เตรียมความพร้อม เมื่อ "สรรพากร" ส่ง "จดหมายเตือน" ถึงบ้าน
เตรียมความพร้อมหากได้รับ "จดหมายเตือน" จาก "สรรพากร" หากใครได้รับไม่ต้องตกใจ! แต่จะมีวิธีจัดการ หรือเตรียมพร้อมรับมืออย่างไร ชวนไปทำความเข้าใจเกี่ยวกับจดหมายเตือนได้เลยที่นี่
ต้องยอมรับว่าช่วงหลังมานี้ รายได้ประจำจากเงินเดือนเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอแล้ว รวมถึงการเริ่มค้าขายผ่านทางออนไลน์ก็สามารถเริ่มต้นได้ไม่ยาก ดังนั้นจึงไม่แปลกที่เราจะเห็นหลายคนหันมาทำอาชีพเสริมหรือผันตัวเองมาทำอาชีพขายของ โดยเฉพาะขายของออนไลน์ ซึ่งอาจทำให้มีรายได้เข้ามาอย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจหลงลืมไปว่าเมื่อมีรายได้เข้ามา เราจะต้องยื่นแบบฯ ชำระภาษีด้วย
เมื่อมีผู้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น "สรรพากร" จึงมอบหมายให้ "ทูตภาษี" (Tax Ambassador) ที่ประจำอยู่สำนักงานสรรพากรทั่วประเทศ เข้ามาช่วยแนะนำให้คำปรึกษาแก่ผู้เสียภาษีและประชาชน เพื่อให้สามารถยื่นแบบฯ และชำระภาษีทุกประเภทให้ถูกต้อง เพื่อประโยชน์ของผู้เสียภาษีในระยะยาว
นอกจากนี้สรรพากรยังมีการส่งจดหมายเตือนไปให้กับผู้มีรายได้ ผู้ประกอบการ เพื่อเป็นการเตือนว่ามีรายได้ถึงเกณฑ์กำหนดแล้ว และถึงเวลาที่จะต้องไปยื่นภาษีนั่นเอง
ด้วยเหตุนี้จึงไม่ใช่เรื่องผิดปกติที่วันดีคืนดี ก็มีจดหมายเตือนจากสรรพากรส่งตรงถึงบ้านให้ไปยื่นภาษี นั่นบ่งบอกว่าคุณมีรายได้ถึงเกณฑ์ที่ต้องยื่นภาษีแล้ว ดังนั้น วันนี้มาทำความเข้าใจเกี่ยวกับจดหมายเตือนของสรรพากร และเช็กกันสักหน่อยว่าคุณเข้าข่ายที่สรรพากรจะส่งจดหมายเตือนมาหาหรือไม่ พร้อมวิธีรับมือกันดีกว่าค่ะ
- จดหมายเตือนคืออะไร
จดหมายเตือน คือ หนังสือที่กรมสรรพากรส่งเพื่อเตือนให้ผู้ที่มีเงินได้จากการประกอบธุรกิจต่างๆ ยื่นแบบแสดงรายการภาษีให้ถูกต้อง
ทั้งนี้ จดหมายเตือนมีอีกชื่อหนึ่งว่า “Notification Letter” เป็นจดหมายที่แจ้งให้ผู้ประกอบการรู้ภาระหน้าที่ทางภาษีของตนเอง และยื่นแบบแสดงรายการภาษีให้ถูกต้องครบถ้วน โดยสาระสำคัญในจดหมายเตือนจะระบุถึง
1. ข้อมูลแหล่งที่มาของเงินได้ เช่น มีเงินได้จากการประกอบธุรกิจออนไลน์ มีเงินได้จากการประกอบธุรกิจโรงแรม/ที่พัก หรือมีเงินได้ที่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย เป็นต้น
2. ภาระหน้าที่ทางภาษีที่ผู้ประกอบต้องยื่นแก่สรรพากร เช่น การยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (PIT) หรือต้องยื่นแบบภาษีเงินได้นิติบุคคล (CIT) ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)
3.ช่องทางการติดต่อ ที่หากผู้มีเงินได้ต้องการคำแนะนำสามารถติดต่อทางเบอร์โทรศัพท์ของ Tax Ambassador ที่ระบุไว้ในจดหมาย
4. โทษของการไม่ยื่นแบบภายในกำหนดเวลา จะระบุไว้ในจดหมาย ตรงหมายเหตุ
- สรรพากรได้ข้อมูลจากไหน
ผู้มีรายได้บางรายอาจสงสัยว่า ตนเองมีรายได้แต่ไม่เคยยื่นภาษี แล้วทำไมสรรพากรจึงทราบว่าคนเหล่านี้มีรายได้ที่ต้องยื่นภาษี และส่งจดหมายเตือนมาให้ ซึ่งแหล่งที่มาของข้อมูลมีอยู่ 2 แหล่งใหญ่ๆ คือ
1. แหล่งข้อมูลภายนอก เช่น สุ่มตรวจจากหน้าเว็บต่างๆ มีการโพสต์ขายสินค้าผ่านโซเชียล โพสต์โชว์ยอดเงินขายของบนเฟชบุ๊ก
2. แหล่งข้อมูลภายใน (ฐานข้อมูลภายในของกรมสรรพากร) อย่าเช่นล่าสุดที่พ่อค้าแม่ค้าได้เข้าร่วมโครงการต่างๆ กับทางรัฐบาล ก็จะทำให้เจ้าตัวมีข้อมูลรายได้อยู่กับสรรพากรโดยอัตโนมัตินั่นเอง
นอกจากนี้กรมสรรพากรยังสามารถตรวจสอบรายได้ของผู้มีรายได้ได้อีกหลายทาง เช่น
- สถาบันการเงิน หรือธนาคาร เป็นผู้ส่งข้อมูลให้กับสรรพากรตามเกณฑ์ที่กำหนด
- ใช้ระบบ Big Data & Data Analytics
- ใช้ www.rd.go.th โดยทางสรรพากรได้เปิดเมนู “การแจ้งเบาะแส/ข้อมูลแหล่งภาษี” ไว้เพื่อให้ประชาชนช่วยกันตรวจสอบกิจการหรือธุรกิจที่เสียภาษีไม่ถูกต้อง
- ดึงข้อมูลจากเว็บต่างๆ หรือ Web Scraping
- ข้อมูลจากเอกสารทางการเงิน เช่น ใบหักภาษี ณ ที่จ่าย ที่ผู้จ่ายเงินต้องส่งให้สรรพากร
- ใครบ้างที่จะได้รับจดหมายเตือน
สรรพากรจะแยกกลุ่มผู้ประกอบการออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ที่จะต้องมีการส่งจดหมายเตือนไปให้ ซึ่งประกอบด้วย
กลุ่มที่ 1 กลุ่มผู้ประกอบการที่มีเงินได้ในปีภาษี 2562 และปีภาษีก่อนหน้า และยังไม่มีการยื่นแบบแสดงรายการในปีที่มีเงินได้
กลุ่มที่ 2 กลุ่มผู้ประกอบการที่มีเงินได้ในปีภาษี 2563 และยังไม่มีการยื่นแบบแสดงรายการในปีภาษีนั้น
และถ้าหากคุณเข้าข่ายอยู่ในกลุ่มที่สรรพากรจะส่งจดหมายเตือนถึงบ้าน สิ่งแรกที่ต้องทำคือ...
“ตั้งสติ อย่าตกใจ เตรียมเอกสาร หลักฐานต่างๆ ทั้งหมด และคำนวณว่าตลอดปีที่ผ่านมาคุณมีรายได้เท่าไร พร้อมเตรียมจัดทำแบบแสดงรายการ และยื่นแบบฯ ภาษีแก่สรรพากรภายในวันที่ระบุในจดหมายแจ้งเตือน”
ถ้าได้รับจดหมายเตือน แต่ปีปัจจุบันไม่มีรายได้แล้วต้องทำอย่างไร
หากรายได้เกิดขึ้นในปีภาษีใด ผู้มีรายได้หรือผู้ประกอบการจะต้องนำมาคำนวณและยื่นแบบฯ สำหรับปีภาษีนั้น ถึงแม้ว่าในปีปัจจุบันจะไม่มีรายได้จำนวนดังกล่าวแล้วก็ตาม เช่น มีรายได้ในปีภาษี 2562 และยังไม่ได้ยื่นแบบฯ ในปีภาษี 2562 ก็ต้องไปยื่นแบบฯ ย้อนหลังสำหรับปีภาษี 2562 ให้ถูกต้องครบถ้วน
ส่วนปีภาษี 2563 หากผู้ประกอบการไม่มีรายได้ดังกล่าวแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องเสียภาษีในส่วนนี้สำหรับปี 2563 แต่ถ้าหากมีรายได้ประเภทอื่นๆ ในปี 2563 ผู้ประกอบการก็ยังมีหน้าที่ที่ต้องยื่นแบบฯ เสียภาษีสำหรับรายได้ที่เกิดขึ้นในปี 2563 ด้วย
ดังนั้น หากใครได้รับจดหมายเตือนจากสรรพากรอย่าเพิ่งตกใจไป เพราะสรรพากรไม่ได้ทวงภาษีย้อนหลัง แต่เป็นแค่การเตือนว่าคุณมีรายได้ถึงเกณฑ์ที่กำหนดแล้ว และให้ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด
และสามารถติดต่อเจ้าหน้าที่ของกรมสรรพากร หรือทูตภาษี (Tax Ambassador) ที่พร้อมดูแลและให้บริการคำปรึกษาด้านภาษีได้ตลอด เพื่อประโยชน์ของผู้ประกอบการเอง จะได้ไม่มีภาระเรื่องเบี้ยปรับ เงินเพิ่ม ในกรณีที่ยื่นแบบฯ ภาษีล่าช้ากว่ากำหนด หรือลืมยื่นแบบฯ ภาษีนั่นเอง
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
อ่านบทความน่ารู้เกี่ยวกับภาษีในคอลัมน์ "ภาษีเรื่องง่าย by Inflow Accounting" คลิกที่นี่
อ้างอิง : by Inflow Accounting