ควบรวมธุรกิจโทรคมฯ กับสิ่งที่ประชาชนควรได้
การพิจารณาในแต่ละประเด็นควรมีหลักการพิจารณาบนผลประโยชน์ที่ประชาชนควรได้รับสูงสุด ไม่ปล่อยให้สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนี้เป็นแบบไร้การควบคุมที่ผู้ประกอบการจะทำะไรก็ได้ และท้ายที่สุดภาครัฐอาจต้องมาพิจารณาว่าจะมีแนวทางใดจูงใจหรือลดอุปสรรคการลงทุน
การประกาศเป็นพันธมิตรความร่วมมืออย่างเท่าเทียมกันที่จะนำมาสู่การควบบริษัทบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 22 พ.ย.2564 เป็นการปรับโครงสร้างธุรกิจเพื่อนำไปสู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยี หรือ เทคคอมพานี ซึ่งเป็นทิศทางการขับเคลื่อนธุรกิจของหลายบริษัทในปัจจุบัน และทำให้หลายบริษัทจำเป็นต้องปรับยุทธศาสตร์การทำธุรกิจเพื่อให้กิจการขยายต่อไปได้
กิจการโทรคมคมนาคมที่ครอบคลุมธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่และบรอดแบนด์เป็นกิจการที่ใช้เงินลงทุนสูง รวมถึงเป็นกิจการที่ต้องได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการคลื่นความถี่ ซึ่งทำให้เป็นการจำกัดจำนวนผู้ประกอบการที่จะเข้ามาสู่ตลาด และทำให้ในปัจจุบันมีผู้ประกอบการเพียงไม่กี่รายที่เข้ามาแข่งขันในตลาดนี้ ซึ่งคลื่นความถี่ถือเป็นหัวใจสำคัญที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะในยุคสมัยใหม่ที่ชีวิตเข้าไปเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีดิจิทัลเกือบทุกเรื่อง
ในอดีตที่เริ่มมีบริการโทรศัพท์มือถือมีค่าบริการอยู่ในระดับสูงมากเมื่อเทียบกับค่าครองชีพ โดยมีรูปแบบวิธีการคำนวณที่ทำให้ประชาชนต้องจ่ายเพิ่ม เช่น ค่าบริการรายเดือน 500 บาท ค่าโทรศัพท์ที่คำนวนตามระยะทาง ซึ่งเมื่อมีผู้ให้บริการเพิ่มมากขึ้นได้ทลายกำแพงดังกล่าวทำให้ค่าบริการที่เรียกเก็บจากผู้บริโภคถูกลงมหาศาล จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าประชาชนได้รับประโยชน์จากการการมีผู้เล่นในตลาดหลายรายจนเกิดภาวะสงครามราคาที่ทำให้ผู้บริโภคได้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ถูกลง
ภายหลังการรวมกิจการมีหลายประเด็นที่ผู้เกี่ยวข้องจะต้องพิจารณา โดยเฉพาะสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่มีกฎระเบียบเกี่ยวกับการควบรวมกิจการและอำนาจเหนือตลาดของกิจการโทรคมนาคม ซึ่งจำเป็นที่จะต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบ เพราะเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของผู้ใช้บริการของทั้ง 2 บริษัท รวม 51 ล้านคน รวมถึงช่วงรอยต่อของการรวมกิจการที่ผู้ใช้บริการกำลังมีความกังวล
การพิจารณาในแต่ละประเด็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงควรมีหลักการพิจารณาบนผลประโยชน์ที่ประชาชนควรได้รับสูงสุด และพิจารณาผลประโยชน์ที่ผู้ประกอบการควรได้รับตามสมควร ซึ่งไม่ปล่อยให้สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนี้เป็นแบบไร้การควบคุมที่ผู้ประกอบการจะทำะไรก็ได้ และท้ายที่สุดภาครัฐอาจต้องมาพิจารณาว่าจะมีแนวทางใดจูงใจหรือลดอุปสรรคการลงทุน เพื่อให้เกิดผู้เล่นรายใหม่เข้ามาในตลาดโทรคมนาคมของประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น