกิจการต้องนำรายได้จากค่าเช่านี้ ไปรวมเป็นรายได้เพื่อยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วย

  •  ค่าบริการ 

เจ้าของกิจการหรือผู้ถือหุ้นบางคนอาจไม่ได้ทำงานประจำกับบริษัท เจ้าของบางรายอาจจะเข้ามาช่วยให้คำปรึกษาบริษัทเป็นบางครั้ง หรือรับผิดชอบทำงานบางอย่าง เมื่อทำสำเร็จกิจการก็สามารถจ่ายเงินให้กับเจ้าของกิจการเป็นค่าบริการได้ เช่น ค่าที่ปรึกษา ค่าจ้างทำของ ค่านายหน้า โดยการจ่ายเงินค่าบริการในลักษณะนี้จะต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย 3% ด้วย 

โดยกิจการสามารถนำค่าบริการที่จ่ายไป มาใช้เป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีตามจำนวนที่จ่ายจริงได้ ส่วนเจ้าของกิจการจะต้องนำค่าบริการที่ได้รับ ไปรวมเป็นรายได้เพื่อคำนวณเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของเจ้าของเองด้วย

สรุป

ลักษณะของเงินได้แต่ละประเภท

* กิจการสามารถนำรายจ่ายจากค่าเช่าต่างๆ ไปหักค่าใช้จ่ายกิจการในการคิดภาษีได้ตามจริงที่จ่ายไป ยกเว้นค่าเช่ารถยนต์จะมีกำหนดว่า สามารถนำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายได้สูงสุดไม่เกิน 36,000 บาทต่อเดือน

** เงินปันผลจ่ายจากกำไรสะสมของกิจการ (หลังจากหักค่าใช้จ่ายต่างๆ และภาษีแล้ว)

จากตารางด้านบนจะเห็นว่าการนำเงินของกิจการออกมานั้น สามารถทำได้หลายวิธี แต่ควรพิจารณาถึงรูปแบบของเงินที่จะเอาออกมา รวมถึงภาระภาษีต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ศึกษาผลกระทบหลายๆ ด้านที่อาจเกิดขึ้นกับกิจการ และกับเจ้าของกิจการว่าแบบไหนจะมีประโยชน์ทางภาษีมากกว่ากัน เพื่อให้มั่นใจว่าทั้งกิจการ และเจ้าของได้ดำเนินการอย่างถูกวิธี และเสียภาษีอย่างถูกต้องนั่นเอง

 

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

อ่านบทความน่ารู้เกี่ยวกับภาษีในคอลัมน์ "ภาษีเรื่องง่าย by Inflow Accountingคลิกที่นี่

อ้างอิง : by Inflow Accounting