เช็คความพร้อม ก่อนบอกลา “ภาษีมูลค่าเพิ่ม”
เช็คลิสต์ เปรียบเทียบข้อดีข้อเสียของการจด “ภาษีมูลค่าเพิ่ม” หรือ “จด VAT“ พร้อมเปิดเงื่อนไขในการออกจากระบบ VAT มีอะไรบ้าง แล้วถ้าอยากออกจากระบบ VAT ต้องทำอย่างไร
“กิจการใดที่จดภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) หากต้องการออกจากระบบ จะต้องมีรายได้ต่ำกว่า 1.8 ล้านบาท ไม่น้อยกว่า 3 ปี จึงจะขอออกจากระบบ VAT ได้”
ตามหลักกฎหมายกำหนดว่า หากผู้ใดมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดา บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล จะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันที่รายได้เกิน 1.8 ล้านบาท
โดยหลังจด VAT กิจการต้องจัดทำรายงานภาษีซื้อ ภาษีขาย รวมถึงทำแบบ ภ.พ.30 เพื่อนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มแก่สรรพากรทุกเดือน แม้ว่าช่วงหนึ่งช่วงใดที่กิจการไม่มีรายได้หรือรายจ่ายเลยก็ตาม ก็จำเป็นต้องนำส่งแบบ ภ.พ.30 เปล่าแก่สรรพากร
สำหรับคนที่รายได้ยังไม่ถึงเกณฑ์ต้องจด VAT แต่มีแนวโน้มรายได้เกิน ควรพิจารณาให้รอบคอบว่าอยากจด VAT ในรูปแบบกิจการแบบใด เจ้าของคนเดียว หรือในรูปแบบนิติบุคคล เพราะเมื่อจดภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว หากต้องการออกจากระบบอาจไม่ใช่เรื่องง่าย
อย่างไรก็ตาม หลังจด VAT แล้วหากรายได้ต่อปี ไม่ถึงเกณฑ์ 1.8 ล้านบาท แต่กิจการยังต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มทุกเดือน สำหรับกิจการที่ไม่สามารถผลักภาระภาษีมูลค่าเพิ่มให้ลูกค้าได้ จะทำให้กระทบต่อผลการดำเนินการอย่างมาก
ดังนั้น หากรายได้ไม่ถึงเกณฑ์และต้องการออกจากระบบ VAT ลองมาตอบคำถามเหล่านี้เพื่อเช็กว่าคุณทั้งหลายพร้อมบอกลาภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วหรือยัง
ก่อนออกจากระบบ VAT คิดดีแล้วหรือยัง?
ก่อนที่กิจการหรือผู้มีรายได้จะออกจากระบบ VAT ควรตรวจสอบข้อดีและข้อเสียก่อน เพื่อชั่งน้ำหนักความได้เปรียบเสียเปรียบที่อาจจะเกิดขึ้นได้ หากตัดสินใจออกจากระบบ VAT
- ข้อดีของการจด VAT
- สามารถขอคืนภาษีซื้อได้ ไม่ว่าจะเป็นซื้อของใช้ในอุปกรณ์สำนักงาน ของที่ซื้อมาขายไปสามารถนำมาขอคืนภาษีซื้อได้หากสินค้านั้นมี VAT ก็จะทำให้ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องจ่ายลดลงจากการเคลมภาษีซื้อนั่นเอง
- มีความน่าเชื่อถือ การจด VAT จะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้กับลูกค้าหรือคู่ค้าของเรา เพราะเป็นเหมือนเครื่องการันตีว่าธุรกิจมีตัวตนอยู่จริง ได้รับการตรวจสอบจากสรรพากรเรียบร้อยแล้ว
- เพิ่มโอกาสในการทำธุรกิจ ในกรณีที่ลูกค้าหรือคู่ค้าที่เข้ามาติดต่อซื้อขายกับกิจการ หากมีการขอใบกำกับภาษี เพื่อนำไปใช้หักภาษีขายของลูกค้าเอง แต่กิจการกลับไม่ได้จด VAT ไว้ อาจจะทำให้พลาดโอกาสในการซื้อขายทำธุรกิจกันต่อก็ได้
- ข้อดีของการไม่จด VAT
- ไม่ต้องยื่นรายงานภาษีซื้อและภาษีขายทุกเดือน เพราะเมื่อจด VAT แล้ว จะต้องยื่นแบบ ภ.พ.30 ภายในวันที่ 15 ของทุกเดือนถัดไปแม้ว่าเดือนนั้นๆ จะไม่มีรายการซื้อ-ขายสินค้าก็ตาม ซึ่งถ้าหากกิจการไม่ยื่นแบบภาษีมูลค่าเพิ่มแก่สรรพากร หรือยื่นล่าช้า อาจถูกคิดค่าปรับได้
- สินค้ามีราคาถูกลง ปกติเมื่อจด VATหากมีการขายสินค้าให้กับลูกค้าที่เป็นบุคคลธรรมดา และบวกภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ไว้ด้วย ทำให้ราคาที่ลูกค้าซื้อสินค้าแพงขึ้น ดังนั้น หากไม่จด VAT ก็จะทำให้มีสภาพคล่องในการขายสินค้ามากกว่า เนื่องจากราคาถูกลงก็ขายสินค้าได้ง่ายขึ้นนั่นเอง
- เงื่อนไขในการออกจากระบบ VAT ครบถ้วนหรือไม่?
เมื่อกิจการตัดสินใจแล้วว่า ต้องการออกจากระบบ VAT ขั้นตอนต่อมา คือ ควรตรวจสอบเงื่อนไขทางกฎหมายก่อนว่า กิจการเข้าเงื่อนไขในการออกจากระบบ VAT ได้หรือไม่ ดังนี้
1.หากผู้ประกอบการต้องการ เลิก/ปิด กิจการ สามารถแจ้งยกเลิก VAT ได้โดยยื่นแบบ ภ.พ.09 เพื่อแจ้งเลิกประกอบกิจการแก่สรรพากร โดยกิจการสามารถยื่นแจ้งเลิกกิจการไปพร้อมกับแจ้งยกเลิก VAT ได้ ซึ่งต้องแจ้งภายใน 15 วัน นับจากวันที่เลิกประกอบกิจการ และต้องคืนบัตรประจำตัวผู้เสียภาษีในนามกิจการที่เลิกภายใน 60 วัน
2.ยังประกอบกิจการอยู่ และรายได้ไม่ถึง 1.8 ล้านบาท สามารถออกจากระบบ VAT ได้ โดยยื่นแบบ ภ.พ.08 หากเป็นไปตามเงื่อนไขคือ
- มีรายได้ตลอดทั้งปีไม่ถึง 1.8 ล้านบาทติดต่อกัน 3 ปี ถึงจะมีสิทธิขอให้อธิบดีสั่งถอนทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มได้
- กิจการที่ได้รับยกเว้น VAT แต่ผู้ประกอบการเลือกที่จะขอจด VAT โดยได้เสียภาษีมูลค่าเพิ่มติดต่อกันไม่น้อยกว่า 2 ปี และมีมูลค่าของฐานภาษีต่ำกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปีมาโดยตลอดจนถึงปัจจุบัน
- การยื่นขอออกจากระบบ VAT ทำอย่างไร?
กิจการสามารถยื่นแบบเพื่อขอถอนทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ได้ที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาที่สถานประกอบการตั้งอยู่ หรือผู้ประกอบการที่จดทะเบียนกับกองบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่ ให้ยื่นกับกองบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่
นอกจากนี้สามารถยื่นออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์ของกรมสรรพากร หรือยื่นผ่านระบบ Tax Single Sign On (Tax SSO) เว็บไซต์ของกระทรวงการคลัง
เมื่อยื่นคำขอถอนทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์แล้ว กิจการจะได้รับรหัสเพื่อยืนยันว่าได้ยื่นขอยกเลิก VAT เรียบร้อยแล้ว จากนั้นต้องรอให้อธิบดีพิจารณาและมีคำสั่งอนุมัติถอนทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มก่อน จึงจะถือว่าออกจากระบบ VAT เรียบร้อย
และระหว่างที่ยังไม่ได้หนังสือแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรจากทางกรมสรรพากร ว่าให้ออกจากระบบVAT ได้ กิจการยังจำเป็นต้องทำหน้าที่ยื่นแบบ ภ.พ.30 เปล่าส่งสรรพากรอยู่เหมือนเดิม
สุดท้ายแล้ว กิจการต้องมั่นใจว่าหากออกจากระบบ VAT แล้ว ในอนาคตจะมีความคล่องตัวในการดำเนินกิจการ และได้รับประโยชน์จากการออกจากระบบ VAT จริง รวมถึงรายได้จะไม่เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี เพราะเมื่อใดที่รายได้เกินเกณฑ์กำหนด หากไม่กลับไปจด VAT จะถือว่ามีความผิดทางกฎหมาย
Source: by Inflow Accounting