รฟท.เคาะจ่ายซีพี 3.9 พันล้าน สร้างช่วงทับซ้อนไฮสปีด“ไทย-จีน”
การพัฒนาโครงการ “รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน” (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) อยู่ขั้นตอนการแก้ไขสัญญาเพื่อแก้ปัญหางานโยธาที่ทับซ้อนกับโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน 12.8 กิโลเมตร
รายงานข่าวจากการถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ร.ฟ.ท.ได้ดำเนินการเจรจาร่วม บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ที่มีกลุ่มซีพีเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ เพื่อดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประเด็นการให้บริษัทเอเชียเอราวัน ก่อสร้างช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง แก้ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนระหว่างโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) กับรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน โดย ร.ฟ.ท.ประเมินวงเงินก่อสร้างช่วงพื้นที่ทับซ้อน 3.9 พันล้านบาท
“การรถไฟฯ ได้คุยเรื่องแบบและราคากับทางเอเชียเอราวันบ้างแล้ว ซึ่งรายละเอียดหลังจากนี้ต้องหารือกันถึงแบบก่อสร้าง ที่ทางเอเชียเอราวันต้องปรับแบบมาสร้างรองรับไฮสปีดไทย -จีนด้วย และดูความเหมาะสมของราคาก่อนแก้ไขสัญญา”
ทั้งนี้ มติ ครม.ได้เห็นชอบให้บริษัทเอเชียเอราวัน เป็นผู้รับผิดชอบออกแบบและก่อสร้างงานโยธา รวมงานทางวิ่งของโครงการรถไฟไทย-จีน ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง แต่ให้ยึดข้อตกลงทั้งมาตรฐานและระยะเวลาของรถไฟไทย-จีนเป็นหลัก ดังนั้นการก่อสร้างพื้นที่ทับซ้อนต้องเสร็จใน ก.ค.2569 ส่วนค่าลงทุนออกแบบและงานก่อสร้างนั้น บริษัทเอเชียเอราวันจะรับผิดชอบก่อน หลังจากนั้นจะชดเชยค่าใช้จ่ายให้
สำหรับการพิจารณาแก้ปัญหาซ้อนทับที่นำมาสู่การแก้สัญญารถไฟ 3 สนามบิน เพื่อให้บริษัทเอเชียเอราวัน เริ่มงานก่อสร้างส่วนนี้ เพราะช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ทั้ง 2 โครงการต้องใช้โครงสร้างโยธาร่วมกัน แต่เวลาการก่อสร้างและมาตรฐานเทคนิคไม่สอดคล้องกัน
ดังนั้นเพื่อแก้ปัญหาให้การก่อสร้างมีประสิทธิภาพเป็นการก่อสร้างครั้งเดียว ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กระทรวงคมนาคม และ ร.ฟ.ท.จึงเจรจาเอกชนคู่สัญญาโครงการไฮสปีด 3 สนามบิน คือ บริษัทเอเชียเอราวัน ทำข้อเสนอการแก้ไขสัญญาร่วมทุน เพื่อให้เอกชนเร่งก่อสร้างช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง โดยให้เอกชนรับพื้นที่และเริ่มงานก่อสร้างโยธาให้ได้มาตรฐานเร็วกว่ากำหนด เพื่อให้โครงการรถไฟไทย-จีน ใช้เส้นทางดอนเมือง-บางซื่อ ตามแผนในเดือน ก.ค.2569
“เรื่องพื้นที่ทับซ้อนเป็นประเด็นที่การรถไฟฯ ศึกษามานานแล้ว เพราะการจะประกวดราคาก่อสร้างไฮสปีดไทย-จีน เป็นต้องรอแบบของไฮสปีด 3 สนามบิน เพื่อนำมาก่อสร้างให้รองรับกัน เรื่องนี้เป็นการแก้ปัญหา 2 โครงการ ใช้พื้นที่ก่อสร้างทับซ้อนกัน ท้ายที่สุดทางออกที่ดำเนินการได้เลย การรถไฟฯ ไม่ต้องประกวดราคาเพิ่ม คือการเจรจาให้เอเชียเอราวันสร้างแทรครถไฟเพิ่มจาก 2 แทรค เป็น 4 แทรค ซึ่งรัฐจะจ่ายจ่ายเงินชดเชยค่าก่อสร้างส่วนนี้ให้”
นอกจากนี้ การหารือร่วมกับบริษัทเอเชียเอราวัน ทราบว่าพร้อมก่อสร้างงานโยธา ดังนั้นหากแก้ไขสัญญาเสร็จจะหาข้อสรุปแบบและวงเงินก่อสร้าง ซึ่งบริษัทเอเชียเอราวันพร้อมเข้าพื้นที่และเร่งสร้างให้เสร็จตามแผนเพื่อรองรับการเปิดบริการรถไฟความเร็วสูง-จีน
สำหรับความคืบหน้ารถไฟความเร็วสูง-จีน 14 สัญญา ขณะนี้ ร.ฟ.ท.ผลักดันให้ประกวดราคาและลงนามสัญญาแล้ว 11 สัญญา โดยจำนวนนี้อยู่ระหว่างก่อสร้าง 10 สัญญา และยอมรับว่าโควิด-19 ทำให้การเข้าพื้นที่งานก่อสร้างได้รับผลกระทบ ประกอบกับบางสัญญาที่ผู้รับจ้างยังเข้าพื้นที่ก่อสร้างไม่ได้ เพราะต้องรอ พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดิน เบื้องต้น ร.ฟ.ท.จึงประเมินว่า โครงการจะล่าช้าจากแผนที่วางไว้ 6 เดือน ซึ่งเดิมตามแผนจะเปิดให้บริการปลายปี 2569 หรืออย่างช้าต้นปี 2670 อาจขยับไปเปิดบริการครึ่งปีหลัง 2570
ส่วน 3 สัญญาที่ยังไม่ลงนาม คือ สัญญาที่ 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง 15.2 กิโลเมตร กำลังเจรจารายร่วมกับบริษัทเอเชียเอราวัน ในขณะที่สัญญาที่ 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว 13.3 กิโลเมตร ติดปัญหาเรื่องสถานีพระนครศรีอยุธยา กำลังทำรายงานผลกระทบด้านทรัพย์สินทางวัฒนธรรม (Heritage Impact Assessment : HIA) ของแหล่งมรดกโลกนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา และสัญญาที่ 3-1 ช่วงแก่งคอย-กลางดง และช่วงปางอโศก-บันไดม้า 30.2 กิโลเมตร รอการพิจารณาของศาลปกครอง