ถอดรหัสโปรเจคหรู "เซ็นทารา รีเซิร์ฟ สมุย" สไตล์ "พิมพิศา จิราธิวัฒน์"
ทันทีที่ “แพร์-พิมพิศา จิราธิวัฒน์” ลูกไม้ใต้ต้นตระกูลมหาเศรษฐีชื่อดังของเมืองไทย ก้าวเข้ามาทำงานที่โรงแรมและรีสอร์ทในเครือ “เซ็นทารา” เมื่อ 2 ปีก่อน ก็ได้รับภารกิจสำคัญให้ร่วมขับเคลื่อนโปรเจคใหญ่ “เซ็นทารา รีเซิร์ฟ สมุย”
โรงแรมหรู 6 ดาวหรือซูเปอร์ลักชัวรีแห่งแรกของแบรนด์ “เซ็นทารา รีเซิร์ฟ” ซึ่งกำลังจะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการวันที่ 1 ธ.ค.นี้ หลังใช้เงินลงทุนรวมกว่า 1,100 ล้านบาทในการรีแบรนด์และรีโนเวตจากโรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ บีช รีสอร์ท สมุย เดิม
ด้วยตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายออกแบบและงานบริการด้านเทคนิคของเครือเซ็นทาราในปัจจุบัน ทำให้ พิมพิศา รับบทบาทสำคัญในการพัฒนาส่วนงานดีไซน์และออกแบบคอนเซปท์ให้กับโรงแรมเซ็นทารา รีเซิร์ฟ สมุย ซึ่งเป็นโปรเจคแรกที่เข้ามาดูเต็มตัว โดยเมื่อครั้งสมัยเรียนคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เธอได้ทำโปรเจคจบการศึกษาด้านการตกแต่งภายในของโรงแรมนี้เอาไว้ ตอนนั้นใส่ไอเดียตัวเองได้เต็มที่ภายใต้คอนเซปท์ Hide & Seek
แต่พอของจริง คอนเซปท์การออกแบบโรงแรมนี้ต่างจากโปรเจคจบฯ 100% หลังได้ทำงานร่วมกับทีมนักออกแบบตกแต่งภายในระดับโลก อย่างทีมงานบริษัท อาฟโรโค่ (AvroKO) จากนิวยอร์ก
พิมพิศา ขยายความว่า ความยากของการทำโรงแรมนี้ ถูกบีบด้วยโครงสร้างของอาคารซึ่งก่อสร้างมานานกว่า 23 ปี ขนาดห้องพักแคบ ถือเป็นความท้าทายในเชิงการออกแบบที่ต้องปรับการใช้พื้นที่ใหม่ เช่น เพิ่มสเปซ (Space) ให้ห้องพักดูโล่งกว้างและสบายขึ้นด้วยการเลือกใช้สีเบาๆ อย่างสีขาวและไม้โทนสีอ่อน ทั้งนี้ได้เลือกเก็บโครงสร้างอาคารแนวโคโลเนียลเอาไว้เพราะยังมีเสน่ห์ แต่ทำให้โมเดิร์น ดูร่วมสมัยมากขึ้น ภายใต้คำนิยามการออกแบบ “Modern Colonial with Thai Touch” ผ่านความเป็นไทยที่นำไปย่อยให้เข้าถึงง่ายขึ้น
“เมื่อมองในมุมนักออกแบบ คำว่า ลักชัวรี ไม่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงหรือใช้ของแพงทั้งหมด แต่เป็นการเพิ่มสเปซในพื้นที่นั้นๆ ให้ผู้ใช้รู้สึกสบาย เข้ามาช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต โดยหลักการออกแบบโรงแรมเซ็นทารา รีเซิร์ฟ สมุย ไม่ใช่สวยอย่างเดียวแล้วจบ แต่ต้องครบเครื่องเรื่องการสร้างแบรนด์ (Branding) ด้วย เชื่อมกับทุกส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งการตลาด การขาย การสื่อสาร และภาคปฏิบัติการ”
ด้วยการชูความแตกต่างทุกด้าน ทั้งโลเกชั่น ดีไซน์ บริการตามใจแขก หรือแม้แต่อาหารก็อร่อยอย่างเดียวไม่พอ ต้องสนุกด้วย ถึงจะตอบโจทย์ความเป็นยูนีค ท่ามกลางการแข่งขันของโรงแรมระดับลักชัวรีบนเกาะสมุย เพราะทุกอย่างล้วนเป็นประสบการณ์ที่ลูกค้าจะได้รับจากโรงแรมนี้ที่เราตั้งใจพัฒนาให้เป็นสถานที่ที่เปี่ยมไปด้วยความหมาย หวังดึงลูกค้าเก่าให้กลับมาพักซ้ำ ซึ่งเป็นเรื่องยากกว่าการหาลูกค้าใหม่!
