"ล้วงแผนลับ" PIN แอบซ่อน “2สตอรี่ใหม่”
เปิดแผนธุรกิจ 3-5 ปี “ปิ่นทอง อินดัสเตรียล ปาร์ค” หลังนำเงินระดมทุนสร้างการเติบโตครั้งใหม่ ! “พีระ ปัทมวรกุลชัย” นายใหญ่ แย้มอยู่ระหว่างเจรจาจับมือ “พาร์ทเนอร์” ปั้น 2 สตอรี่ใหม่ “โรงไฟฟ้า-น้ำ”
เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ได้ “ปัจจัยบวก” จากการเปิดประเทศ ! คงต้องยกให้ “กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม” และหนึ่งในนั้นคือ บมจ. ปิ่นทอง อินดัสเตรียล ปาร์ค หรือ PIN หุ้นกลุ่มนิคมฯ ตัวล่าสุดที่เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เมื่อ 9 พ.ย. ที่ผ่านมา โดยเปิดซื้อขายวันแรก (เทรด) ราคาอยู่ที่ 4 บาทต่อหุ้น เพิ่มขึ้น 2.56% จากราคาไอพีโอ 3.90 บาทต่อหุ้น
“ปิ่นทอง อินดัสเตรียล ปาร์ค” เป็นหนึ่งในผู้ประกอบธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมรายใหญ่ในภาคตะวันออก มีทำเลที่ตั้งของนิคมฯ ครอบคลุมพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญ สอดรับไปกับนโยบายของภาครัฐที่กำลังเร่งพัฒนาพื้นที่ “เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก” (EEC) โดยมีเป้าหมายใช้เป็น “ฐานผลิต” ของบริษัทยักษ์ใหญ่ต่างแดนอีกมากมาย หลังเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัว !!
โดยเปิดดำเนินการแล้วรวม 6 โครงการ ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง โครงการ 1 (PIN1) ,นิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง (แหลมฉบัง) (PIN2) ,นิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง โครงการ 3 (PIN3) ,นิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง โครงการ 4 (PIN4) ,นิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง โครงการ 5 (PIN5) และโครงการ Logistics Park อีก 1 โครงการ คือ โครงการปิ่นทองแลนด์ (PL) พื้นที่รวมกันกว่า 7,500 ไร่
“พีระ ปัทมวรกุลชัย” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปิ่นทอง อินดัสเตรียล ปาร์ค จำกัด (มหาชน) หรือ PIN เล่าแผนธุรกิจสร้างการเติบโตให้ “กรุงเทพธุรกิจ BizWeek” ฟังว่า บริษัทวางแผนธุรกิจระยะยาว 3-5 ปีข้างหน้า (2565-2569) กำลังศึกษาลงทุนใน 2 ธุรกิจใหม่ (New Business) นั่นคือ “โรงไฟฟ้า-น้ำ”
โดย “ธุรกิจโรงไฟฟ้า” คาดว่าจะมีความชัดเจนช่วงปลายปี 2564 ซึ่งคาดว่าจะเป็นการตั้งเป็นร่วมทุนบริษัทใหม่ ในการทำธุรกิจโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติและโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์) ทั้งพลังงานโซลาร์รูฟท็อป (Solar Rooftop) และ พลังงานไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำ
โดยแผนดำเนินการเบื้องต้นบริษัทจะถือหุ้นต่ำกว่า 50% เพราะว่าบริษัทไม่มีประสบการณ์ในธุรกิจโรงไฟฟ้า และให้พันธมิตรธุรกิจโรงไฟฟ้าเป็นถือหุ้นใหญ่ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจากับผู้ประกอบการธุรกิจโรงไฟฟ้ารายใหญ่ อย่าง บมจ. กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ หรือ GULF และ กลุ่มบริษัทในเครือง บมจ. ปตท. หรือ PTT คาดว่าอีกไม่นานจะลงนามสัญญาร่วมมือกัน
“โดยคาดว่า 3 โรงงานของเรา เบื้องต้นจะใช้กำลังการผลิตราว 200-300 เมกะวัตต์ คาดใช้เงินลงทุนประมาณ 9,000 ล้านบาท”
ขณะที่ “ธุรกิจน้ำ” เบื้องต้นบริษัทมีความต้องการสร้างบ่อกักเก็บน้ำเพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงกรณีที่หากภาคตะวันออกขาดแคลนน้ำ ซึ่งปัจจุบันบริษัทซื้อน้ำดิบจาก บมจ. จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก หรือ EASTW สัดส่วน 70% และที่เหลือมาจากแหล่งน้ำธรรมชาติ 30%
