EEC : กับแนวโน้มธุรกิจอุตสาหกรรม ปี 2562-2564 กลุ่มธุรกิจโรงแรม
ธุรกิจโรงแรมมีแนวโน้มเติบโตดีต่อเนื่องในช่วงปี 2562-2564 ตามการเติบโตของภาคท่องเที่ยว โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติและนักท่องเที่ยวไทยจะขยายตัวในอัตราเฉลี่ย 5-7% ต่อปี และ 3-4% ต่อปี ตามลำดับ
หนุนให้อัตราเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 71.5-72.5% เทียบกับ 71.4% ในปี 2561ผู้ประกอบการมีแนวโน้มขยายการลงทุนธุรกิจโรงแรมต่อเนื่องทั้ง 1) ในพื้นที่ท่องเที่ยวหลัก (กรุงเทพฯ พัทยา และภูเก็ต) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลงทุนของผู้ประกอบการรายใหญ่ทั้งกลุ่มนักลงทุนไทยและต่างชาติ และ 2) จังหวัดศูนย์กลางความเจริญภูมิภาค แหล่งท่องเที่ยวและจังหวัดรองที่ได้รับอานิสงส์จากการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ อาทิ การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว ระหว่างภูมิภาคมากขึ้น ทั้งนี้ จำนวนห้องพักที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นประกอบกับการเปิดให้บริการเช่ารายวันของสินค้าทดแทน (เช่น อพาร์ตเมนต์ และคอนโดมิเนียม) รวมถึงสถานพักแรมรูปแบบ Booking Platform อาทิ Airbnb ทำให้การแข่งขันธุรกิจยังคงรุนแรง
ข้อมูลพื้นฐาน
ธุรกิจโรงแรม (โรงแรม รีสอร์ท และเกสต์เฮ้าส์) เป็นธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) หมวดโรงแรมและภัตตาคารปี 2562 คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 5.6% ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศทั้งหมด หรือประมาณ 9.2 แสนล้านบาท
ประเทศไทยนับเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมแห่งหนึ่งของนักท่องเที่ยวต่างชาติ จากการมีแหล่งท่องเที่ยวที่ดึงดูดความสนใจติดอันดับโลกกระจายอยู่ตามภาคต่างๆ ทั่วประเทศ โดยกรุงเทพฯ เป็นเมืองท่องเที่ยวหลักที่ได้รับความนิยมสูง สะท้อนจากรางวัลที่ได้รับจากหน่วยงานต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ภาคใต้/ภาคตะวันออกยังมีแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่มีชื่อเสียง และพื้นที่หลายจังหวัดในภาคเหนือยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์อีกด้วย นอกจากนี้ประเทศไทยยังมีความได้เปรียบในด้านราคาห้องพักและค่าครองชีพที่อยู่ในระดับต่ำ ทำให้การท่องเที่ยวในไทยมีความคุ้มค่าเงิน (Value for money) กอปรกับการคมนาคมที่สะดวกมากขึ้นจากโครงสร้างพื้นฐานที่ทยอยพัฒนาเป็นลำดับ ทั้งนี้ ดัชนีขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยว (Travel & Tourism Competitiveness Index) ล่าสุดปี 2560 ของ World Economic Forum จัดให้ไทยอยู่อันดับ 34 จากทั้งหมด 136 ประเทศทั่วโลก และอันดับ 3 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รองจากสิงคโปร์และมาเลเซีย โดยเฉพาะความสามารถทางการแข่งขันด้านทรัพยากรธรรมชาติของไทยมีอันดับที่ดีที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
