"หุ้นไฟแนนซ์"ผุดธุรกิจใหม่กระจายความเสี่ยงคุมดอกเบี้ย
ตลาดหุ้นไทยสัปดาห์นี้ดูเงียบๆ เหงาๆ แกว่งตัวไซด์เวย์ในกรอบแคบๆ ไปไหนไม่ได้ไกล หลังซึมซับปัจจัยบวกลบต่างๆ ไปมากแล้ว เวลานี้คงต้องรอปัจจัยใหม่ๆ เข้ามาหนุนให้ตลาดวิ่งอีกครั้ง
เมื่อตลาดนิ่งแบบนี้ ธีมการลงทุนคงต้องเฟ้นเป็นรายตัวรายกลุ่มกันไป และหนึ่งในกลุ่มที่ดูจะคึกคักเป็นพิเศษ คือ “กลุ่มไฟแนนซ์” ที่แต่ละบริษัทมีสตอรี่มีปัจจัยบวกเฉพาะตัวให้ได้ติดตาม เรียกว่าไม่มีใครยอมใครกันเลย
ขอเริ่มต้นด้วยบริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) หรือ JMT ในเครือบริษัท เจ มาร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ JMART ที่ก่อนหน้านี้เพิ่งจะประกาศ “ซุปเปอร์ดีล” เปิดทางกลุ่มทุนใหญ่ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS เข้ามาร่วมถือหุ้น จนดันราคาหุ้นทั้งกลุ่มพุ่งติดจรวด
ล่าสุด มีกระข่าวเล็ดลอดออกมาว่า JMT กำลังซุ่มร่วมทุนแบงก์ใหญ่ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK ตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) แถมไปยื่นขออนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นที่เรียบร้อย
ตามข่าวที่ออกมาระบุว่า JMT จะถือหุ้นใหญ่ในบริษัทร่วมทุน 65-70% และ KBANK จะถือหุ้น 25-30% โดยจะโอนหนี้เสีย (NPL) ที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันจาก KBANK มาบริหาร และใช้ความเชี่ยวชาญของ JMT เข้าไปติดตามหนี้
ข่าวเล่นออกมาละเอียดซะขนาดนี้ เชื่อว่าไม่น่ามีอะไรผิดพลาด เพราะ JMT ก็ไม่ได้ปฏิเสธ โดยชี้แจงกับตลาดหลักทรัพย์ว่าอยู่ระหว่างการหารือกับพันธมิตรจริง แต่ยังไม่มีกำหนดเวลาตายตัวว่าดีลนี้จะจบเมื่อไหร่
แต่ถ้าไปถามบรรดากูรูในตลาดต่างฟันธงว่า เร็วๆ นี้น่าจะได้ฟังข่าวดีอย่างเป็นทางการแน่นอน เพราะมองว่าบริษัทต้องเร่งเครื่องธุรกิจอย่างเต็มที่ เนื่องจากช่วงนี้มีหนี้เสียออกมาให้ช้อปเป็นจำนวนมาก และดีลนี้น่าจะเป็นอีกหนึ่งแรงส่งสำคัญให้บริษัทก้าวขึ้นสู่การเป็นเบอร์ 1 ในธุรกิจบริหารสินทรัพย์ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ภายใน 5 ปีข้างหน้า
ด้านบริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SAWAD มีข่าวออกมาให้ได้ติดตามเรื่อยๆ หลังเมื่อต้นปีเพิ่งร่วมทุนกับธนาคารออมสินเปิดตัว “เงินสดทันใจ” รุกตลาดสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ โดยดัมป์ดอกเบี้ยลงมาชนิดไม่สนคู่แข่ง
รวมทั้งยังจับมือกับบริษัท โนเบิล ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOBLE ลุยธุรกิจบริหารหนี้ จากกลยุทธ์กระจายความเสี่ยง ลดการพึ่งพิงธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับองค์กร
