9 เคล็ด(ไม่)ลับต้องรู้! ถ้าไม่อยากถูก "สรรพากร" ตรวจสอบภาษีย้อนหลัง
เปิดเคล็ดไม่ลับ 9 ข้อต้องรู้เกี่ยวกับการ "ยื่นภาษี" ที่ "นิติบุคคล" ควรทราบ หากไม่อยากถูกสรรพากรตรวจสอบภาษีย้อนหลัง อย่ามองข้ามเรื่องเล็กน้อยที่อาจบานปลายเป็นเรื่องใหญ่
“ความผิดพลาดของกิจการในการยื่นภาษี คือช่องโหว่อย่างดีที่ทำให้ถูกตรวจสอบย้อนหลัง สรรพากรมักพบความผิดปกติอยู่บ่อยครั้ง จากเรื่องเล็กน้อยที่กิจการอาจมองข้ามไป”
ปัญหาการถูกตรวจสอบย้อนหลังสำหรับนิติบุคคล ส่วนใหญ่มักเกิดจากความผิดพลาดของกิจการ ทั้งจากความที่เพิ่งจดทะเบียนบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมือใหม่ รวมถึงเรื่องของเอกสาร ระบบการทำบัญชีที่ไม่สมบูรณ์ และระบบทางกฎหมายที่ซับซ้อนเกินความเข้าใจ
และด้วยเหตุนี้จึงมีหลายกิจการที่ถูกสรรพากรเรียกให้ส่งเอกสารและข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อตรวจสอบย้อนหลัง ผลสุดท้ายก็จะจบลงที่ต้องจ่ายภาษีเพิ่มเติม
ถ้าหากไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว กิจการต้องมีความรอบคอบและระมัดระวัง ตั้งแต่การทำบัญชี การเก็บหลักฐานเอกสารต่างๆ การส่งข้อมูลยื่นแบบฯภาษี และรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่กิจการอาจมองข้ามไป ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงในการถูกเรียกตรวจสอบย้อนหลังได้
1. ศึกษาข้อมูลภาษีให้ลึกซึ้ง
เนื่องจากภาษีจะมีตัวบทกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งค่อนข้างมีความละเอียดซับซ้อน หากกิจการมีความเข้าใจเรื่องภาษีไม่มากเพียงพอ อาจทำให้เกิดความผิดพลาดตอนยื่นแบบฯ เสียภาษีได้ อย่างเช่น กฎหมายมีข้อกำหนดว่า นิติบุคคลต้องยื่นภาษีเงินได้นิติบุคคล 2 ครั้ง คือช่วงครึ่งปีแบบ ภ.ง.ด.51 และช่วงสิ้นปีแบบ ภ.ง.ด.50
แต่กิจการกลับยื่นช้าเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด หรือยื่นแค่สิ้นปี ทำให้ต้องเสียค่าปรับยื่นแบบ
ภ.ง.ด.51 ล่าช้า ไม่เกิน 2,000 บาท รวมถึงจ่ายเงินเพิ่มอีกร้อยละ 20 ของจำนวนเงินภาษีที่ต้องชำระ
ตลอดจนต้องหมั่นติดตามข้อมูลภาษีอยู่ตลอด เช่น ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ภาษีมูลค่าเพิ่ม เนื่องจากกรมสรรพากรจะมีการเปลี่ยนแปลง หรือออกกฎใหม่เกี่ยวกับการเสียภาษีเหล่านี้อยู่ตลอด เพื่อให้เหมาะสมกับวิธีการทำงานของธุรกิจในปัจจุบัน
2. ทำบัญชีให้ถูกต้องครบถ้วน
การทำบัญชีรายรับรายจ่าย บัญชีรายเดือน จะช่วยให้กิจการสามารถตรวจสอบการเงิน กำไรขาดทุนได้ รวมถึงเป็นหลักฐานของกิจการ เพื่อใช้ในการยื่นและคำนวณภาษีได้ถูกต้อง ไม่ผิดพลาด