เมื่อพิจารณาด้านอุปสงค์ของธุรกิจโรงแรมจากรายได้ของนักท่องเที่ยวพบว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติก่อให้เกิดรายได้คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 65% ของรายได้จากการท่องเที่ยวรวม เนื่องจากนักท่องเที่ยวต่างชาติมีค่าใช้จ่ายต่อหัวสูงและจำนวนวันพักยาวกว่าคนไทย โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากเอเชียตะวันออก (จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฮ่องกง และไต้หวัน) ถือเป็นตลาดหลักทั้งด้านรายได้ (สัดส่วน 40% ของรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด) และจำนวน (สัดส่วน 41% ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด) รองลงมาด้านรายได้ คือ ตลาดยุโรป คิดเป็น 25% ส่วนด้านจำนวนนักท่องเที่ยว รองลงมา คือ ตลาดอาเซียนคิดเป็น 27%
จีน: เป็นตลาดใหญ่อันดับ 1 ของไทย มีนักท่องเที่ยวประมาณ 10.5 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 27.5% ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดของไทย เพิ่มขึ้นมากกว่า 10 เท่าจากปี 2550 โดยกระจายตามพื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญทั่วประเทศ สำหรับปัจจัยหนุนที่ทำให้นักท่องเที่ยวจีนเพิ่มขึ้นมากมาจากปัจจัยภายนอกประเทศ (Push Factor) อาทิ 1) การผ่อนคลายนโยบายควบคุมการเดินทางท่องเที่ยวนอกประเทศ (Outbound tourism) ของรัฐบาลจีน ซึ่งปัจจุบันอนุญาตให้คนจีนเดินทางไปต่างประเทศได้ 140 ประเทศ 2) กลุ่มชนชั้นกลางขึ้นไปของชาวจีนที่เพิ่มขึ้นมาก ผลจากเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็ว โดย McKinsey ระบุปี 2558 สัดส่วนจำนวนกลุ่มชนชั้นกลางขึ้นไปในเมืองของจีนมีประมาณ 76% ของจำนวนประชากรในเมืองทั้งหมดเพิ่มขึ้นจาก 22% ในปี 2548 ซึ่งกลุ่มดังกล่าวมีศักยภาพในการใช้จ่ายเดินทางท่องเที่ยว 3) การเพิ่มขึ้นของสายการบินต้นทุนต่ำและเที่ยวบินตรงระหว่างไทย-จีน รวมถึงการเปิดใช้เส้นทางคมนาคมทางบกโดยเฉพาะเส้นทาง R3A (ไทย-ลาว-จีนตอนใต้) 4) ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของจีนกับญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ไม่ค่อยราบรื่นนักในช่วง 3-4 ปีผ่านมา มีส่วนทำให้นักท่องเที่ยวจีนปรับแผนเดินทางมาไทยแทน และ 5) ความโด่งดังของภาพยนตร์จีน “Lost in Thailand” ซึ่งเข้ามาถ่ายทำที่จังหวัดเชียงใหม่ เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่เป็นจุดเปลี่ยนให้นักท่องเที่ยวจีนมาไทยเติบโตแบบก้าวกระโดดในช่วงปี 2556-2559 ส่วนปัจจัยเสริมภายในประเทศไทย (Pull Factor) ที่สำคัญคือ 1) มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวจากภาครัฐ อาทิ มาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียม VOA (Visa on Arrivals) สำหรับนักท่องเที่ยวจีน 2) การทำตลาดประชาสัมพันธ์ส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยอย่างต่อเนื่องของทางการ เช่น การโร้ดโชว์ในเมืองต่างๆ ของจีน และการตั้งสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ยังเมืองต่างๆ ได้แก่ ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ กว่างโจว เฉิงตู และคุนหมิง
