ทำความรู้จัก “บัญชี 600” ทางเลือกรับหุ้น IPO สำหรับผู้ไม่มีบัญชีหลักทรัพย์

ทำความรู้จัก “บัญชี 600”  ทางเลือกรับหุ้น IPO สำหรับผู้ไม่มีบัญชีหลักทรัพย์

ที่ผ่านมา มีผู้สนใจ “จองหุ้น IPO” โดยที่ยังไม่มีบัญชีหลักทรัพย์ หรือ ยังไม่ได้ “เปิดพอร์ต” แต่ในปัจจุบันผู้ที่ไม่มีบัญชีหลักทรัพย์ไม่ต้องเป็นห่วงประเด็นดังกล่าวอีก เพราะผู้ลงทุนสามารถเลือกรับหุ้นแบบ scripless ได้ โดยหุ้นที่ได้รับจัดสรรไปจัดเก็บอยู่ใน “บัญชี 600”  

ที่ผ่านมา มีผู้สนใจ “จองหุ้น IPO” หรือ หุ้นที่บริษัทจดทะเบียนออกเสนอขายแก่ประชาชนครั้งแรก (IPO) จำนวนมาก โดยที่ยังไม่มีบัญชีหลักทรัพย์ หรือ ยังไม่ได้ “เปิดพอร์ต” ดังนั้น เมื่อได้รับการจัดสรรหุ้นจึงต้องรับเป็น “ใบหุ้น” และไม่สามารถโอนหุ้นแบบไร้ใบหุ้น (scripless) เข้าพอร์ตได้ทันทีเหมือนผู้ลงทุนที่มีบัญชีหลักทรัพย์อยู่แล้ว ซึ่งอาจทำให้เกิดความไม่สะดวก เช่น ได้รับใบหุ้นล่าช้า ใบหุ้นสูญหายระหว่างการจัดส่ง หรือใช้เวลาในการแปลงใบหุ้นให้เป็นแบบ scripless

แต่ในปัจจุบันผู้ที่ไม่มีบัญชีหลักทรัพย์ไม่ต้องเป็นห่วงประเด็นดังกล่าวอีก เพราะผู้ลงทุนสามารถเลือกรับหุ้นแบบ scripless ได้ โดยหุ้นที่ได้รับจัดสรรไปจัดเก็บอยู่ใน “บัญชี 600”  

ทำความรู้จัก “บัญชี 600”  ทางเลือกรับหุ้น IPO สำหรับผู้ไม่มีบัญชีหลักทรัพย์

บัญชี 600 คืออะไร

บัญชี 600 คือ บัญชีที่บริษัทผู้ออกหลักทรัพย์ (Issuer Account) เปิดไว้กับบริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด (TSD) เพื่อเก็บรักษาหุ้นให้กับผู้ลงทุน ซึ่งบริษัทส่วนใหญ่ที่ทำ IPO หรือเสนอขายหลักทรัพย์ที่จะจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จะมีบัญชีนี้เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับ
ผู้ลงทุนที่ยังไม่มีบัญชีหลักทรัพย์ สามารถนำหลักทรัพย์มาฝากไว้ในบัญชีนี้ได้ เพียงแจ้งความประสงค์ใน
ใบจองหุ้น

ดังนั้น การได้รับหุ้นผ่านบัญชี 600 จะรวดเร็ว โดยเมื่อปิดการเสนอขายหุ้นต่อประชาชนทั่วไป ทางบริษัทจะดำเนินการจัดสรรหุ้นให้กับผู้ที่จองซื้อและชำระค่าจองซื้อแล้ว โดยผู้ได้รับการจัดสรรจะได้รับหุ้นเข้าบัญชี 600 เช่นเดียวกับผู้ที่รับหุ้นเข้าบัญชีหลักทรัพย์

บัญชี 600 ดีอย่างไร

ข้อดีของบัญชี 600 คือ ผู้ลงทุนไม่ต้องมีบัญชีหลักทรัพย์ก็ซื้อหุ้นที่เสนอขายได้ และหุ้นจะถูกเก็บรักษาไว้กับ TSD จนกว่าเจ้าของจะทำธุรกรรม

