“ทรูควบรวมดีแทค” เสี่ยงก่อผลเสียอย่างไร ทำไมรัฐบาลต้องพิจารณาให้ดี

“ทรูควบรวมดีแทค” เสี่ยงก่อผลเสียอย่างไร ทำไมรัฐบาลต้องพิจารณาให้ดี

การควบรวมของผู้ให้บริการยักษ์ใหญ่ด้านโทรคมนาคมของไทย "ทรู-ดีแทค" ครั้งนี้ เสี่ยงก่อผลกระทบด้านลบหลายประการ ประชาชนในฐานะผู้บริโภค และรัฐบาลต้องใส่ใจ ดังกรณีศึกษาของ AT&T และ T-Mobile ที่รัฐบาลสามารถใช้ดูเป็นตัวอย่างได้ !

ข่าวการควบรวมระหว่าง “ทรูและดีแทค” ทำให้นึกถึงเหตุการณ์ 10 ปีก่อน ที่บริษัทยักษ์ใหญ่โทรคมนาคมของสหรัฐอเมริกา AT&T และ T-Mobile มีแผนจะควบรวมกัน แต่ถูกกระทรวงยุติธรรม สหรัฐฯ ระงับ เพราะเชื่อว่าส่งผลเสียต่อผู้บริโภค

บทความนี้จะเล่าว่า การควบรวมนี้เสี่ยงก่อผลเสียอย่างไรบ้าง ทำไมประชาชนและรัฐบาลต้องให้ความสำคัญ ในโลกเศรษฐกิจในทุกอุตสาหกรรม ไม่ว่าสินค้าหรือบริการใด การแข่งขันนำมาซึ่งประโยชน์อย่างน้อย 3 ข้อ

1.ช่วยให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์ ได้สินค้าราคาถูกลง คุณภาพดีขึ้น เพราะผู้ประกอบการต้องแข่งกันพัฒนาสินค้าเพื่อดึงดูดผู้บริโภค นอกจากนี้ การแข่งขันยังทำให้ผู้ประกอบการต้องสร้างสรรค์สินค้าใหม่ๆ เพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภคตลอดเวลา

2. เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม ทั้งนี้เพื่อให้ธุรกิจอยู่รอด ผู้ประกอบการต้องพัฒนาตัวเอง ต้องลงทุนด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ให้ได้สินค้าคุณภาพสูง ต้นทุนต่ำ ผ่านการผลิตที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น การวิจัยพัฒนาเพิ่มขึ้น ซึ่งสังคมพลอยได้ประโยชน์เพราะทรัพยากรถูกใช้คุ้มค่าขึ้น สิ้นเปลืองน้อยลง 

และ 3. การแข่งขันยังส่งผลดีต่อแรงงานในอุตสาหกรรมนั้น เพราะเอื้อให้ธุรกิจต้องแข่งกันดึงดูดและรักษาแรงงานทักษะสูง ผ่านการให้ค่าจ้างและสวัสดิการที่สูงขึ้น

ดังนั้น อุตสาหกรรมใดก็ตามที่มีการแข่งขันลดลง เสี่ยงก่อผลกระทบคือ ทำให้ผู้บริโภคเสียประโยชน์ สินค้าและบริการมีราคาสูงขึ้น คุณภาพด้อยลง ผู้บริโภคมีทางเลือกน้อยลง การใช้ทรัพยากรไม่มีประสิทธิภาพ การแข่งขันที่ลดลงยังกีดกันหรือเป็นอุปสรรคการเข้าสู่ตลาดของผู้ประกอบการรายใหม่ การผูกขาดในอุตสาหกรรมที่มากขึ้น ยังส่งผลในทางลบต่อค่าจ้างเฉลี่ยของแรงงานในอุตสาหกรรมนั้น เช่นทำให้ค่าจ้างลดลง หรือเพิ่มในอัตราที่ต่ำลง 

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณากรณีทรูและดีแทค พบว่าการควบรวมดังกล่าวเสี่ยงทำให้การผูกขาดเพิ่มขึ้นในทุกมิติ ไม่ว่า

1. ในเชิงสัดส่วนหมายเลยลูกค้า ทรูมี 32 ล้านเลขหมาย ดีแทคมี 19.3 ล้านเลขหมาย รวมฐานลูกค้าของ 2 ค่ายอยู่ที่ 51.3 ล้านเลขหมาย ขณะที่เอไอเอสมี 43.7 ล้านเลขหมาย การควบรวมทำให้บริษัทใหม่มีส่วนแบ่งตลาดของเลขหมายลูกค้าถึง 54% ของทั้งอุตสาหกรรม

2. ในเชิงสัดส่วนรายได้ ดูเฉพาะไตรมาส 1/2564 ทรูมีรายได้ 35,425 ล้านบาท ดีแทคมีรายได้ 20,516 ล้านบาท เอไอเอสมีรายได้ 45,861 ล้านบาท การควบรวมทำให้บริษัทใหม่มีส่วนแบ่งตลาดเชิงรายได้คิดเป็น 55% ของรายได้รวมทั้งอุตสาหกรรม

ดังนั้น ไม่ว่ามองจากมิติใด การควบรวมของทรูและดีแทค ทำให้การกระจุกตัวของอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น การแข่งขันลดลง เสี่ยงทำให้ราคาค่าบริการในอนาคตสูงขึ้น ลดแรงจูงใจของผู้ประกอบการในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม กระทบต่อการจ้างงานในอุตสาหกรรม และลดโอกาสผู้ประกอบการรายใหม่เข้าสู่ตลาด โดยเฉพาะสำหรับธุรกิจโทรคมนาคมที่ปกติผู้เล่นรายใหม่ก็เข้าสู่ตลาดยากอยู่แล้ว

