จับตาคมนาคมเคาะ "หัวลำโพง" "ศักดิ์สยาม" เรียกถก 22 พ.ย.นี้
พรุ่งนี้ ! “ศักดิ์สยาม” นั่งหัวโต๊ะถกแผนหยุดเดินรถไฟเข้าสถานีหัวลำโพง ย้ำจะช่วยแก้ปัญหาการจราจรติดขัด ดันใช้สถานีกลางบางซื่อฮับเศรษฐกิจและการขนส่งแห่งใหม่ของประเทศ
เสียงวิพากษ์วิจารณ์ไม่น้อยสำหรับนโยบายหยุดเดินรถไฟเข้าสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) เพื่อปรับไปบริการเดินรถไฟสถานีสุดท้ายที่สถานีกลางบางซื่อ ศูนย์กลางการเดินทางแห่งใหม่ของประเทศไทย โดยกระทรวงคมนาคมมีนโยบายให้ดำเนินการในวันที่ 23 พ.ย.นี้
การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้ชี้แจงถึงประเด็นดังกล่าว โดยระบุว่า กระทรวงฯ ได้มีนโยบายให้รถไฟทุกขบวน โดยเฉพาะรถไฟทางไกล ปรับสถานีปลายทางจากสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) เป็นสถานีกลางบางซื่อ ตั้งแต่วันที่ 23 ธ.ค. 2564 ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการจราจรติดขัดบนถนน อีกทั้งได้ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาพื้นที่สถานีกรุงเทพ และสถานีกลางบางซื่อ เพื่อยกระดับสู่การเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจ และศูนย์กลางระบบขนส่งแห่งใหม่ของประเทศไทย
โดยมุ่งการใช้ประโยชน์พื้นที่ให้เต็มศักยภาพ สามารถตอบโจทย์วิถีชีวิตของคนในยุคใหม่ในทุกมิติ ทั้งด้านการเดินทางขนส่ง การพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจแห่งใหม่ การส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อดึงดูดชาวต่างชาติ ตลอดจนช่วยบรรเทาปัญหาจราจรติดภายในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยกำหนดกรอบเวลาการดำเนินงานให้ชัดเจน และหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันจัดทำแผนรองรับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับรู้ก่อนล่วงหน้า
ส่วนแนวทางการพัฒนาพื้นที่สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ ร.ฟ.ท. เผยหลังจากย้ายการเดินรถไฟไปที่สถานีกลางบางซื่อทั้งหมดแล้ว จะเริ่มพัฒนาพื้นที่บริเวณสถานีหัวลำโพง ซึ่งจะเน้นการเป็นพื้นที่สาธารณะให้กับคนเมือง และเพิ่มศักยภาพเชิงพาณิชย์ โดยการพัฒนายังคงความเป็นอัตลักษณ์เดิมให้สอดคล้องกับความสมัยใหม่และปรับเข้ากับรูปแบบการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน ดังนั้น จะยังคงอนุรักษ์อาคารหัวลำโพงและจุดสำคัญทางประวัติศาสตร์ในบริเวณนี้อย่างครบถ้วน
ขณะที่แผนพัฒนาสถานีกรุงเทพ บนพื้นที่ 120 ไร่ มูลค่าที่ดิน 1.44 หมื่นล้านบาท เบื้องต้นแบ่งการพัฒนาออกเป็น 5 พื้นที่ ประกอบด้วย
- โซน A จำนวน 16 ไร่ บริเวณอาคารสถานีหัวลำโพงและพื้นที่สาธารณะจัดทำเป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์และพัฒนาทัศนียภาพ
- โซน B จำนวน 13 ไร่ ปรับปรุงอาคารให้เป็นไปตามแนวทางอนุรักษ์
- โซน C จำนวน 22 ไร่ ปัจจุบันเป็นพื้นที่โรงซ่อมรถรางและรถโดยสาร พัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ในรูปแบบปิดและเปิด เช่น ร้านค้า ร้านอาหาร พื้นที่กิจกรรม และจะปรับปรุงเป็น Water front Promenade เลียบครองผดุงกรุงเกษม ดูต้นแบบจากเวนิส ประเทศอิตาลี
