"ความจริงที่ซ่อนอยู่" ในบิ๊กดีลโทรคม
ดีลสองทุนใหญ่ระหว่าง "เครือซีพี" และ "กลุ่มเทเลนอร์" ประกาศตั้งบริษัทร่วมทุน "ทรู" และ "ดีแทค" เป็นเทคคอมพานี ท่ามกลางข้อกังวลเรื่องการ "ผูกขาด" ที่ทำให้คนในประเทศตั้งคำถาม และรอคำตอบของ "ความจริง" ที่ยังซ่อนอยู่ในดีลนี้
ทุกครั้งที่มีการประกาศดีลใหญ่ หรือการ "ควบรวมกิจการ" (M&A) เหตุผลสำคัญทางธุรกิจ คือ ต้องการเพิ่มความสามารถสร้างขีดแข่งขันให้ธุรกิจเพิ่มขึ้น ลดต้นทุน เพิ่มความคล่องตัว เพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาด หลายบริษัทตัดสินใจรวมกัน เพื่อให้ได้มาซึ่งเครือข่ายที่ขยายขึ้น ฐานลูกค้าที่กว้างขึ้นในเวลาเพียงชั่วข้ามคืนยิ่งสองบริษัทมีผลิตภัณฑ์หรือบริการที่คล้ายกันการรวมกัน ช่วยลดต้นทุน ลดความซ้ำซ้อนลงได้มาก องค์กรมีความ Lean ขึ้น
แต่บางครั้งการรวมกิจการ ก็เป็นทางเลือกสุดท้ายที่จะทำให้ "บริษัท" สามารถอยู่รอดได้ หลายทศวรรษที่ผ่านมาเราเห็นการ M&A มาหลายวาระ มีทั้งกรณีที่ควบรวมแล้วไปได้สวยกับควบรวมแล้วส่งผลกระทบเกิดคำถามตามมามากมาย
ดีลใหญ่ที่เกิดขึ้นช่วงนี้ และได้รับความสนใจมากคือ ดีลระหว่างสองทุนใหญ่ คือ เครือเจริญโภคภัณฑ์ (เครือซีพี) และกลุ่มเทเลนอร์ ที่ประกาศเป็น Equal Partnership โดยให้ "ทรู" และ "ดีแทค" ซึ่งเป็นบริษัทลูกพิจารณาการควบรวม และตั้งบริษัทร่วมทุนปูทางสู่การเป็น "เทค คอมพานี" ภายใต้ยุทธศาสตร์เทคโนโลยีฮับ สร้างดิจิทัลอีโคซิสเต็ม กองทุนสตาร์ทอัพ
สอดรับยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 บริษัทใหม่ที่จะก่อตั้งร่วมกัน ระหว่างเครือเจริญโภคภัณฑ์ และกลุ่มเทเลนอร์ จะถือหุ้นในสัดส่วนที่เท่าเทียมกัน และเมื่อรวมกันแล้วจะส่งผลให้มีความแข็งแกร่ง ที่จะเดินหน้าลงทุนในนวัตกรรมระดับโลก รวมถึงบริการและผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อประโยชน์ของผู้บริโภคคนไทย
ทรู และ ดีแทค คือ ผู้ให้บริการโทรคมนาคมเบอร์ 2 และ เบอร์ 3 ในตลาด มีฐานลูกค้าที่หากควบรวมกันสำเร็จมากกว่า 50 ล้านราย ขณะที่สมรภูมิการแข่งขันในอุตสากรรมโทรคมไทย จะเหลือผู้เล่นรายใหญ่เพียงแค่ 2 รายเท่านั้น การควบรวมครั้งนี้ จึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะเกิดคำถามจากสังคม รวมถึงสิ่งที่ประกาศความร่วมมือออกไปนั้น จะสร้างประโยชน์ให้ประเทศได้จริงหรือไม่
ในไทยอุตสาหกรรมโทรคมใช้เงินลงทุนสูง ผู้เล่นในตลาดจึงมีไม่มาก กฏเกณฑ์ภาครัฐ และผู้กำกับดูแลก็ไม่ได้เอื้อ หรือเปิดทางให้เกิดผู้เล่นรายใหม่ได้ง่าย การเปิดเสรีโทรคมนาคมจึงเป็นเพียงคำพูด ที่ประเทศไทยไม่เคยเข้าใกล้ความเป็นจริง โทรคมไทยจึงอยู่ตกในภาวะกึ่งผูกขาดมาโดยตลอด
พลันที่เกิดดีลนี้ ข้อกังวลเรื่อง “อำนาจเหนือตลาด” หรือการ “ผูกขาด” จึงผุดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ยิ่งกฎเกณฑ์ที่ใช้กำกับดูแล องค์กรที่ทำหน้าที่คุมกติกาในขณะนี้ ไม่ได้อยู่ในภาวะที่เข้มแข็ง “กลุ่มทุนทั้งสองกลุ่ม” ก็ไม่สามารถทำให้สังคมเกิดความมั่นใจหรือพิสูจน์ให้เห็นได้ว่าดีลนี้ประเทศ และผู้บริโภคได้ประโยชน์อย่างไร หากปลายทางเกิดการควบรวมได้จริง อะไรจะเกิดขึ้นหลังจากนั้น
การผูกขาดในโลกธุรกิจ มีให้เห็นเป็นบทเรียนมากมาย โดยเฉพาะผลกระทบกับผู้บริโภคโดยตรง บริการที่ไม่ดีเหมือนเดิม ราคาค่าบริการที่แพงขึ้น การต่อรองลดลง ตลาดไม่เกิดการพัฒนาฯลฯ ดีลที่เกิดขึ้นล่าสุด ทั้งสองบริษัทนับเป็น กลุ่มทุนขนาดใหญ่ ที่ต่างฝ่ายต่างมี Corporate Governance ที่เข้มแข็ง แน่นอนว่าการขยับตัวในลักษณะนี้ จึงได้รับความสนใจ สังคมจำเป็นต้องตั้งคำถาม และรอคำตอบของ “ความจริง” ที่ยังซ่อนอยู่ในดีลนี้ รวมไปถึงความเข้มแข็งของกฎ กติกา การกำกับดูแลขององค์กรที่เกี่ยวข้อง ในเกมการแข่งขันของโลกธุรกิจยุคใหม่ที่ต้องตามให้ทัน