กรมประมง เปิดบ้านฟังข้อเสนอประมงพื้นบ้าน พร้อม ลุยปฏิบัติกฎหมาย MMPA ของ USA
กรมประมง เปิดประชุมสมัชชาชาวประมงพื้นบ้านประเทศไทย รับฟังข้อคิดเห็นพร้อมปรับปรุง พรก.การประมง 2558 ขณะ
ลุยเดินเครื่องนำไทยปฏิบัติตามกฎหมาย MMPA ของ USA
นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมประมง เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมสมัชชาประมงพื้นบ้านประเทศ ครั้งที่ 8 ซึ่งจัดให้มีขึ้นในระหว่างวันที่ 22 – 24 พ.ย. 2564 ณ กรมประมง ว่า เป็นการรวมพลชาวประมงที่เป็นสมาชิกของสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านประเทศไทยจาก 19 จังหวัดชายฝั่งประเทศไทย จำนวนกว่า 70 ราย จาก 53 องค์กร
ซึ่งทางสมาคมสมาพันธ์ฯ ได้สรุปความคืบหน้าของข้อเสนอทางนโยบายและการแก้ไขปัญหาประเด็นต่างๆ เช่น การสนับสนุนองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นเพื่อการจัดการทรัพยากรประมง ข้อมูลสถิติการประมงไทย การปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย พรก.การประมง 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ใน 3 ประเด็นของประมงพื้นบ้าน การออกใบอนุญาตทำการประมงพื้นบ้านให้ชาวประมงขนาดเล็ก
การจดทะเบียนเรือประมงพื้นบ้าน การจัดตั้งกองทุนประมงพื้นบ้าน การทบทวนแหล่งทำการเพาะเลี้ยงในทะเล การให้ภาครัฐสนับสนุนผลผลิตสัตว์น้ำคุณภาพและระบบรับรองมาตรฐานสัตว์น้ำหลักการจับของชาวประมงพื้นบ้าน การจัดตั้ง “โรงเรียนชาวประมงยั่งยืน” เป็นต้น
ซึ่งทางกรมประมง ได้ส่งเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องได้ให้ข้อมูลในข้อหารือต่างๆ เหล่านี้ เพื่อให้เกิดความชัดเจนและเกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง อีกทั้ง ยังมีจัดการอภิปรายในหัวข้อ “นโยบายประมงยั่งยืนจากอดีตสู่ปัจจุบัน
นอกจากนี้ ในการประชุมสมัชชาชาวประมงพื้นบ้านประเทศไทย ครั้งที่ 8 ยังมีองค์กรที่เกี่ยวข้อง อาทิ สมาคมรักษ์ทะเลไทย มูลนิธิอันดามัน มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน องค์การออกแฟมประเทศไทยและสหภาพยุโรป เข้าร่วมให้ข้อมูลความรู้อีกด้วย
นายบัญชา สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมง กล่าว ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติว่า จากการที่สหรัฐอเมริกาได้ประกาศข้อกำหนดว่าด้วยการนำเข้าสินค้าประมงภายใต้กฎหมายว่าด้วยการนำเข้าสินค้าสัตว์น้ำเพื่อคุ้มครองสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม (MMPA) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินกฎระเบียบข้อบังคับการทำประมง การทำประมงเชิงพาณิชย์ของประเทศที่ส่งสินค้าสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำไปยังสหรัฐฯ ที่อาจส่งผลกระทบทำให้เกิดการตายหรือบาดเจ็บรุนแรงต่อสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม เช่น โลมา วาฬ พะยูน ฯลฯ
ทั้งนี้ สหรัฐฯ ได้ประกาศเริ่มใช้กฎหมาย MMPA เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2560 และกำหนดระยะเวลาผ่อนผัน 5 ปี เพื่อให้ประเทศคู่ค้าได้มีการเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติให้สอดคล้องกับกฎระเบียบ MMPA และจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2566 เป็นต้นไป โดยในช่วงระหว่างการผ่อนผันนี้ ประเทศที่ส่งออกสินค้าประมงไปยังสหรัฐอเมริกา รวมทั้งประเทศไทยยังคงส่งสินค้าประมงได้
ที่ผ่านมา กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีการขับเคลื่อนการดำเนินการผ่านคณะทำงาน
ชุดต่างๆ ซึ่งแต่งตั้งโดยคณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติ จำนวน 3 คณะ ประกอบด้วย 1. คณะอนุกรรมการป้องกัน แก้ไขปัญหา และประสานงานการปฏิบัติเกี่ยวกับผลกระทบของการทำประมงต่อสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม 2. คณะอนุกรรมการวิชาการเพื่อจัดทำข้อมูลสนับสนุนการแก้ไขปัญหาผลกระทบของการทำประมงต่อสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม
และ 3. คณะกรรมการเฉพาะกิจเจรจาแก้ไขปัญหาผลกระทบของการทำประมงต่อสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม เพื่อดำเนินการเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติตามกฎหมาย MMPA ให้ทันตามระยะเวลาที่กำหนด ทั้งนี้ ในการขับเคลื่อนการดำเนินการ คณะอนุกรรมการป้องกันฯได้แต่งตั้งคณะทำงานจัดส่งข้อมูลสำหรับการรายงาน โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศวิทยา เป็นประธานคณะทำงาน และกรมประมงได้เปิดประชุม ป. ปลา
เป็นห้องปฏิบัติการเฉพาะกิจเพื่อการบันทึกข้อมูลในระบบอิเล็กทรอนิกส์ International Affairs Information Capture and Reporting System, IAICRS คณะทำงานฯมีการปฏิบัติงานต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 9 พฤศจิกายน 2564จนกว่าการจะบันทึกข้อมูลแล้วเสร็จภายในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 โดยมีผู้บริหารกรมประมงกำกับและติดตามความก้าวหน้าในการทำงานอย่างใกล้ชิด
โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2564 ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ ครั้งที่ 5/2564 ซึ่งมีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ ได้มีมติเห็นชอบในหลักการของแผนปฏิบัติการระดับชาติเพื่อการอนุรักษ์และบริหารจัดการสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม พ.ศ. 2566 – 2570 และโครงการเร่งด่วนเพื่อการอนุรักษ์และบริหารจัดการสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม พ.ศ. 2564-2565
ตามที่ กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ทำการผลักดัน เพื่อใช้โอกาสในช่วงระยะเวลาที่สหรัฐฯผ่อนผัน ในการติดตามประเมินสถานภาพสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม การวางระบบรวบรวมข้อมูลสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนมจากการทำประมง การพัฒนากฎระเบียบ ข้อบังคับ หรือมาตรการที่เกี่ยวข้องในการลดการตายและการบาดเจ็บของ สัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนมจากการทำประมง เพื่อให้สอดรับกับกฎหมาย MMPA ของสหรัฐฯ
สำหรับแผนปฏิบัติการระดับชาติเพื่อการอนุรักษ์และบริหารจัดการสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม พ.ศ. 2566– 2570 ประกอบด้วย 5 กลยุทธ์ 19 แผนงาน 51 โครงการ ดังนี้ กลยุทธ์ที่ 1 การติดตามและประเมิน (Monitoring & Estimation) ประกอบด้วย 2 แผนงาน 8 โครงการ กลยุทธ์ที่ 2 การวิจัยและพัฒนา (Research & Development) ประกอบด้วย 5 แผนงาน 11 โครงการ กลยุทธ์ที่ 3 การอนุรักษ์และจัดการ (Conservation & Management) ประกอบด้วย 6 แผนงาน 11 โครงการ กลยุทธ์ที่ 4 การบังคับใช้ (Enforcement) ประกอบด้วย 3 แผนงาน 7 โครงการ กลยุทธ์ที่ 5 การสื่อสาร (Communication) ประกอบด้วย 3 แผนงาน 14 โครงการ
โดยมีโครงการเร่งด่วนที่ต้องเร่งดำเนินการเพื่อการอนุรักษ์และบริหารจัดการสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม พ.ศ. 2564 – 2565 จำนวน 8 โครงการ ได้แก่ 1. โครงการการใช้เทคโนโลยีสำรวจติดตามและประเมินจำนวนสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนมกลุ่มประชากรใกล้ฝั่งและไกลฝั่ง 2. โครงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อการปรับเปลี่ยนเครื่องมือประมงและวิธีการทำการประมงเพื่อป้องกันการติดโดยบังเอิญของสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม
3. โครงการการประเมินผลกระทบด้านสังคม เศรษฐกิจ การแก้ไขปัญหา การบรรเทาผลกระทบและการเยียวยาชาวประมง ผู้ประกอบการ และผู้มีส่วนได้เสียตลอดห่วงโซ่ 4. โครงการ การแก้ไขปัญหาเครื่องมือประมงที่มีผลกระทบต่อพะยูน 5. โครงการการพัฒนาระบบการออกใบอนุญาตทำการประมง (e-License) เพื่อรองรับมาตรการเพื่อการอนุรักษ์และบริหารจัดการสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม
6. โครงการการเพิ่มประสิทธิภาพระบบตรวจสอบย้อนกลับสินค้าสัตว์น้ำเพื่อรองรับ Marine Mammal Protection Act ของประเทศสหรัฐอเมริกา 7. โครงการการควบคุมเฝ้าระวังพื้นที่ทำการประมงในบริเวณพื้นที่เสี่ยงต่อสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม 8. โครงการการเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลสัตว์ทะเลหายากผ่านระบบการลาดตระเวนเชิงคุณภาพทางทะเล (Smart Marine Patrol) มีวงเงินงบประมาณรวม 225.9 ล้านบาท โดยมอบให้อนุกรรมการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย อ. 1 พิจารณารายละเอียดโครงการและงบประมาณต่อไป