การประเมินลงทุนธีม "ESG" มีความสำคัญไฉน ?
เจาะลึกลงไปถึงสาเหตุที่ผู้ลงทุนใช้ข้อมูลจากผู้ประเมิน "ESG" มากสุด เนื่องเพราะเป็นข้อมูลที่มีสาระสำคัญต่อการสร้างผลตอบแทนการลงทุน สามารถใช้เป็นข้อมูลเสริมเพิ่มเติมจากบทวิจัยอื่นในแง่ของผลการดำเนินงานและความเสี่ยง
จากข้อมูลของ SustainAbility ที่เผยแพร่ในเอกสาร Rate the Raters 2020: Investor Survey and Interview Results ระบุว่า จำนวนของมาตรฐานและกรอบการดำเนินงาน ผู้ให้บริการข้อมูล ผู้ประเมินและจัดอันดับด้าน ESG (Environmental, Social, and Governance) มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยหน่วยงานประเมินและจัดอันดับด้าน ESG มีอยู่มากกว่า 600 แห่งในปี ค.ศ. 2018
ในการสำรวจดังกล่าว พบว่า แหล่งข้อมูลสามอันดับแรกที่ผู้ลงทุนใช้ในการวิเคราะห์ผลการดำเนินงานด้าน ESG ของบริษัทที่ลงทุน ได้แก่ การใช้ข้อมูลจากผู้ประเมิน ESG มากสุด รองลงมาเป็นการใช้ข้อมูลจากการสานสัมพันธ์โดยตรงกับบริษัท และอันดับสามเป็นการใช้ข้อมูลจากการเปิดเผยรายงานแห่งความยั่งยืนของกิจการ
เมื่อเจาะลึกลงไปถึงสาเหตุที่ผู้ลงทุนใช้ข้อมูลจากผู้ประเมิน ESG มากสุด เนื่องเพราะเป็นข้อมูลที่มีสาระสำคัญต่อการสร้างผลตอบแทนการลงทุน สามารถใช้เป็นข้อมูลเสริมเพิ่มเติมจากบทวิจัยอื่นในแง่ของผลการดำเนินงานและความเสี่ยงด้าน ESG ของกิจการ อีกทั้งข้อมูลจากแหล่งดังกล่าวยังเป็นที่ต้องการเพิ่มขึ้นจากผู้มีส่วนได้เสียหลัก รวมถึงเป็นแหล่งที่ให้ข้อมูลการดำเนินงาน ESG ของกิจการที่มีคุณภาพและเป็นที่น่าเชื่อถือ
ปัจจุบัน หน่วยงานประเมิน ESG มีวิธีการใช้ข้อมูลในการประเมินที่แตกต่างกัน โดยแบ่งออกเป็น 2 ค่ายใหญ่ ได้แก่ ค่ายที่ใช้วิธีการประเมินจากการรวบรวมข้อมูลสาธารณะ (Public Information) ที่เปิดเผยในแหล่งต่างๆ อาทิ Bloomberg, Thomson Reuters, MSCI กับค่ายที่ใช้วิธีการขอข้อมูล (Requested Information) จากกิจการ ผ่านแบบสำรวจหรือแบบสอบถามเพื่อทำการประเมิน อาทิ DJSI Index Family ของ S&P Global, CDP, JUST Capital ฯลฯ
S&P Global ในฐานะผู้จัดทำดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices: DJSI) และดัชนี S&P ESG ได้มีการเชิญบริษัทจดทะเบียนทั่วโลกจำนวนกว่า 5,000 แห่ง ที่ผ่านเกณฑ์คัดเลือกของดัชนีดังกล่าว เข้าร่วมในการประเมินความยั่งยืนของกิจการ (CSA) ในรอบครึ่งปีแรกของปี 2564
สำหรับการประเมินในปีนี้ S&P Global ยังได้เปิดโอกาสให้บริษัทอื่นๆ ที่อยู่ในความสนใจของชุมชนผู้ลงทุนวงกว้าง อีกจำนวนกว่า 5,000 แห่ง ได้แสดงเจตจำนงที่จะเข้าร่วมในการประเมินความยั่งยืนของกิจการ (CSA) ในรอบครึ่งปีหลัง เพิ่มเติมเป็นครั้งแรกอีกด้วย