ดังนั้น กิจการควรมีการทำบัญชีให้ถูกต้อง หรือถ้าหากเจ้าของกิจการไม่มีความรู้เรื่องการทำบัญชี อาจเลือกจ้างพนักงานประจำมาดูแลเรื่องการทำบัญชีโดยตรง หรือเลือกใช้บริการสำนักงานบัญชีภายนอกให้ช่วยทำบัญชีให้ก็ได้เช่นกัน เพื่อให้ได้ข้อมูล บันทึกรายรับรายจ่าย และงบการเงินที่ถูกต้อง แม่นยำกว่า ทำให้การคำนวณภาษีเป็นระบบมากขึ้น ซึ่งถือเป็นเครื่องป้องกันการถูกตรวจสอบย้อนหลังได้เป็นอย่างดี
3. ตรวจสอบเอกสารก่อนยื่นภาษี
ก่อนยื่นภาษีกิจการควรตรวจสอบเอกสารให้ถูกต้องและครบถ้วนอีกครั้ง เพราะนอกจากบัญชีที่ทำแล้ว เอกสารต่างๆ จะเป็นหลักฐานที่ใช้พิสูจน์ที่มาของรายรับรายจ่ายต่างๆ ว่าเกิดขึ้นจริง อย่างเช่น ใบเสร็จ ใบกำกับภาษี เพื่อใช้ในการนำมาคำนวณหักภาษีได้
แต่ถ้าหากเอกสารไม่มีอยู่จริง หรือหายไประหว่างทาง เท่ากับว่าการยื่นภาษีไม่ตรงกับความเป็นจริง ก็อาจจะถูกตรวจสอบย้อนหลังได้ โดยเฉพาะเมื่อสรรพกากรเรียกตัวเพื่อแสดงหลักฐานดังกล่าว แต่กิจการไม่สามารถแสดงหลักฐานเอกสารนั้นๆ ได้ ก็จะต้องถูกประเมินภาษีใหม่ และเสียภาษีเพิ่มเติมที่จ่ายขาดไปด้วย
4. กรอกรายละเอียดตอนยื่นแบบฯ ภาษีให้ถูกต้อง
เมื่อถึงช่วงเวลาที่ต้องยื่นภาษี กิจการต้องกรอกแบบยื่นภาษีให้ถูกต้อง เพราะความผิดพลาดที่สรรพากรมักพบได้โดยง่าย คือการกรอกข้อมูลผิด เช่น ข้อมูลทั่วไปอย่างเช่นชื่อ ที่อยู่ เลขประจำตัวผู้เสียภาษีที่กรอกด้วยมือทำให้อาจเกิดผิดพลาดได้
และเมื่อถูกวิเคราะห์จากคอมพิวเตอร์ก็จะไม่พบข้อมูล จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ถูกเรียกตรวจสอบย้อนหลัง หรือกรอกรายได้ที่ต้องเสียภาษีสลับกับช่องที่ต้องกรอกรายได้ที่ไม่ต้องเสียภาษี ซึ่งกรณีเช่นนี้แน่นอนว่าต้องถูกเรียกตรวจสอบย้อนหลังอย่างแน่นอน
5. แจ้งอัตรากำไรขั้นต้นต่ำเกินไป
กำไรขั้นต้น คือ กำไรหลังหักต้นทุนขาย ซึ่งอัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญก็คือ “อัตรากำไรขั้นต้น” โดยอัตรากำไรขั้นต้น จะสามารถสะท้อนความสามารถในการทำกำไรของกิจการได้ อย่างเช่น ต้นทุนสินค้า 1,000 บาท ขายได้ 2,500 บาท เท่ากับว่ามีกำไรขั้นต้น 1,500 บาท เมื่อคิดเป็นเปอร์เซ็นต์จะเท่ากับ 60% ของต้นทุน ซึ่งถือเป็นกำไรขั้นต้นที่กลางๆ ปกติสำหรับธุรกิจในอุตสาหกรรมเดียวกัน
แต่เมื่อถึงเวลาต้องแจ้งสรรพากร กลับแจ้งอัตรากำไรขั้นต้นต่ำจนเกินไป ทางสรรพากรจะเปรียบเทียบกับอัตรากำไรปีก่อนๆ ของกิจการ หรือเทียบกับธุรกิจประเภทเดียวกัน หากอัตรากำไรขั้นต้นต่ำจนผิดปกติ ก็อาจถูกเรียกตรวจสอบย้อนหลังได้
6. อย่ายื่นแบบเพิ่มเติมบ่อย
การยื่นแบบเพิ่มเติมบ่อยๆ เนื่องจากมีข้อผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ เกิดขึ้น โดยเข้าใจว่าจะได้เป็นการแก้ข้อมูลที่ผิดที่เกิดขึ้นจากการยื่นภาษี เพื่อไม่ให้ถูกตรวจสอบย้อนหลัง แต่หารู้ไม่ว่ากลับเป็นการเปิดช่องทางให้สรรพากรได้เห็น และถูกเรียกตรวจสอบประเมินภาษีใหม่ได้
โดยเฉพาะการชำระเพิ่มเติม นั่นแสดงให้เห็นว่ากิจการได้มีการยื่นภาษีผิดพลาดอย่างแน่นอน การถูกตรวจสอบย้อนหลังจึงไม่ใช่เรื่องแปลก ดังนั้น ทางที่ดีควรยื่นแบบฯ ภาษีให้ถูกต้องครบถ้วนตั้งแต่ครั้งแรกจะเป็นการดีที่สุด
7. หลีกเลี่ยงการขอคืนภาษี
หากกิจการวางระบบบัญชีไม่ดีและไม่ถูกต้อง การขอคืนภาษีถือว่าเป็นการเชื้อเชิญให้สรรพากรเลือกตรวจสอบย้อนหลัง เพราะเมื่อมีการขอคืนภาษี ทางสรรพากรจะต้องมีการตรวจสอบเอกสารหลักฐานอยู่แล้วว่าเป็นจริงตามที่กิจการขอคืนภาษีหรือไม่
และในทางตรงกันข้าม ถ้ากิจการมีการทำบัญชีไว้ไม่ดี มีรอยรั่วเต็มไปหมด เอกสารหลักฐานมีไม่ครบ หรือไม่ตรงตามที่แจ้งไว้กับสรรพากร การขอคืนภาษีอาจจะกลายเป็นฝันร้ายที่นอกจากกิจการจะไม่ได้ภาษีคืนแล้ว ยังอาจจะต้องจ่ายภาษีเพิ่มอีกต่างหาก
8. การแจ้งเลิก แจ้งย้าย
โดยปกติหากกิจการมีการแจ้งขอเลิกกิจการ หรือขอย้ายข้ามเขต ทางสรรพากรพื้นที่เดิมจะต้องมีการตรวจสอบภาษีเพื่อเคลียร์บัญชีเป็นครั้งสุดท้ายอยู่แล้ว หากกิจการได้ยื่นภาษีไว้ผิดพลาด หรือมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นไม่ว่าข้อใดข้อหนึ่งดังที่กล่าวมาแล้ว แต่รอดมาได้จนถึงตอนนี้ ก็ถึงเวลาที่ต้องเสียภาษีย้อนหลังในคราวนี้อย่างแน่นอน
9. ไม่เข้าใจต้องถามสรรพากร
สิ่งที่สำคัญที่สุดของการยื่นภาษีนิติบุคคล คือหากไม่เข้าใจเรื่องไหนเกี่ยวกับภาษี สอบถามข้อมูลจากผู้รู้ก็แล้ว เสิร์ชจากกูเกิลก็แล้ว แน่นอนว่าย่อมเจอคำตอบที่หลากหลาย เพราะอย่างที่บอกไปแล้วว่าสรรพากรจะมีการเปลี่ยนแปลง และออกกฎใหม่เกี่ยวกับการเสียภาษีอยู่ตลอด ดังนั้น ควรสอบถามพูดคุยกับเจ้าหน้าที่สรรพากรโดยตรง จะได้คำตอบที่ถูกต้องทันต่อสถานการณ์ปัจจุบันที่สุด
ทั้งนี้ นอกจากการสอบถามเจ้าหน้าที่สรรพากร จะช่วยทำให้กิจการได้หลักการ วิธีการในการยื่นภาษีที่ถูกต้องจริงๆ ยังได้คำแนะนำที่ดีเพื่อใช้เป็นช่องทางในการลดภาษีที่ถูกต้องตามกฎหมายอีกด้วย เช่น วิธีการนำรายจ่ายมาคำนวณหักภาษี ที่กิจการเองอาจจะยังไม่ทราบอีกหลายๆ วิธี
หรือบางกรณีที่ถูกเรียกตรวจสอบย้อนหลัง เจ้าหน้าที่สรรพากรก็จะแนะนำวิธีการตรวจ หาทางลดค่าปรับ เงินเพิ่มให้ได้ เพราะกิจการสามารถเขียนคำร้องขอลดค่าปรับได้
เมื่อการยื่นภาษีคือหน้าที่ของบริษัทนิติบุคคลที่ต้องยื่นอยู่แล้ว ดังนั้น การนำเคล็ดลับต่างๆ ไปช่วยปิดรอยรั่วที่มี แม้จะเป็นรอยรั่วที่เล็กมากจนแทบมองไม่เห็นก็ตาม ก็จะยิ่งทำให้มั่นใจได้ว่ากิจการของคุณจะไม่ถูกสรรพากรเรียกตรวจสอบย้อนหลังนั่นเอง
Source by : Inflow Accounting