นี่คือ “ความท้าทาย” ของการทำ “โรงแรมลักชัวรี” ที่เธอได้เรียนรู้ โดยจะนำวิธีนี้ไปใช้กับการพัฒนาและออกแบบโรงแรมอื่นๆ ในเครือเซ็นทาราด้วย
“เราตั้งเป้าว่าปี 2565 ตลาดหลักคือลูกค้าคนไทย วางสัดส่วนไว้ที่ 60% เนื่องจากตลาดต่างประเทศยังเผชิญกับความไม่แน่นอนของสถานการณ์โควิด-19 ขณะที่ลูกค้าคนไทยนิยมไปเที่ยวสมุยมากขึ้นหลังมีการคลายล็อกดาวน์ ประกอบกับมีมาตรการรัฐกระตุ้นท่องเที่ยวผ่านโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ยิ่งทำให้โรงแรมมียอดจองเดือน ธ.ค.เข้ามามาก ส่วนลูกค้าต่างประเทศโดยเฉพาะตลาดระยะไกล เช่น ยุโรป เริ่มเห็นสัญญาณดี จองล่วงหน้าเพื่อเข้าพักในไตรมาส 2 ปีหน้าเป็นต้นไป นิยมพักนาน 7-14 คืน”
นอกเหนือจากเซ็นทารา รีเซิร์ฟ สมุยแล้ว พิมพิศายังร่วมขับเคลื่อนโปรเจคอื่นๆ ด้วย คิวต่อไปคือโรงแรมใหม่ “เซ็นทารา แกรนด์ โอซาก้า” หลังเครือเซ็นทาราจัดตั้งบริษัทใหม่ในญี่ปุ่นชื่อ “เซ็นทารา เจแปน” จับมือร่วมทุนกับพันธมิตร 2 รายในญี่ปุ่น ภายใต้ชื่อ “เซ็นทารา โอซาก้า สเปซิฟิค เพอร์เพอร์ส” เพื่อพัฒนาโรงแรมนี้ตรงใจกลางย่านนัมบะ เตรียมเปิดให้บริการปี 2566 เพื่อเจาะศักยภาพการเติบโตของภาคท่องเที่ยวญี่ปุ่นที่มีนักท่องเที่ยวไทยเป็นหนึ่งในฐานตลาดสำคัญ
นอกจากนี้ยังมีโรงแรมแห่งที่ 3 ในมัลดีฟส์ที่เครือเซ็นทาราเป็นเจ้าของเอง ซึ่งได้พัฒนาแบบและถมเกาะแล้ว รวมถึงโรงแรมแห่งใหม่ภายใต้แบรนด์ “เซ็นทารา มิราจ” นอกเหนือจากที่เปิดให้บริการแล้ว 3 แห่งที่พัทยา เวียดนาม และดูไบในปัจจุบัน ถือเป็นธีมรีสอร์ทมีสวนน้ำในตัวที่แบรนด์แข็งแรงมาก ได้รับความนิยมสูงจากนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะกลุ่มครอบครัว สามารถนำไปต่อยอดได้ง่าย ความท้าทายจึงอยู่ตรงที่จะพัฒนาคอนเซปท์ใหม่ที่คนอื่นยังไม่เคยทำออกมาอย่างไรนั่นเอง!