ล่าสุดประกาศกลางวงนักวิเคราะห์เตรียมเปิดตัวธุรกิจใหม่สินเชื่อเช่าซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า คาดเปิดตัวในไตรมาส 1 ปี 2565 โดยจะปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้าของพันธมิตรที่เป็นบริษัทขายเครื่องใช้ไฟฟ้า คิดดอกเบี้ยเบื้องต้นสูงถึง 50% ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อ 1 หมื่นล้านบาท ภายในปี 2569 หรือ เฉลี่ยปีละ 2 พันล้านบาท
แต่ไปดูในมุมของนักวิเคราะห์กลับยังไม่ให้น้ำหนักต่อธุรกิจใหม่นี้เท่าไหร่ แม้ว่าจะยังไม่มีการกำหนดเพดานดอกเบี้ยจากหน่วยงานกำกับดูแล แต่มองว่าการแข่งขันค่อนข้างรุนแรง มีเจ้าใหญ่เป็นบริษัทที่อยู่นอกตลาดหลักทรัพย์ ส่วนในตลาดมีบริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SINGER กับ บริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) หรือ AEONTS ที่ทำอยู่
ด้านบริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ MTC ประกาศเตรียมพร้อมลงสนามในปีหน้าด้วยเช่นกัน โดยได้ตั้งบริษัทย่อยแห่งใหม่ Muangthai Pay Later (MTPL) ทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาทไว้แล้ว พร้อมรุกธุรกิจซื้อก่อนจ่ายทีหลัง โดยจะร่วมมือกับห้างค้าปลีกชั้นนำ “บิ๊กซี” และ “โลตัส” เปิดให้กลุ่มลูกค้าที่มีประวัติผ่อนชำระดีซื้ออุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าแล้วมาผ่อนกับ MTPL
ขณะที่บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) หรือ TIDLOR เพิ่งจะมีข่าวดี หลังได้รับเลือกเข้าคำนวณในดัชนี MSCI Global Small Cap โดยจะมีผล ณ ราคาปิดวันที่ 30 พ.ย. นี้ น่าจะช่วยดึงดูดกลุ่มนักลงทุนสถาบันทั้งในและต่างประเทศ แถมยังมีลุ้นเข้าคำนวณในดัชนี FTSE นอกจากนี้ ยังเป็นหนึ่งในตัวเต็งเข้าไปโลดแล่นในดัชนี SET50 และ SET100 รอบครึ่งแรกปี 2565 ซึ่งจะมีการประกาศในช่วงกลางเดือน ธ.ค. นี้
ส่วนบริษัท เน็คซ์ แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ NCAP ที่ได้บริษัท คอมเซเว่น จำกัด (มหาชน) หรือ COM7 เข้ามาเป็นพาร์ทเนอร์เตรียมเข็นบริการใหม่ๆ ออกมาอีกเพียบ ทั้งสินเชื่อจำนำทะเบียนรถซึ่งตลาดใหญ่กว่าสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของบริษัทถึง 7 เท่า คาดเปิดตัวในช่วงไตรมาส 2 ปี 2565 และน่าจะได้เห็นการปล่อยสินเชื่อใหม่ๆ ณ สาขา หรือ จุดขายของ COM7
ด้านบริษัท เฮงลิสซิ่ง แอนด์ แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ HENG เป็นน้องใหม่ไฟแรงประจำกลุ่ม เพิ่งเข้าตลาดมาได้แค่ 1 เดือน แต่ราคาพุ่งไม่หยุด เดินหน้าทำออลไทม์ไฮตลอด หลังเข้าตาธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK โดดเข้ามาเก็บหุ้น 10% ตั้งแต่วันแรก หคาดได้เห็นความร่วมมือกันเร็วๆ นี้ ในการต่อยอดจากฐานลูกค้ารายย่อยและเอสเอ็มอีของกสิกรฯ
ดูแล้วแต่ละบริษัทเร่งปรับตัว รุกธุรกิจใหม่ๆ เพื่อกระจายความเสี่ยงจากเกณฑ์ควบคุมสินเชื่อเช่าซื้อที่กำลังจะออกมา