“เกษตรกร”แห่ใช้ปุ๋ยสั่งตัด โชว์ลดต้นทุนเพาะปลูก20%

“เกษตรกร”แห่ใช้ปุ๋ยสั่งตัด โชว์ลดต้นทุนเพาะปลูก20%

"เกษตร" โชว์ปุ๋ยสั่งตัด ลดต้นทุนการผลิตได้จริง 20 % เกษตรกรแห่ใช้บริการ 106.27 % กว่า 4 พันตัน เกินเป้า ด้าน ส.อ.ท.เล็งต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตรคุณภาพ

นางดาเรศร์ กิตติโยภาส ที่ปรึกษาสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ส.อ.ท.มีสถาบันอุตสาหกรรมเพื่อการเกษตร โดยมองว่าภาคการเกษตรคืออุตสาหกรรมอย่างหนึ่ง ที่สามารถดีไซน์การผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการและต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มได้ ดังนั้นการที่ ส.อ.ท.ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภายใต้คณะกรรมการความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กรกอ.) จะช่วยผลักดันให้สามารถวางแผนการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพตรงกับความต้องการของตลาดได้

 

“ภาคการเกษตรมีสัดส่วนในผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ จีดีพี เพียง 8% เท่านั้น แต่หากมองในภาพของอุตสาหกรรมการเกษตร แล้วจะสามารถขยายจีดีพีได้อย่างมหาศาล ดังนั้นการนำเอาข้อมูลของกระทรวงเกษตรฯต่างๆมาผนวกกับข้อมูลภาคอุตสาหกรรมและส่งเสริมให้เกิดในภาคปฏิบัติ จะทำให้ภาคการเกษตรของไทยเดินหน้าไปได้เร็ว" นางดาเรศร์ กล่าว

 

สำหรับโครงการปุ๋ยสั่งตัดหรือปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ นั้น ถือว่ามีประโยชน์กับภาคการเกษตรมาก ซึ่งได้ผลักดันเรื่องนี้มาตลอดในช่วงที่รับราชการ เนื่องจากจะช่วยลดต้นทุนการผลิตให้กับเกษตรกรได้ถึง 20 % ในขณะที่รัฐบาลให้ความสำคัญถึงขั้นกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ ในปี 2558 ด้วยการจัดตั้ง ศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) ขึ้น 882 แห่ง หรืออำเภอละ 1 แห่ง

 

ทั้งนี้ เกษตรกรที่ต้องการทำปุ๋ยใช้เองสามารถนำตัวอย่างดิน พืชที่ต้องการจะปลูกมาวิเคราะห์ ด้วยชุดตรวจสอบอย่างง่ายหรือ Test Kit เมื่อทราบค่าที่เหมาะสม เกษตรกรก็สามารถซื้อแม่ปุ๋ย คือ N (ไนโตรเจน), P (ฟอสฟอรัส) และ K (โพแทสเซียม) มาผสมและใช้ในพื้นที่ได้ทันที

ปูพรมเครื่องผสมปุ๋ยทั่วประเทศ

 

อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรกๆความนิยมการทำปุ๋ยสั่งตัดของเกษตรกรมีไม่มากนัก เนื่องจากขั้นตอนที่ยุ่งยาก ต่อมาในปี 2563 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีโครงการพัฒนาธุรกิจบริการดินและปุ๋ยเพื่อชุมชน (One Stop Service) ด้วยการซื้อเครื่องผสมปุ๋ยให้กับ ศดปช. 394 แห่ง เพื่อผลิตปุ๋ยจำหน่ายให้กับชุมชนเกิดเป็นธุรกิจชุมชนขึ้น วิธีการนี้สามารถลดขั้นตอนความยุ่งยากและเกษตรกรนิยมเข้ามาใช้บริการมากขึ้น

 

“ในช่วง 2 ปีที่เกิดปัญหาโรคโควิดระบาด ทำให้รายได้ของเกษตรกรลดลง ในขณะที่ปุ๋ยเคมีราคาเพิ่มขึ้น ปุ๋ยสั่งตัดจึงเป็นทางเลือก และเกษตรกรเริ่มมั่นใจว่าการวิเคราะห์ดิน ก่อนนั้นมีส่วนช่วยให้พืชเติบโตได้อย่างมีคุณภาพ อีกทั้งลดต้นทุนการผลิตได้จริง 20 % “

 

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า โครงการ One Stop Service ปันสุขให้เกษตรกร ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 8 ก.ค. 2563 วงเงิน 169 ล้านบาท ซึ่งเป็นการดำเนินงานภายใต้แผนงานหรือโครงการลงทุนและกิจกรรมการพัฒนาที่สามารถพลิกฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เพิ่มศักยภาพ และยกระดับการค้า การผลิต และการบริการ ในสาขาเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ โดยครอบคลุมภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม การค้าและการลงทุน ท่องเที่ยวและบริการ ภายใต้โครงการกู้เงิน เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด 19 ระบาด

 

วิเคราะห์สูตรปุ๋ยตามค่าดิน

 

สำหรับวัตถุประสงค์ของโครงการเพื่อให้เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ สามารถเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิต ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการวิเคราะห์ดินและใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน และเพื่อพัฒนาศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) ที่มีศักยภาพให้สามารถดำเนินธุรกิจในการจัดหาปุ๋ยที่มีคุณภาพใช้ในชุมชน สร้างความเข้มแข็งและพึ่งพาตนเองให้แก่เกษตรกร

 

ทั้งนี้ ในการสนับสนุนให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยได้ถูกต้องเหมาะสมกับดินและชนิดพืช ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีและให้ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น ดำเนินการใน ศดปช.ที่สมัครเข้าร่วมโครงการ 394 ศูนย์ ใน 63 จังหวัด จาก 882 ศูนย์ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2558 ในพื้นที่ 77 จังหวัด โดยแต่ละศูนย์จะได้รับการสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ ได้แก่ ชุดตรวจวิเคราะห์ดิน และแม่ปุ๋ย รวมทั้งให้ยืมเครื่องผสมปุ๋ย เพื่ออำนวยสะดวกสำหรับเกษตรกรที่ไม่สะดวกในการผสมปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินเอง

 

เกษตรกรเป้าหมายหลัก คือ สมาชิกศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) แปลงใหญ่ และรวมถึงเกษตรกรทั่วไป ที่ปลูกพืชเศรษฐกิจสำคัญ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อย มันสำปะหลัง ไม้ผล พืชผัก ยางพารา ปาล์มน้ำมัน จำนวนประมาณ 107,000 ราย

 

“กรมส่งเสริมการเกษตรให้ความสำคัญกับการให้ความรู้เรื่องดินและปุ๋ยที่ถูกต้อง แก่เกษตรกรผ่านกลไกของศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน โดยส่งเสริมการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน ซึ่งเป็นการใช้ปุ๋ยอย่างถูกต้อง แม่นยำเฉพาะพื้นที่ ทำให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยเคมี ต้นพืชแข็งแรง สามารถต้านทานต่อการเข้าทำลายของศัตรูพืชได้ในระดับหนึ่ง ทำให้ลดการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช ลดต้นทุน “

 

เกษตรกรร่วมเกินเป้าหมาย

 

สำหรับผลการดำเนินงาน (2 พ.ย.2564) มีการเบิกจ่าย 88.18% วงเงิน 149.79 ล้านบาท ทั้งนี้ ได้คืนเงินงบประมาณเหลือจ่าย 20.09 ล้านบาท โดยได้การจัดอบรม จำนวน 2 หลักสูตร ต่อ ศูนย์ ซึ่งมีการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาเทคนิคและการบริหารธุรกิจ และการจัดเวทีเชื่อมโยงเครือข่าย ศดปช.ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) และแปลงใหญ่ดำเนินการครบแล้ว 100%

 

การจัดซื้อจัดหาวัสดุการเกษตรและครุภัณฑ์ โดยแต่ละ ศดปช.จะได้รับวัสดุการเกษตรและครุภัณฑ์ ประกอบด้วย ชุดตรวจวิเคราะห์ดิน ดำเนินการครบแล้ว คิดเป็น 100% แม่ปุ๋ย ดำเนินการครบแล้ว 100% และเครื่องผสมปุ๋ย ดำเนินการแล้ว คิดเป็น 98.41%

 

สำหรับการให้บริการในเชิงธุรกิจ การจดทะเบียนขายปุ๋ย ดำเนินการครบแล้ว คิดเป็น 100% การให้บริการตรวจวิเคราะห์ดิน ดำเนินการครบแล้ว คิดเป็น 100% มีเกษตรกรใช้บริการ 113,889 ราย จากเป้าหมาย 107,168 ราย คิดเป็น 106.27% จากเป้าหมาย การให้บริการจำหน่ายปุ๋ย ดำเนินการครบแล้ว คิดเป็น 100% แยกเป็น 81,494 กระสอบ จากเป้าหมาย 47,280 กระสอบ คิดเป็น 172.36%

 

เมื่อเทียบกับปริมาณปุ๋ยที่สนับสนุน กับ การให้บริการผสมปุ๋ย ดำเนินการครบแล้วคิดเป็น 100% ให้บริการแล้วจำนวน 4,006 ตัน จากเป้าหมาย 2,364 ตัน คิดเป็น 169.49% เมื่อเทียบกับปริมาณปุ๋ยที่ใช้