ด้านพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวในภาพรวมพบว่า นักท่องเที่ยวเอเชียตะวันออกโดยเฉพาะจีนมีพฤติกรรมการท่องเที่ยวที่อ่อนไหวต่อสถานการณ์วิกฤตต่างๆ อาทิ การก่อการร้าย โรคระบาด และภัยธรรมชาติ ต่างจากนักท่องเที่ยวยุโรปและอเมริกาที่อ่อนไหวต่อปัจจัยทางเศรษฐกิจมากกว่า ส่วนหนึ่งอาจเนื่องจากต้องวางแผนการเดินทางระยะไกลกว่า ทำให้เปลี่ยนแปลงโปรแกรมการท่องเที่ยวได้ยากขึ้น
มาเลเซีย: นับเป็นตลาดหลักในเอเชียที่จำนวนนักท่องเที่ยวมีอัตราการเติบโตสูงในช่วงหลายๆ ปีที่ผ่านมา และเป็นตลาดเพื่อนบ้านที่สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวให้แก่ประเทศไทยเป็นจำนวนมากเมื่อเทียบกับประเทศ CLMV (ปี 2560 นักท่องเที่ยวมาเลเซียสร้างรายได้มูลค่า 9.5 หมื่นล้านบาท ขณะที่รายได้จากประเทศ CLMV รวมกันมีมูลค่า 1.3 แสนล้านบาท) ปัจจัยสำคัญที่ทำให้นักท่องเที่ยวมาเลเซียเติบโตต่อเนื่องเป็นผลจากการเติบโตของการค้าชายแดนระหว่างไทย-มาเลเซีย โดยนักท่องเที่ยวมาเลเซียเดินทางเข้าประเทศไทยผ่านด่าน อ. สะเดา (ด่านหลัก) ด่าน อ.เบตง และด่าน อ.สุไหงโกลก นอกจากนี้การเปิดเส้นทางบินมาเลเซีย-เชียงใหม่ทำให้นักท่องเที่ยวมาเลเซียเดินทางไปเชียงใหม่เพิ่มขึ้น (ปี 2560 จำนวนนักท่องเที่ยวมาเลเซียที่เข้าพักโรงแรมในเชียงใหม่เพิ่มขึ้น 19.4% YoY)
อินเดีย: จำนวนนักท่องเที่ยวมีอัตราการขยายตัวเป็นเลขสองหลักติดต่อกัน 4 ปี (2558-2561) ปัจจัยหนุนสำคัญจากเศรษฐกิจที่เติบโตต่อเนื่องและการเพิ่มขึ้นของชนชั้นกลาง โดยล่าสุด จากรายงานของสภาวิจัยเศรษฐกิจประยุกต์แห่งชาติ (National Council of Applied Economic Research: NCAER) ของอินเดีย ระบุปี 2559 มีชนชั้นกลางในอินเดียราว 267 ล้านคน นอกจากนี้การเปิดเส้นทางใหม่ของสายการบินต้นทุนต่ำจากเมืองรองในอินเดียมายังไทยมากขึ้น (เช่น อาเมดาบัด โคชิ เดราดัน) ช่วยหนุนการเติบโตของนักท่องเที่ยวอินเดียจากเมืองอื่น นักท่องเที่ยวอินเดีย (โดยเฉพาะระดับบน) นิยมจัดงานแต่งงานในไทย เนื่องจากค่าใช้จ่ายด้านที่พักและในการจัดงานที่ถูกกว่าเมื่อเทียบกับการจัดงานแต่งงานในอินเดียและการเดินทางไปจัดงานในประเทศอื่นๆ กอปรกับความสะดวกสบายในการเดินทาง โดยเที่ยวบินจากเมืองสำคัญต่างๆ มาไทย อาทิ เดลี มุมไบ เชนไน บังกาลอร์ ใช้เวลาเพียง 4-5 ชั่วโมงเท่านั้น
รัสเซีย: ซึ่งเป็นตลาดยุโรปอันดับ 1 ของไทยยังมีศักยภาพในการเติบโตต่อเนื่องปัจจัยหนุนจาก 1) เศรษฐกิจของรัสเซียที่ปรับตัวดีขึ้น 2) ความไม่สงบในตะวันออกกลาง (โดยเฉพาะปี 2553-2556) ส่งผลให้นักท่องเที่ยวรัสเซียเปลี่ยนเส้นทางท่องเที่ยวจากแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม เช่น ตุรกีและอียิปต์ มาเป็นแหล่งท่องเที่ยวอันดับรองลงไปอย่างไทย 3) การเพิ่มเที่ยวบินโดยเฉพาะเช่าเหมาลำไทย-รัสเซีย ทั้งนี้ ชาวรัสเซียประมาณ 60% นิยมเดินทางโดยเที่ยวบินเช่าเหมาลำ ส่วนปัจจัยหนุน (Pull Factor) จากการโร้ดโชว์ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และข้อตกลงร่วมกันระหว่างไทย-รัสเซียในการยกเว้นการตรวจลงตราวีซ่าที่เป็นการเดินทางเพื่อจุดประสงค์ของการท่องเที่ยวไม่เกิน 30 วัน (มีผลเดือนเมษายน 2550)
สำหรับนักท่องเที่ยวคนไทย ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (2550-2560) มีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 7% ต่อปี (จำนวนทริป) ซึ่งเป็นผลจาก 1) การออกมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง อาทิ มาตรการลดหย่อนภาษีจากภาครัฐ การลดราคาที่พักจากภาคเอกชน เป็นต้น 2) การเติบโตของเที่ยวบินสายการบินต้นทุนต่ำรวมถึงการปรับปรุง/ขยายสนามบินในจังหวัดต่างๆ และ 3) การขยายเส้นทางคมนาคม (โดยเฉพาะถนน) ส่งผลให้นักท่องเที่ยวไทยที่นิยมเดินทางด้วยตนเองเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวได้สะดวกมากขึ้น
ด้านรายได้จากนักท่องเที่ยวไทยมีสัดส่วนประมาณ 35% ของรายได้รวมจากการท่องเที่ยว แม้จะมีสัดส่วนน้อยกว่ารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่มีความสำคัญต่อธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรมในจังหวัดท่องเที่ยวสำคัญอื่นๆ อาทิ ระยอง เชียงใหม่ กาญจนบุรี เป็นต้น และจังหวัดศูนย์กลางของภูมิภาค อาทิ นครราชสีมา พิษณุโลก ขอนแก่น เป็นต้น เนื่องจากจังหวัดเหล่านี้ พึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวไทยมากกว่าต่างชาติ
เมื่อพิจารณาด้านอุปทาน ปัจจุบันธุรกิจโรงแรมขยายตัวเพิ่มขึ้นทั้งด้านจำนวนโรงแรมและจำนวนห้องพักตามการเติบโตของภาคท่องเที่ยว ทั้งนี้ ในอดีตนักท่องเที่ยวต่างชาติมักกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและการเดินทางของประเทศ รวมถึงภูเก็ต และพัทยา (จ.ชลบุรี) ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่มีชื่อเสียงหรือเป็นจุดหมายปลายทางที่สำคัญ (Tourist Destination) ทั้งนี้ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ภาครัฐกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวในประเทศผ่านนโยบายและโครงการต่างๆ มากขึ้น ประกอบกับการพัฒนาเส้นทางคมนาคมและสนามบินในภูมิภาคหลายพื้นที่เหนี่ยวนำให้เกิดการลงทุนขยายธุรกิจโรงแรมเพิ่มขึ้นตามมาในจังหวัดศูนย์กลางภูมิภาคและเมืองท่องเที่ยวต่างๆ อาทิ พัทยา ภูเก็ต เชียงใหม่ กระบี่ เกาะสมุย (จ.สุราษฎร์ธานี) ส่งผลให้จำนวนห้องพักทั่วประเทศเพิ่มขึ้นจากจำนวน 515,087 ห้อง ในปี 2555 เป็น 743,107 ห้องในปี 2560 หรือเติบโตเฉลี่ย 7.6% ต่อปี โดยมีทั้งเชนโรงแรมไทยและโรงแรมต่างชาติ (International Hotel Chain)
คาดธุรกิจโรงแรมในพื้นที่ท่องเที่ยวหลักยังมีแนวโน้มเติบโตในปี 2562-2564 แรงหนุนหลักจากจำนวนนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติที่มีทิศทางเพิ่มขึ้นตามภาคท่องเที่ยว โดยผู้ประกอบการรายใหญ่ยังสามารถรับรู้รายได้ต่อเนื่อง ขณะที่ผู้ประกอบการ SMEs ยังเผชิญกับการแข่งขันรุนแรง