นอกจากนี้ ยังได้รับหุ้นรวดเร็วเทียบเท่ากับผู้ที่รับหุ้นเข้าบัญชีหลักทรัพย์ โดยไม่ต้องจัดส่งใบหุ้นทางไปรษณีย์ ซึ่งอาจล่าช้ากว่าที่คาดไว้ หรืออาจเกิดเหตุที่ทำให้ใบหุ้นชำรุดหรือสูญหาย ซึ่งการนำหุ้นเข้าบัญชี 600 จะไม่มีปัญหาเหล่านี้

อย่างไรก็ดี หากจะทำธุรกรรม เช่น ต้องการเปลี่ยนชื่อผู้ถือหรือขายหุ้นให้ผู้อื่น ก็สามารถดำเนินการผ่าน TSD หรือหากต้องการขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ สามารถโอนหุ้นจากบัญชี 600 เข้าบัญชีหลักทรัพย์ที่นักลงทุนไปเปิดกับบริษัทหลักทรัพย์ได้เช่นกัน

ซื้อขายหุ้นที่ฝากในบัญชี 600 ต้องทำอย่างไร

กรณีต้องการนำไปขายผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ ผู้ลงทุนต้องเปิดบัญชีหลักทรัพย์กับบริษัทหลักทรัพย์ แล้วมอบหมายให้กับบริษัทหลักทรัพย์ ทำเรื่องโอนหุ้นจากบัญชี 600 เข้าบัญชีหลักทรัพย์ของผู้ลงทุน เพราะการโอนหุ้นจากบัญชี 600 ต้องเข้าบัญชีหลักทรัพย์ในชื่อเดียวกันเท่านั้น และผู้ที่ต้องการขายหุ้นในวันแรกของการเปิดซื้อขายบนกระดาน (first day trading) ควรทำเรื่องโอนหุ้นจากบัญชี 600 เข้าบัญชีหลักทรัพย์ล่วงหน้า เพื่อความสะดวกในการซื้อขาย

กรณีตกลงขายหุ้นให้ผู้อื่นแบบเจาะจงนอกตลาดหลักทรัพย์ฯ > เจ้าของหุ้นและผู้ซื้อต้องไปทำเรื่องโอนหุ้นที่ TSD เพื่อเปลี่ยนชื่อเจ้าของหุ้นในบัญชี 600 เป็นชื่อผู้ซื้อหรือเจ้าของใหม่

เดินหน้าสู่ scripless 100%

ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ร่วมกับตลาดหลักทรัพย์
แห่งประเทศไทย (ตลท.) และสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย (
ASCO) ผลักดัน “การรับหุ้นแบบ scripless 100%” มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มทางเลือกและอำนวยความสะดวกให้กับผู้ลงทุน

ดังนั้น ผู้จองซื้อหุ้นจะมีทางเลือกรับหุ้นที่ได้รับจัดสรร 2 ทางเลือก ได้แก่ เข้าบัญชีหลักทรัพย์ และฝากไว้ที่บัญชี 600  

สำหรับผู้ลงทุนที่ต้องการได้รับใบหุ้น ยังสามารถทำเรื่องขอใบหุ้นได้ที่ TSD หลังจากที่ได้รับจัดสรรหุ้นในบัญชี 600 แล้ว

สำหรับผู้สนใจลงทุนควรศึกษาข้อมูลให้รอบด้าน และอ่านหนังสือชี้ชวนให้เข้าใจถ่องแท้ เช่น การระดมทุนนั้นนำเงินไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์ใด ที่สำคัญ ควรตรวจสอบการระดมทุนนั้นว่าได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต. หรือไม่ โดยสามารถตรวจสอบรายชื่อบริษัทที่ได้รับอนุญาต ผ่านแอปพลิเคชัน SEC Check First หรือเว็บไซต์ www.sec.or.th รวมทั้งสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ “ศูนย์บริการประชาชน ก.ล.ต.” โทร 1207 หรือผ่านช่องทางเฟซบุ๊กเพจ “สำนักงาน กลต.” หรือ SEC Live Chat ที่เว็บไซต์ ก.ล.ต.