"ซีพี" ร่วมมือรัฐ-เอกชน-ประชาสังคม ลดโลกร้อน มุ่งเป้ายั่งยืนปี 2030
ซีพี ร่วมดัน “Climate Action Leaders Forum” รุ่นที่ 1 เวทีผู้นำด้านความยั่งยืนรูปแบบใหม่ครั้งแรกของไทย ร่วมมือภาครัฐ-เอกชน-ประชาสังคม ระดมแนวคิดลดโลกร้อน พร้อมตอกย้ำยุทธศาสตร์ซีพี มุ่งสู่เป้าหมายความยั่งยืนในปี 2030
วันที่ 19 พฤศจิกายน 2564 องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ร่วมกับสถาบันวิทยาการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (CAA) แถลงเปิดตัวโครงการ “Climate Action Leaders Forum” รุ่นที่ 1 ขึ้น ผ่านรูปแบบออนไลน์ โดยเป็นครั้งแรกของเวทีผู้นำรูปแบบใหม่ในการร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองทางความคิด และประสบการณ์ของผู้นำในแต่ละด้านที่ร่วมลดโลกร้อนมุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
รวมถึงมุมมองข้อสรุปต่างๆ จากการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP26) เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร ที่ผ่านมา
นายนพปฎล เดชอุดม ประธานคณะผู้บริหารด้านความยั่งยืนองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ได้ร่วมในงานแถลงเปิดตัวโครงการ พร้อมให้สัมภาษณ์ผ่านทางระบบออนไลน์ ในหัวข้อ “ผู้นำกับบทบาทและความใส่ใจในการมีส่วนร่วมลดโลกร้อนต่อสู้กับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ร่วมกับผู้บริหารจากองค์กรต่างๆ ประกอบด้วย นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) และนายอเล็กซ์ เรนเดลล์ ซีอีโอ และผู้ร่วมก่อตั้ง Environmental Education Center Thailand
นายนพปฎล กล่าวว่า เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้เริ่มตั้งเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกครั้งแรกในปี พ.ศ.2559 โดยกำหนดเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกต่อหน่วยรายได้ 10% ภายในปี พ.ศ.2563 รวมทั้งเข้าร่วมโครงการ Caring for Climate ภายใต้ความร่วมมือของ UN Global Compact UNEP และ UNFCCC โดยเครือซีพีได้มีการดำเนินงานที่สำคัญ 6 ด้าน ได้แก่
1.การใช้พลังงานหมุนเวียน ได้แก่ พลังงานแสงอาทิตย์ ชีวมวล พลังงานจากของเสีย เช่น ก๊าซชีวภาพ หรือ Biogas
2.การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในกระบวนการผลิต
3.การจัดการของเสีย เช่น การผลิตปุ๋ยชีวภาพจากมูลสัตว์ และวัสดุเหลือใช้จากการเกษตร การใช้ประโยชน์จากตะกอนระบบบำบัดน้ำเสีย
4.การปลูกป่า และส่งเสริมการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างผสมผสานระหว่างการปลูกป่าและการทำเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน ซึ่งช่วยดูดซับและกักเก็บคาร์บอน
5.การลดก๊าซเรือนกระจกจากการเกษตร อาทิ การพัฒนาสูตรอาหารสัตว์ที่ลดการปล่อยก๊าซมีเทน การส่งเสริมการปลูกข้าวที่ลดก๊าซเรือนกระจก
6.การพัฒนาโครงการขนส่งมวลชนด้วยรถไฟความเร็วสูงที่ช่วยลดก๊าซเรือนกระจกจากการเดินทาง และการเพิ่มประสิทธิภาพของการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์
นายนพปฎล กล่าวต่อว่า จากการดำเนินงานต่างๆ ทำให้เครือสามารถลดก๊าซเรือนกระจกต่อหน่วยรายได้ลงได้ 8.5 % เมื่อเทียบกับปีฐาน (ณ สิ้นปี 2563) แต่ก็ยังไปไม่ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 10% เครือจึงแสดงความรับผิดชอบด้วยการซื้อคาร์บอนเครดิตที่ผ่านการรับรองจาก อบก. เป็นจำนวน 45,665 ตัน CO2e มาชดเชยส่วนที่ขาดไป
ทั้งนี้การดำเนินงานของเครือในอนาคต ได้ประกาศยุทธศาสตร์และเป้าหมายความยั่งยืนสู่ปี 2030 รวม 15 เป้าหมาย โดยมีเป้าหมายสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการลดก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ลดปริมาณขยะอาหารเป็นศูนย์ ตลอดจนของเสียที่ถูกนำไปฝังกลบเป็นศูนย์
รวมทั้งบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ใช้ทั้งหมดสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ ใช้ซ้ำ หรือย่อยสลายได้ รวมทั้งตั้งเป้าปลูกต้นไม้ 20 ล้านต้นทั่วโลกภายในปี 2025 นอกจากนี้ เครือยังได้ร่วมประกาศเจตนารมณ์ Race to Zero ผ่านโครงการ Business Ambition for 1.5 °C และแสดงความมุ่งมั่นในการกำหนดเป้าหมายระยะยาวเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย Net Zero ตลอดห่วงโซ่อุปทานภายในปี พ.ศ.2593
ทั้งนี้ โครงการ “Climate Action Leaders Forum" จัดขึ้นเป็นรุ่นที่ 1 เพื่อส่งเสริมให้เกิดเครือข่ายองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก มุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และสร้างการมีส่วนร่วมครอบคลุมบุคลากรที่มีบทบาทในการบริหารจัดการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากทั้งภาครัฐ และเอกชน และผู้ที่มีความสนใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้แก่ ผู้บริหารระดับสูง ผู้นำจากองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน บุคลากรภาครัฐและองค์กรการปกครองส่วนท้องถิ่น บุคลากรภาคธุรกิจ สื่อมวลชน และประชาชนทั่วไป
พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์ ศิลาวงษ์