- โซน D จำนวน 49 ไร่ ปัจจุบันเป็นพื้นที่ชานชาลา ทางรถไฟ และย่านสับเปลี่ยน ซึ่งเป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อทั้งระบบการสัญจรและพื้นที่ฝั่งเมือง มีแผนพัฒนาได้ในหลายรูปแบบ โดยพัฒนาเป็นโครงการผสมผสาน (มิกซ์ยูส) ลักษณะ Lifestyle mixed-use รองรับธุรกิจโรงแรม อาคารสำนักงาน รวมทั้งที่อยู่อาศัยแบบคอนโดมิเนียม ห้างสรรพสินค้าและพื้นที่จัดแสดง โดยยึดต้นแบบโตเกียว มิดทาวน์ (Tokyo Midtown) ประเทศญี่ปุ่น
- โซน E จำนวน 20 ไร่ บริเวณอาคารสำนักงาน ร.ฟ.ท.ตึกคลังพัสดุเดิม เป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์รูปแบบ Urban mixed-use อาทิ โรงแรม อาคารสำนักงาน ศูนย์กิจกรรม รวมถึงพื้นที่ให้ร่มรื่นผสมผสานความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและเชื่อมต่อรูปแบบสิ่งปลูกสร้างเชิงอนุรักษ์โครงสร้างอาคารเดิม ซึ่งมีระยะห่างกันไม่เกิน 500 เมตร ตลอดแนวคลองและได้ศึกษาชุมชนริมน้ำ โดยยึดต้นแบบโครงการ Suzhou Creek เมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน
ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ตนได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการพัฒนาสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) ให้เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยมีข้อสั่งการเพิ่มเติม ประกอบด้วย
1.การพัฒนาพื้นที่สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) ควรให้ ร.ฟ.ท. เร่งพิจารณาแนวทางการหยุดบริการรถไฟเข้าสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) โดยเร็ว เพื่อให้มีความชัดเจนในการเริ่มพัฒนาบริเวณสถานี
2.การศึกษาการพัฒนาพื้นที่ ให้บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ ร.ฟ.ท.ที่อาจพิจารณาการออกแบบที่แตกจากเดิม คือ ประกวดแบบการพัฒนา โดยให้นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (Land Developer) ร่วมแข่งขันเพื่อให้มีแนวความคิดหลากหลาย
3.การลงทุนของโครงการ ร.ฟ.ท.และบริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด ควรพิจารณารูปแบบการลงทุน และหากพิจารณาแล้วว่าการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) ก่อให้เกิดผลประโยชน์ต่อ ร.ฟ.ท.มากที่สุด เห็นควรให้ทำตามกฎหมายคู่ขนานเพื่อไม่ให้โครงการล่าช้า
นอกจากนี้ พื้นที่ดังกล่าวมีประวัติศาสตร์ยาวนาน ตั้งอยู่กลางเมือง และเข้าถึงง่ายด้วยรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินและรถไฟฟ้าสายสีแดงในอนาคต จึงควรนำมาพัฒนาให้เกิดประโยชน์มากที่สุด โดยให้เป็นศูนย์คมนาคมกลางเมือง รวมถึงจัดสรรพื้นที่บางส่วนสำหรับเชิงพาณิชย์ให้ทันสมัย โดยคงอัตลักษณ์เดิม สอดคล้องความสมัยใหม่และรูปแบบการดำเนินชีวิต
รวมทั้งจะเปิดบริการสถานีบางซื่ออย่างเป็นทางการเดือน พ.ย.2564 และให้รถไฟทุกขบวน โดยเฉพาะรถไฟทางไกลเปลี่ยนมาสิ้นสุดสถานีกลางบางซื่อ ซึ่งปัจจุบันมีรถไฟที่ให้บริการ 198 ขบวน เพราะประเมินการแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดบนถนน ใช้ประโยชน์จากสถานีกลางบางซื่อให้คุ้มค่าเพื่อเป็นศูนย์กลางการขนส่งระดับอาเซียน
อย่างไรก็ดี ในวันที่ 22 พ.ย.นี้ เวลา 15.00 น. ที่กระทรวงคมนาคมจะมีการประชุมคณะกรรมการติดตามการเปิดให้บริการสายสีแดง และสถานีกลางบางซื่อ ผ่านระบบประชุมออนไลน์ ZOOM ซึ่งเชื่อว่าจะได้ข้อสรุปของการปรับเส้นทางเดินรถไฟไปยังสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) รวมทั้งแผนพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ที่อาจมีการรายงานความคืบหน้า