กรณีควบรวมระหว่าง AT&T และ T-Mobile ที่ถูกรัฐบาลสหรัฐฯ ระงับ

ทั้งนี้เคยเกิดกรณีใกล้เคียงกันคือ ในปี 2011 คณะกรรมการกลางกำกับดูแลกิจการสื่อสาร และกระทรวงยุติธรรม สหรัฐอเมริกา เคยระงับคำขอควบรวมระหว่างบริษัท AT&T และ T-Mobile ซึ่งมีมูลค่าสัญญา 39,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งหากควบรวมสำเร็จ AT&T จะเป็นผู้ให้บริการโทรคมนาคมรายใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ มีฐานลูกค้า 130 ล้านคน โดยให้เหตุผลว่าการควบรวมดังกล่าว ลดการแข่งขันระหว่างผู้ให้บริการ จะนำไปสู่ค่าบริการที่สูงขึ้น คุณภาพบริการที่ด้อยลง และการพัฒนาเทคโนโลยีที่ลดลง ซึ่งทั้งหมดทำให้ผู้บริโภคเสียประโยชน์ การควบรวมดังกล่าวจึงถูกยกเลิกไป

การได้มาซึ่งกำไรที่เพิ่มขึ้นของธุรกิจ จึงไม่ควรมาจากส่วนแบ่งตลาดที่เพิ่มขึ้น จากการร่วมมือกับคู่แข่ง การควบรวมกับคู่แข่ง หรือการกีดกันไม่ให้มีคู่แข่งรายใหม่ ซึ่งทั้งหมดนี้ส่งผลลบต่อเศรษฐกิจและสังคม ผู้บริโภคเสียประโยชน์

ถามว่า การที่ธุรกิจจะมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้น เป็นเรื่องไม่ดีในทุกกรณีหรือ? มีกรณีไหนที่ดีหรือเปล่า?

การที่ในอุตสาหกรรมใด ธุรกิจสักรายจะมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้น กรณีดังกล่าวจะไม่เป็นปัญหาเลย ถ้าส่วนแบ่งตลาดที่เพิ่มขึ้น มาจากธุรกิจมีนวัตกรรมใหม่ๆ มีสินค้าว้าวๆ มีบริการเจ๋งๆ ช่วยเพิ่มคุณค่าให้ผู้บริโภค ไม่ใช่มาจากการควบรวมกิจการแบบทื่อๆ 

ในทางปฏิบัติ สำหรับอุตสาหกรรมที่มีผู้ประกอบการน้อยราย แม้ไม่มีการควบรวมกัน อุตสาหกรรมนั้นก็เสี่ยงแข่งขันต่ำ ผ่านการฮั้วหรือตกลงกันโดยพฤตินัยของผู้ประกอบการ เช่น แอบฮั้วกำหนดราคาเพื่อไม่ต้องแข่งกันลดราคา จำกัดปริมาณการผลิตร่วมกันเพื่อควบคุมปริมาณให้ต่ำกว่าความต้องการ หรือจำกัดการขึ้นค่าจ้างแรงงานในอุตสาหกรรมอยู่แล้ว

ผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระยะยาว

การควบรวมของทรูและดีแทค ยังไม่เอื้อต่อเศรษฐกิจยุคดิจิทัล เสี่ยงส่งผลลบต่อการแข่งขันในอุตสาหกรรมอื่นที่เกี่ยวข้อง และความสามารถทางการแข่งขันของเศรษฐกิจประเทศในระยะยาว ตัวอย่างเช่น

1. ในยุคของการใช้ประโยชน์ของข้อมูลข่าวสาร หรือ Big Data การที่ธุรกิจรายเดิมผูกขาดข้อมูลมาก ยิ่งทำให้การแข่งขันจากธุรกิจรายใหม่ทำได้ยาก โดยเฉพาะธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม ที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลโดยตรง ยิ่งทำให้ธุรกิจรายใหม่เข้ามาให้บริการหรือแข่งขันยากขึ้น 

2. การผูกขาดในส่วนใดส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) มักนำไปสู่การผูกขาดในส่วนอื่นของห่วงโซ่อุปทานด้วย การควบรวมของผู้ประกอบการโทรคมนาคมสองรายข้างต้น ซึ่งมีธุรกิจในห่วงโซ่อุปทานจำนวนมาก เสี่ยงนำไปสู่การผูกขาดในสินค้าและบริการอื่นๆ ของห่วงโซ่อุปทานเพิ่มขึ้น

3. ในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล ที่การใช้ชีวิตประชาชนและการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการทุกรายพึ่งพาเครือข่ายโทรคมนาคม การแข่งขันที่ลดลง เสี่ยงนำไปสู่ต้นทุนที่สูงขึ้นของประชาชน ธุรกิจ และเศรษฐกิจโดยรวม กระทบการแข่งขันของประเทศ

กล่าวโดยสรุป การควบรวมของผู้ให้บริการยักษ์ใหญ่ด้านโทรคมนาคมของไทยครั้งนี้เสี่ยงก่อผลกระทบด้านลบหลายประการ ประชาชนในฐานะผู้บริโภค และรัฐบาลต้องใส่ใจ ดังกรณีศึกษาของ AT&T และ T-Mobile ที่รัฐบาลสามารถใช้ดูเป็นตัวอย่าง ทั้งประเด็นผลกระทบหากมีการควบรวม และการตัดสินใจของรัฐบาลในการยึดเอาประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง