ดีพร้อม เคาะ 2 มาตรการช่วยเหลือ SME กว่า 700 กิจการ ประสบภัยน้ำท่วม
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม กระทรวงอุตสาหกรรม เร่งเดินหน้าช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย จำนวนกว่า 700 กิจการ ผ่าน 2 มาตรการเร่งด่วน จ่อช่วยเสริมสภาพคล่อง พร้อมผนึกเอกชนปันน้ำใจผ่านถุงปันน้ำใจ
นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้รับนโยบายเร่งด่วนจาก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ให้เร่งติดตามสถานการณ์ เพื่อช่วยเหลือและหามาตรการเยียวยาผู้ประกอบการในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ อีกทั้งยังได้มอบหมายให้มีการติดตามความเสียหายที่เกิดขึ้นในกลุ่มผู้ประกอบการและประชาชนในพื้นที่ที่ประสบอุทกภัย
โดยเข้าช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับความเสียหาย รวมทั้งเตรียมมาตรการต่างๆ รองรับสถานการณ์หลังน้ำลด ไม่ว่าจะเป็นการฟื้นฟูในส่วนที่ได้รับความเสียหาย การช่วยเหลือด้านการตลาดในการจำหน่ายสินค้า ตลอดจนแผนในการป้องกันหากเกิดสถานการณ์ดังกล่าวอีกครั้งทั้งในระยะฉับพลัน
โดยจากการประเมินสถานการณ์ความเสียหาย พบว่ากลุ่มสถานประกอบการในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย จำนวนกว่า 700 กิจการ ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs และวิสาหกิจชุมชน
นอกจากนี้ ดีพร้อมยังได้ลงไปสำรวจความต้องการของผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งพบว่าต้องการความช่วยเหลือ4 ด้าน ได้แก่ ด้านเงินทุนฟื้นฟูกิจการ ด้านวัตถุดิบในการผลิต ด้านการพักชำระหนี้ และด้านซ่อมแซม ปรับปรุงอุปกรณ์เครื่องจักร และจากความต้องการดังกล่าวได้กำหนดมาตรการช่วยเหลือไว้ ดังนี้
1. มาตรการเร่งด่วนช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมผ่านการส่งธารน้ำใจไปยังผู้ประสบภัยด้วยสิ่งของเครื่องใช้จำเป็นที่บรรจุลงในถุงยังชีพ “ถุงปันน้ำใจ” ประกอบด้วย สิ่งของอุปโภคบริโภคและยารักษาโรค จำนวน 10,000 ถุง ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากเครือข่ายดีพร้อมทั้งผู้ประกอบการและสถาบันต่างๆ เพื่อส่งมอบให้แก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย
พร้อมด้วยการลงพื้นที่สำรวจความเสียหายของสถานประกอบการ โดยศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาค พร้อมส่งทีมวิศวกรและนายช่างเทคนิค ช่วยซ่อมแซมอุปกรณ์ในเบื้องต้น รวมทั้งทำกิจกรรม Big Cleaning เพื่อฟื้นฟูพื้นที่น้ำท่วมให้กลับสู่สภาพปกติโดยเร็ว
2. มาตรการฟื้นฟูหลังน้ำลดซึ่งประกอบด้วยการสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียน เพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนด้านการเงินแก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ สามารถได้รับการผ่อนผันการชำระหนี้ ได้รับการลดหย่อนอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ มีสิทธิกู้เงินเพิ่มเติม และการขอกู้เงินเป็นกรณีพิเศษสำหรับลูกค้ารายใหม่ โดยวางกรอบวงเงินการช่วยเหลือกว่า 20 ล้านบาท การจัดทำแผนรองรับการเกิดอุทกภัย เพื่อเตรียมความพร้อมด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยโดยจัดทำแบบฟอร์มการตรวจสอบ หรือ Check list เมื่อเกิดเหตุอุทกภัย การสร้างผนังกั้นน้ำ สอนวิธีการป้องกันอุปกรณ์เครื่องจักร เป็นต้น
การให้คำปรึกษาปัญหาธุรกิจอุตสาหกรรม โดยจัดทีมผู้เชี่ยวชาญ และที่ปรึกษา เพื่อเข้าประเมินสภาพปัญหาและวางแผนการฟื้นฟูในสถานประกอบการ ผ่านศูนย์สนับสนุนและช่วยเหลือเอสเอ็มอี (SME Support & Rescue Center : SSRC) เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว การช่วยเหลือ - ปรับปรุงกระบวนการผลิต โดยศูนย์ ITC จัดกิจกรรมในการช่วยเหลือ แนะนำในการปรับปรุง ซ่อมแซม และฟื้นฟูเครื่องจักร รวมทั้งดำเนินกิจกรรม Re-Layout, Re- Engineering เพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิตให้สามารถกลับมาดำเนินการได้ตามปกติ
การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการโลจิสติกส์โดยเข้าไปช่วยเหลือในด้านการจัดหาวัตถุดิบขาดแคลน ด้านข้อตกลงกับคู่ค้า ด้านการบริหารจัดการปริมาณสินค้าคงคลัง และด้านการบริหารความเสี่ยงเพื่อเตรียมการรับมือหากเกิดปัญหาในอนาคต การฝึกอบรม ฝึกอาชีพให้กับชุมชน ด้วยการจัดกิจกรรมฝึกอบรมทักษะการผลิต พัฒนาทักษะในด้านการประกอบการ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพและขีดความสามารถให้แก่ชุมชน และเครือข่ายดีพร้อม
ซึ่งได้ร่วมกับสถาบันการศึกษาจัดทีมช่างอาชีวะเข้าช่วยเหลือในการซ่อมรถจักรยานยนต์ รถยนต์ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ให้สามารถกลับมาใช้งานได้ รวมทั้งร่วมกับดีลเลอร์ค่ายรถยนต์ในการจัดฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะฝีมือช่างให้กับนักศึกษาอาชีวะ
“ดีพร้อม ได้เร่งดำเนินการการเข้าช่วยเหลือกลุ่มประชาชน และผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมในหลาย ๆ จังหวัด ผ่าน 2 มาตรการทั้งมาตรการเร่งด่วนช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม และมาตรการฟื้นฟูหลังน้ำลด เพื่อให้ความช่วยเหลือนั้นครอบคลุมในทุกความต้องการ และสามารถแก้ปัญหาได้จริง” นายณัฐพล กล่าวทิ้งท้าย