เกษตร ปลื้ม ผุด พื้นที่เกษตรยั่งยืนกว่า 1.7 ล้านไร่
กระทรวงเกษตรฯ โชว์ผลงานเพิ่มพื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืน ปี 64 กว่า 1.7 ล้านไร่ เร่งเครื่องวางหมุดฟาร์มเกษตรอินทรีย์ทุกตำบล ดึง พอช. ลุยชุมชนสีเขียวพร้อม ผนึก ศธ.ปั้นกรีนสกูล
นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน ครั้งที่ 3/2564 จากความร่วมมือของทุกภาคีภาคส่วน ทำให้การพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืนในปีนี้มีความก้าวหน้าอย่างมากจากรายงานการดำเนินงานของหลายหน่วยงานสามารถขยายพื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืน ประจำปีงบประมาณ 2564 ได้กว่า 1,766,269.15 ไร่ ทั้งในรูปแบบของเกษตรผสมผสาน เกษตรทฤษฎีใหม่ และเกษตรอินทรีย์
นอกจากนี้ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาโครงการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนระดับตำบล (Tambom Sustainable Agriculture Development Project: TAP) ซึ่งมีเป้าหมาย 7,255 ตำบล ทั่วประเทศ โดยจะเน้นส่งเสริมการทำเกษตรกรรมยั่งยืนทั้งในทุกตำบล และเชื่อมโยงกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทำให้เกิดเกษตรกรรมยั่งยืนกินได้ อยู่ได้ และอยู่ดี ภายใต้แนวคิด “บริหารโดยชุมชน เป็นของชุมชน เพื่อชุมชน” ใน 21 แนวทางได้แก่ 1) 1 ตำบล 1 เกษตรทฤษฎีใหม่ 2) 1 ตำบล 1 ร้านค้าเกษตรตำบล 3) 1 ตำบล 1 แปลงเกษตรอินทรีย์
4) 1 ตำบล 1 product champion 5) 1 ตำบล 1 วนเกษตร 6) 1 ตำบล 1 กลุ่ม Young smart 7) 1 ตำบล 1 เกษตรธรรมชาติ 8) 1 ตำบล 1 แปลงสมุนไพร 9) 1 ตำบล 1 เกษตรผสมผสาน 10) 1 ตำบล 1 กลุ่มปศุสัตว์ 11) 1 ตำบล 1 เครือข่ายศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม 12) 1 ตำบล 1 กลุ่มประมง 13) 1 ตำบล 1 องค์กรกองทุนฟื้นฟูเกษตรกร
14) 1 ตำบล 1 ท่องเที่ยวเกษตร 15) 1 ตำบล 1 โครงการชลประทานชุมชน 16) 1 ตำบล 1 เครือข่าย ศพก. 17) 1 ตำบล 1 ธนาคารต้นไม้ (ผลิตและจำหน่ายต้นกล้า) 18) 1 ตำบล 1 วิสาหกิจชุมชน 19) 1 ตำบล 1 กลุ่มเครื่องจักรกลเกษตร 20) 1 ตำบล 1 ตลาดออนไลน์ 21) 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรพลังงาน ซึ่งที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาให้ความเห็นชอบในหลักการของโครงการ ก่อนนำเสนอ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อการขับเคลื่อนต่อไป
ทั้งนี้ นายอลงกรณ์ ได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นที่จะต้องขับเคลื่อนด้านเกษตรกรรมยั่งยืนในโลกยุคใหม่หลัง COVID-19 เพื่อพัฒนาและเปลี่ยนแปลงภาคการเกษตรไทย ตามยุทธศาสตร์ “3’s (Safety-Security-Sustainability-เกษตรปลอดภัย เกษตรมั่นคงและเกษตรยั่งยืน” ของนายเฉลิมชัย ตามยุทธศาสตร์ชาติเป็นเป้าหมายการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ของสหประชาชาติ เพื่อรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกต่อไป
นอกจากนี้ที่ประชุมยังรับทราบความก้าวหน้าในการดำเนินงานโครงการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมือง (Sustainable Urban Agriculture Development Project : SUAD Project) และโครงการธนาคารสีเขียว (Green Bank) ซึ่งขยายการดำเนินงานไปในระดับชุมชน เมือง จังหวัด และกลุ่มจังหวัด(เขต)ทั่วประเทศ พร้อมเพิ่มการขับเคลื่อนในพื้นที่โรงงานอุตสาหกรรมและนิคมอุตสาหกรรมภายใต้คณะทำงานอุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry)