BANPU ติดอันดับ DJSI ต่อเนื่องปีที่ 8 ตอกย้ำผู้นำพลังงานยั่งยืน

BANPU ติดอันดับ DJSI ต่อเนื่องปีที่ 8 ตอกย้ำผู้นำพลังงานยั่งยืน

บ้านปูฯ ติดอันดับ DJSI ต่อเนื่องปีที่ 8 ในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานถ่านหิน และพลังงานเพื่อการใช้งาน ตอกย้ำความเป็นผู้นำในการส่งมอบ “อนาคตพลังงานเพื่อความยั่งยืน”

บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หรือ BANPU ผู้นำธุรกิจด้านพลังงานที่หลากหลายในระดับนานาชาติ ได้รับคัดเลือกให้เป็นสมาชิกในกลุ่มดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ หรือ Dow Jones Sustainability Indices (DJSI) ระดับโลกต่อเนื่องเป็นปีที่ 8 ในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) ในกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานถ่านหิน และพลังงานเพื่อการใช้งาน (Coal and Consumable Fuels)

อีกทั้งได้รับคะแนนประเมินประสิทธิผลการดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนสูงสุด พร้อมประสบความสำเร็จจากการได้คะแนนด้านสิทธิมนุษยชน (Human Rights) การรักษาความมั่นคงปลอดภัยของระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (Cybersecurity) และความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทพร้อมเดินหน้าส่งมอบ “อนาคตพลังงานเพื่อความยั่งยืน (Smarter Energy for Sustainability)” เรารู้สึกภาคภูมิใจที่ได้รับคัดเลือกให้ติดดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ต่อเนื่องมา 8 ปีแล้ว

ความสำเร็จนี้คือ ความภาคภูมิใจขององค์กร และประเทศไทยที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล สะท้อนความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจภายใต้กลยุทธ์ Greener & Smarter พร้อมขับเคลื่อนธุรกิจในช่วงเวลาแห่งความท้าทายภายใต้ภาวะวิกฤติโควิด-19

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา บ้านปูให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจใน 10 ประเทศทั่วโลก ภายใต้หลัก ESG เราพร้อมสานต่อเจตนารมณ์ในการส่งมอบอนาคตพลังงานเพื่อความยั่งยืน (Smarter Energy for Sustainability) เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน

ควบคู่ไปกับการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้อย่างชาญฉลาด ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเกิดขึ้นจากการร่วมแรง ร่วมใจของผู้บริหารและพนักงานทุกคนที่ได้นำแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนมาประยุกต์ใช้ในกระบวนการทำงานในทุกภาคส่วนขององค์กรอย่างต่อเนื่อง

ในปีนี้ บ้านปูมีผลการดำเนินงานที่โดดเด่น 3 ด้าน ประกอบด้วย ด้านสิทธิมนุษยชน (Human Rights) การรักษาความมั่นคงปลอดภัยของระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (Cybersecurity) และความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) โดยการเพิ่มขึ้นของคะแนนในด้านสิทธิมนุษยชนเป็นผลจากการที่บ้านปูได้ทำการประเมินความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้านด้วยตนเอง (Human rights due diligence self-assessment)

อีกทั้งบริษัทย่อยในออสเตรเลียได้สนับสนุนกฎหมายแรงงานทาสยุคใหม่ปี 2561 (Modern Slavery Act 2018) ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนม.ค.2562 และประกาศ Modern Slavery Statement ที่ประกอบด้วยแผนงานและผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับประเด็นแรงงานทาสยุคใหม่เมื่อต้นปี 2564 ที่ผ่านมา และตั้งเป้าที่จะเผยแพร่อย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี

ในด้าน Cybersecurity บ้านปูได้ประกาศนโยบายสารสนเทศที่ผนวกการบริหารจัดการด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์เป็นส่วนหนึ่งในระบบการบริหารจัดการความเสี่ยงขององค์กรภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการตรวจสอบ

อีกทั้งมีการฝึกซ้อมแผนกู้คืนระบบจัดเก็บข้อมูลที่สำคัญ (Disaster Recovery Plan: DRP) เช่น ข้อมูลการเงิน เป็นประจำทุกปี โดยบริษัทได้รับการรับรอง ISO 27001 Information Security Management และระบบการบริหารจัดการความต่อเนื่องทางธุรกิจ ISO 22301

ส่วนด้านความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) บ้านปูดำเนินธุรกิจตามนโยบายความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity Policy) โดยมีระบบบริหารจัดการ 4 แนวทาง ได้แก่ การหลีกเลี่ยง การลดผลกระทบ การฟื้นฟู และการชดเชย ซึ่งนโยบายดังกล่าวสอดคล้องกับแนวคิดของ IUCN (International Union for Conservation of Nature)

ในช่วงปี 2564 ที่ผ่านมา บ้านปูได้ดำเนินการด้าน ESG ที่สำคัญคือ การจัดตั้งคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ (Environmental, Social and Governance: ESG) อย่างเป็นทางการ พร้อมวางกรอบการดำเนินงานที่สอดคล้องกับทิศทาง ESG และการประเมินความเสี่ยงระยะสั้นและระยะยาวของโลก

โดยในด้านสิ่งแวดล้อม (E) : มุ่งเน้นการขยายพอร์ตธุรกิจพลังงานที่สะอาดขึ้นและเทคโนโลยีพลังงาน โดยได้วางเป้าหมายว่าภายในปี 2568 EBITDA มากกว่าร้อยละ 50 จะมาจากธุรกิจพลังงานที่สะอาดขึ้น และเทคโนโลยีพลังงาน

ในด้านสังคม (S) : ดำเนินโครงการเพื่อสังคมต่างๆ ทั้งการส่งเสริมการศึกษา การช่วยเหลือสังคมและชุมชนในภาวะวิกฤติและในยามเกิดภัยพิบัติ โดยนับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย บ้านปูได้ร่วมมือกับกลุ่มมิตรผลในการจัดตั้ง ‘กองทุนมิตรผล-บ้านปู รวมใจช่วยไทยสู้ภัย COVID-19’ มูลค่ารวม 1,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19

และด้านการกำกับดูแลกิจการ (G) : การดำเนินงานของทีมบริหารจัดการในสภาวะวิกฤติ (Incident Management Team: IMT) เพื่อให้การดำเนินธุรกิจในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เป็นไปได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ รวมถึงการดำเนินงานของหน่วยงาน Digital Center of Excellence (DCOE) เพื่อขับเคลื่อนองค์กรให้พร้อมเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล (Digital Transformation) ควบคู่ไปกับแนวคิด “Agile Working” ที่เน้นความคล่องตัวและประสิทธิภาพการทำงานในทุกหน่วยธุรกิจ

ดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ หรือ DJSI จัดทำขึ้นด้วยความร่วมมือของ S&P Global และ SAM ถือเป็นดัชนีที่ใช้ประเมินประสิทธิผลการดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนของบริษัทชั้นนำระดับโลก เพื่อให้มั่นใจว่า บริษัทมีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพในทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล รวมทั้งเป็นดัชนีที่กองทุนต่างๆ จากทั่วโลกใช้เป็นเกณฑ์อ้างอิงในการพิจารณาการลงทุน โดยบริษัทที่ได้รับการรับรอง DJSI จะสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีและยั่งยืนให้แก่นักลงทุน รวมถึงการสร้างคุณค่าระยะยาวให้แก่ผู้มีส่วนได้เสีย

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์