โรงแรมในจังหวัดท่องเที่ยวหลัก ได้แก่ กรุงเทพฯ พัทยา และภูเก็ต: คาดว่าธุรกิจยังมีโอกาสในการทำกำไรได้ดีต่อเนื่องโดยอัตราเข้าพักเฉลี่ยยังอยู่ในระดับค่อนข้างสูง 75-80% ทั้งนี้ ผู้ประกอบการรายใหญ่ (ทั้งเครือโรงแรมไทยและต่างชาติ) และรายย่อยยังคงขยายการลงทุนในโรงแรมทุกระดับเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่คาดว่าจะยังเติบโตต่อเนื่อง
โรงแรมในจังหวัดศูนย์กลางความเจริญของภูมิภาคและแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ (ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย พิษณุโลก กาญจนบุรี ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา นครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี อุบลราชธานี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สงขลา กระบี่ พังงา และสุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย)) ซึ่งส่วนใหญ่ยังเน้นกลุ่มนักท่องเที่ยวคนไทย: โอกาสในการทำกำไรของธุรกิจยังใกล้เคียงกับช่วงที่ผ่านมา ทั้งนี้คาดว่าพื้นที่ดังกล่าวจะได้รับอานิสงส์จาก 1) กิจกรรมทางเศรษฐกิจระหว่างพื้นที่ในภูมิภาคที่มีการเชื่อมโยงกันมากขึ้น 2) การขยาย/พัฒนาพื้นที่ใหม่ๆ ซึ่งจะหนุนการท่องเที่ยวเชิงธุรกิจ และกระตุ้นการลงทุนโรงแรมในพื้นที่นี้ และ 3) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐที่จะอำนวยความสะดวกต่อการเดินทางระหว่างภูมิภาค (อาทิ โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) และการขยายสนามบินในจังหวัดต่างๆ) จะช่วยกระจายแหล่งท่องเที่ยวไปยังพื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญอื่นๆ และจังหวัดศูนย์กลางภูมิภาค ซึ่งโดยมากมักพึ่งพานักท่องเที่ยวไทยในสัดส่วนสูงกว่านักท่องเที่ยวต่างชาติ จึงคาดว่าอัตราเข้าพักจะอยู่ที่ 67-70%
โรงแรมในจังหวัดทั่วไป: ผลประกอบการมีแนวโน้มชะลอตัว เนื่องจากปัญหาห้องพักที่มีจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นของผู้ประกอบการ SMEs ประกอบกับกลุ่มลูกค้ามักเพียงเดินทางมาเพื่อติดต่อธุรกิจ หรือพักเพื่อผ่านไปท่องเที่ยว/ทำธุระในจังหวัดอื่น ทำให้ระยะเวลาเข้าพักสั้น มีการใช้จ่ายหรือการใช้บริการในโรงแรมค่อนข้างน้อย ทำให้อัตราการเข้าพักของโรงแรมในพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในระดับต่ำ
ธุรกิจโรงแรมทุกพื้นที่ยังคงแข่งขันรุนแรง จากจำนวนห้องพักที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องทั้งจากธุรกิจเดียวกันและสินค้าทดแทน ส่งผลให้การปรับราคาห้องพักทำได้ค่อนข้างจำกัด แต่พื้นที่ท่องเที่ยวหลัก (กรุงเทพฯ พัทยา และภูเก็ต) และจังหวัดศูนย์กลางเจริญภูมิภาค/แหล่งท่องเที่ยวสำคัญ มีความได้เปรียบด้านศักยภาพทางการท่องเที่ยวและดีมานด์ที่มากกว่าโรงแรมในจังหวัดทั่วไป ทำให้อัตราเข้าพักอยู่ในระดับสูงกว่าโรงแรมในพื้นที่ดังกล่าว