โดยอนาคต 3-5 ปีข้างหน้า บริษัทมีเป้าหมายอยากลดการพึ่งพาจากภายนอกและพึ่งพาตัวเองมากขึ้น และคาดว่าจะมีนิคมอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นอีก 1 แห่ง หรือ ขยายพื้นที่จากนิคมฯ เดิมอีกด้วย
“บริษัทมีระยะยาวภายใน 3-5 ปีข้างหน้า ต้องการเพิ่มสัดส่วนรายได้ประจำมากขึ้นขยายเข้าลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าและน้ำ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนผลประกอบการเติบโตอย่างมั่นคงระยะยาว”
สอดรับแผนธุรกิจ 3-5 ปี บริษัทมุ่งเน้นเพิ่มสัดส่วน “รายได้ประจำ” (Recurring Income) เพิ่มมากขึ้นแตะ 40-50% จากปัจจุบันอยู่ที่ 30% เป็นการสร้างเสถียรภาพการรับรู้รายได้ของบริษัท
ขณะที่ เงินระดมทุนนำมาพัฒนาขยายโครงการลงทุนพื้นที่โลจิสติกส์ (Logistics Park) แห่งใหม่ จำนวน 770 ล้านบาท โดยบริษัทพัฒนาที่ดินให้เช่าในระยะยาว และสร้างอาคารโรงงานและคลังสินค้าให้เช่า พื้นที่อาคารรวมประมาณ 100,000 ตารางเมตร
โดยแบ่งเป็น 2 เฟส คาดแล้วเสร็จเฟสแรกภายในปี 2565 ทำให้บริษัทผลักดันรายได้จากการขายที่ดินเพิ่มขึ้นและเพิ่มสัดส่วนรายได้ประจำจากรายได้ค่าเช่าอาคารโรงงานและคลังสินค้า รวมถึงค่าบริการจากการให้บริการระบบสาธารณูปโภคเพิ่มขึ้น เพื่อสนับสนุนความมั่นคงด้านผลการดำเนินงานของบริษัทในอนาคต
ทั้งนี้ เชื่อว่า PIN มีศักยภาพการเติบโตสูงมากกับโอกาสการเปิดประเทศครั้งใหม่ของภาครัฐ เพื่อต้อนรับนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเป็นฐานการผลิตส่งออกสินค้าไปยังตลาดโลกในช่วงจังหวะเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว
“เรามุ่งสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนเพื่อรองรับนโยบายภาครัฐที่ต้องการดึงเม็ดเงินลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนกลุ่มอุตสาหกรรม S-Curve โดยบริษัทเตรียมเปิดขายพื้นที่พัฒนาแล้วในโครงการนิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง 6 เฟสแรกในจังหวัดระยองภายในไตรมาสุดท้ายปีนี้อีกด้วย”
อย่างไรก็ตาม ด้วยศักยภาพการดำเนินงานที่มีพื้นฐานธุรกิจที่แข็งแกร่ง จากประสบการณ์ความเชี่ยวชาญมานานกว่า 25 ปี บริษัทพร้อมต่อยอดนิคมอุตสาหกรรมปิ่นทองไปสู่ “เมืองอัจฉริยะ” (Smart City) ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และจะเพิ่มความโดดเด่นและเสริมจุดแข็งด้านทำเลที่ตั้งของโครงการทั้ง 7 แห่ง อยู่ในเขต EEC ได้มากยิ่งขึ้น
โดยบริษัทตั้งเป้ารายได้ปี 2565 เติบโต 60-70% รับผลบวกหลังเปิดประเทศ โดยปัจจัยหนุนมาจากรายได้จากการขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง 6 และรายได้ค่าเช่าจากการลงทุนโครงการ Logistics Park แห่งใหม่ คาดรับรู้รายได้กลางปี 2565 ถึงปลายปี
ปัจจุบันบริษัทมีสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินคิดเป็นมูลค่า 250-260 ล้านบาท คาดจะโอนได้ในปีนี้ทั้งหมด สำหรับผลประกอบการปีนี้คาดรายได้รวมไม่ได้เพิ่มขึ้นจากปีก่อน หรืออาจจะเติบโตลดลงเนื่องจากผลจากโควิด-19
ท้ายสุด “พีระ” บอกไว้ว่า หลังระดมทุนเข้าตลาดฯ แล้ว อัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (IBD/E) จะอยู่ที่ 0.8-0.9 เท่า และอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) อยู่ที่ 0.9 เท่า ตั้งเป้ารักษาไม่ไห้เกิน 1 เท่า