ในจำนวนบริษัทจดทะเบียนทั่วโลกที่ผ่านเกณฑ์คัดเลือกของดัชนี DJSI (Group A) มีบริษัทจดทะเบียนไทยที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประเมิน จำนวน 37 แห่ง โดยในปีนี้ ยังมีบริษัทจดทะเบียนไทยที่ผ่านเกณฑ์คัดเลือกของดัชนี S&P ESG (Group B) ให้เข้าร่วมการประเมิน CSA เพิ่มเติมอีก 25 แห่ง และอีกจำนวน 72 แห่งในรอบหลัง (ที่ไม่ผ่านเกณฑ์คัดเลือกของทั้งสองดัชนี) รวมบริษัทไทยที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมประเมินทั้งหมด 134 แห่ง
สำหรับในปี 2564 นี้ บริษัทจดทะเบียนไทยที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าอยู่ในดัชนี DJSI มีจำนวน 24 แห่ง ประกอบด้วย ADVANC, AOT, BANPU, BDMS, BJC, BTS, CPALL, CPF, CPN, DELTA, EGCO, HMPRO, IRPC, IVL, KBANK, MINT, PTT, PTTEP, PTTGC, SCB, SCC, TOP, TRUE และ TU เพิ่มขึ้นเป็นลำดับในห้วงเวลา 20 ปี นับตั้งแต่ที่มีบริษัทจดทะเบียนไทยได้รับคัดเลือกให้เข้าอยู่ในดัชนี DJSI เป็นครั้งแรกเมื่อปี 2544
ในมุมมองของผู้ลงทุนโดยใช้ธีม ESG นอกจากการพิจารณาประเด็นความยั่งยืนที่บริษัทมีการดำเนินการเป็นที่โดดเด่นแล้ว การพิจารณาผลประกอบการในบรรทัดสุดท้าย (Bottom Line) ของกิจการ ยังคงถือเป็นภาคบังคับสำหรับผู้ลงทุนที่ต้องการผลตอบแทนซึ่งไม่ด้อยไปกว่าการลงทุนในแบบทั่วไป
เมื่อพิจารณาอัตราผลตอบแทนราคาของดัชนี DJSI World ในรอบปี พบว่า มีตัวเลขผลตอบแทนย้อนหลัง 1 ปี อยู่ที่ 22.28% ขณะที่ผลตอบแทนราคาของดัชนี DJSI Emerging อยู่ที่ 17.58% เมื่อเทียบกับดัชนี Thaipat ESG Index ซึ่งเป็นดัชนีที่ประกอบขึ้นจากหลักทรัพย์ ESG100 ที่ทำการประเมินโดยสถาบันไทยพัฒน์ พบว่า มีผลตอบแทนย้อนหลัง 1 ปี อยู่ที่ 25.12% โดยที่ดัชนี Thaipat ESG Index ให้ผลตอบแทนเหนือดัชนี DJSI World (ต่างกัน 2.84%) และ DJSI Emerging (ต่างกัน 7.54%)
และเมื่อพิจารณาผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปี 64 จนถึงปัจจุบัน (YTD) ของหุ้น DJSI ทั้ง 24 ตัว (Equal-weighted) พบว่า มีอัตราผลตอบแทนอยู่ที่ 12.58% เมื่อเทียบกับผลตอบแทนราคาของดัชนี SET Index ในอัตรา 13.91% ขณะที่ดัชนี Thaipat ESG Index ให้ผลตอบแทนอยู่ที่ 15.2% ในช่วงเวลาเดียวกัน (ข้อมูล ณ 18 พ.ย. 64)
การลงทุนในหุ้นที่ถือว่ามีความโดดเด่นด้านความยั่งยืนตามการประเมิน CSA ดังกล่าว ยังไม่อาจตอบโจทย์การลงทุนที่ยั่งยืน ในแง่ของการได้รับผลตอบแทนการลงทุนที่ยังต่ำกว่าอัตราผลตอบแทนของตลาดโดยรวม