SMD เพิ่มคาดการณ์กำไรปี 64, 65 จากส่งมอบสินค้าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ใน 3Q64
รายงานกำไร 3Q64 ที่ 191 ลบ. เติบโต 189%QoQ และเติบโตอย่างมีนัยสำคัญYoY : รายได้ 3Q64 เติบโตสู่ 699 ลบ. +112%QoQ และ +391%YoY
โดยได้แรงหนุนจากยอดขายสินค้ากลุ่มเวชบำบัดวิกฤต และกลุ่มการช่วยหายใจและเวชศาสตร์การนอนหลับที่เติบโตอย่างมีนัยสำคัญเนื่องจากเป็นเครื่องมือที่จำเป็นต่อการรักษาโรค COVID-19 นอกจากนี้ยังมีความจำเป็นในการตั้งโรงพยาบาลสนาม ขณะที่อัตรากำไรขั้นต้นปรับตัวขึ้นจาก 42.1% ใน 2Q64 สู่ 43.6% ใน 3Q64 เนื่องจากมีความต้องการสินค้าสูงช่วยหนุนให้ราคาจำหน่ายปรับตัวขึ้น ด้านอัตราค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารต่อยอดขายปรับตัวลงจาก 16.6% ใน 2Q64 สู่ 8.7% ใน 2Q64 เนื่องจากรายได้เติบโตเร็วกว่าค่าใช้จ่าย ส่งผลให้บริษัทมีกำไร 3Q64 ที่ 191 ลบ. เติบโต 189%QoQ และเติบโตอย่างมีนัยสำคัญYoY และรายงานกำไร 9M64 ที่ 265 ลบ. เติบโต 562%YoY และมากกว่าประมาณการกำไรทั้งปี 64 ที่ 133 ล้านบาท
- ปรับเพิ่มประมาณการรายได้และกำไรปี 64 สู่ 1,454 ลบ. และ 308 ลบ. : ฝ่ายวิจัยปรับประมาณการรายได้และกำไรเพิ่มขึ้นจากประมาณการเดิม 47% และ 133% ตามลำดับ หลังรายได้และกำไร 9M64 สูงกว่าประมาณการเดิมทั้งปี โดยรายได้ที่ปรับตัวขึ้นได้รับแรงหนุนจากความต้องการสินค้ากลุ่มเวชบำบัดวิกฤต และกลุ่มการช่วยหายใจตามความต้องการที่สูงขึ้นเพื่อดูแลผู้ป่วย COVID-19 นอกจากนี้ยังได้รับแรงหนุนจากกระทรวงมหาดไทยกำหนดให้อาคารสูงกว่า 8 ชั้นต้องมีเครื่องกระตุกหัวใจอัตโนมัติ (AED) ขณะที่ปรับเพิ่มสมมติฐานอัตรากำไรขั้นต้นจาก 41% สู่ระดับ 42.5% (อัตรากำไรขั้นต้น 9M64 อยู่ที่ 42.8%) ด้านอัตราค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารเทียบกับรายได้จะลดลงจาก 24% สู่ 13.8% เนื่องจากรายได้เติบโตเร็วกว่าค่าใช้จ่ายและมีการประหยัดจากขนาด ส่งผลให้เราปรับเพิ่มประมาณการรายได้และกำไรปี 64 จาก 991 ลบ. และ 132 ลบ. สู่ 1,454 ลบ. และ 308 ลบ. เติบโต 120% และ 297% ตามลำดับ
- คงประมาณการรายได้แต่ปรับเพิ่มกำไรปี 65 สู่ 195 ลบ. : เราคงประมาณการรายได้ที่ 1,091 ลบ. ลดลง 25% YoY เนื่องจากคาดว่าสถานการณ์ COVID-19 จะคลี่คลายส่งผลให้ความต้องการสินค้ากลุ่มเวชบำบัดวิกฤต และกลุ่มช่วยหายใจลดลง เนื่องจากฐานสูงในปี 64 ที่มีความต้องการสินค้าดังกล่าวสำหรับโรงพยาบาลสนาม ขณะที่เราปรับเพิ่มอัตรากำไรขั้นต้นจาก 40% สู่ 41% เนื่องจากการบริหารต้นทุนสินค้าของบริษัทมีประสิทธิภาพมากขึ้น และปรับลดคาดการณ์ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารลงจาก 267 ลบ.เหลือ 193 ลบ. เนื่องจากต้นทุนส่วนใหญ่เป็นต้นทุนคงที่ ส่งผลให้เราปรับประมาณการกำไรเพิ่มขึ้นจาก 142 ลบ. สู่ 195 ลบ. แต่หดตัว 37% จากปี 64 ที่ฐานสูง
- คงคำแนะนำ “ซื้อ” พร้อมเพิ่มราคาเหมาะสมปี 65 สู่ 20.40 บาท : ฝ่ายวิจัยประเมินมูลค่าด้วยวิธี Prospective P/E โดยอ้างอิง P/E Ratio เฉลี่ยย้อนหลัง 1 ปีพร้อมปรับลดด้วย 1.5 S.D. (เนื่องจากในปัจจุบันเป็นการเติบโตที่สูงกว่าปกติจาก COVID-19) ของบริษัทในอุตสาหกรรมเดียวกัน อาทิ SMD TM และ Consumer Product- mai ที่ 22.43 เท่า (ไม่ใช้ P/E Ratio ของ WINMED มาคำนวณ เนื่องจากเป็น outliner ซึ่งแสดงตามตารางด้านล่าง) ได้ราคาเหมาะสมปี 65 เพิ่มขึ้นจาก 17.50 บาทสู่ 20.40 บาท ซึ่งราคาเหมาะสมใหม่ที่ประเมินได้สูงกว่าราคาปิดล่าสุดจึง คงคำแนะนำ “ซื้อ”
ปัจจัยเสี่ยง
i) ส่งมอบสินค้าล่าช้าเนื่องจากผู้ผลิตทยอยส่งมอบเพราะมีความต้องการสูงทั่วโลก
ii) เงินบาทอ่อนส่งผลกระทบต่อต้นทุนการนำเข้าสินค้า
iii) สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในไทยกลับสู่ภาวะปกติ