กยท. ผงะ โรคใบยางร่วงลามพื้นที่ตะวันออก จันทบุรี – ตราด 100ไร่

กยท. ผงะ โรคใบยางร่วงลามพื้นที่ตะวันออก จันทบุรี – ตราด 100ไร่

กยท. พบการระบาดโรคใบร่วงชนิดใหม่ ล่าสุดในพื้นที่ภาคตะวันออก จันทบุรี – ตราด 100 ไร่ คาดเชื้อมาตามอากาศ เร่งฉีดพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดโรค พร้อมเฝ้าสังเกตการณ์ใกล้ชิด

นายกฤษดา สังข์สิงห์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยยาง  เปิดเผยว่า  มีรายงานการระบาดของโรคใบร่วงชนิดใหม่ พื้นที่ภาคตะวันออกของประเทศ ในจังหวัดจันทบุรี – ตราด คาดว่าเชื้อระบาดผ่านทางอากาศในช่วงฝนตกและมีลมกรรโชกแรง โดยเชื้อรานี้สามารถเข้าทำลายและ ฝังตัวอยู่ได้ทั้งในใบบนต้น กิ่งก้าน ใบที่ร่วงหล่นบนพื้นดิน รวมถึงพืชอื่นๆ ในสวนยาง เบื้องต้นจากการรายงานพบว่าขณะนี้มีการระบาดอยู่ในพื้นที่ประมาณ 100 ไร่ ซึ่ง กยท. ได้เร่งดำเนินการเข้าตรวจสอบและควบคุมอย่างเร่งด่วน รวมถึงฉีดพ่นสารเคมีเพื่อกำจัดและป้องกันการแพร่กระจายแล้ว เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้ปลูกยางพารามากกว่าเดิม

         อย่างไรก็ตามเกษตรกรชาวสวนยางในพื้นที่ ควรสังเกตการณ์สวนยางของตนเองอย่างใกล้ชิดในช่วงนี้ หากพบอาการผิดปกติ ให้แจ้ง กยท. ในพื้นที่เพื่อเข้าตรวจสอบและฉีดพ่นยาเพื่อรักษา และหมั่นใส่ปุ๋ยดูแลรักษาต้นยางให้มีสภาพสมบูรณ์แข็งแรงเพื่อให้ต้นยางต้านทานต่อโรค

            สำหรับโรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพารา เกิดระบาดครั้งแรกในประเทศอินโดนีเซีย จังหวัดสุมาตราใต้ เมื่อปี 2560 และในปีเดียวกันช่วงเดือนพฤศจิกายน พบการระบาดในรัฐยะโฮร์ ประเทศมาเลเซีย ส่วนประเทศไทยพบรายงานการระบาดครั้งแรกเมื่อปลายปี 2562 ที่จังหวัดนราธิวาส และเริ่มระบาดเพิ่มขึ้นในพื้นที่จังหวัดอื่นๆ ทางภาคใต้ ยกเว้นจังหวัดชุมพรและจังหวัดภูเก็ต

สาเหตุที่ทำให้เกิดการอุบัติของโรคใหม่ในยางพาราประกอบด้วย 3 ปัจจัย ได้แก่ เชื้อสาเหตุของโรค พืชอ่อนแอ และสภาพแวดล้อมเอื้ออำนวยให้เกิดโรค ดังนั้น การจัดการหรือการควบคุมไม่ให้พืชเป็นโรค ทำได้โดยการควบคุมทั้ง 3 ปัจจัยนี้ โดยการควบคุมไม่ให้มีเชื้อสาเหตุของโรค ควบคุมไม่ให้พืชอ่อนแอ และควบคุมสภาพแวดล้อมไม่ให้เหมาะกับการเกิดโรค

ส่วนการควบคุมโรคทำได้หลายวิธี อาจใช้วิธีเดียวหรือหลายวิธีร่วมกันก็ได้ เรียกว่าการควบคุมโดยวิธีผสมผสาน ซึ่งเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพมาก นอกจากช่วยลดต้นทุนการผลิตแล้วยังช่วยเพิ่มความปลอดภัยมากยิ่งขึ้นด้วย

การยางแห่งประเทศไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการมาตรการต่างๆ ในการแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพารา ดังนี้

 

กยท. ผงะ โรคใบยางร่วงลามพื้นที่ตะวันออก จันทบุรี – ตราด 100ไร่

มาตรการป้องกัน

1. กิจกรรมสำรวจ ติดตาม และเฝ้าระวังเตือนภัย

- การสำรวจและรายงานการระบาดทางภาคพื้นโดย กยท. ในพื้นที่

- การประเมินพื้นที่ใบร่วงของยางพารา ผ่านการแปลภาพถ่ายดาวเทียม ร่วมกับ GISTDA

- การใช้เทคโนโลยีด้าน Remote sensing (กล้อง Multispectral ติดตั้งไปกับอากาศยานไร้คนขับ) สำรวจความรุนแรงในพื้นที่เกิดโรค สร้างแบบจำลอง (model) การเกิดโรค ศึกษาสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเกิดโรค และจัดทำระบบเตือนภัยผ่านเครือข่ายออนไลน์

2. กิจกรรมศึกษาวิจัยเพื่อการควบคุมโรค

- การศึกษาหาเชื้อสาเหตุ ซึ่งพบว่าเกิดจากเชื้อรา Colletotrichum sp.

- การศึกษาป้องกันกำจัดโรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพาราแบบผสมผสาน ใช้ทั้งยาป้องกันกำจัดเชื้อโรค ชีวภัณฑ์ในการควบคุมโรค และการจัดการ ดูแลรักษาแปลง

- การทดสอบประสิทธิภาพสารป้องกันกำจัดเชื้อโรค ได้แก่ คาร์บินดาซิม โพรพิโคนาโซล โพรพิโคนาโซล+ไดฟิโนโคนาโซล โพรคลอราช เป็นต้น และเครื่องมือพ่นยาป้องกันกำจัดโรค ได้แก่ อากาศยานไร้คนขับชนิดปีกหมุน (โดรน) อากาศยานไร้คนขับชนิดปีกหมุนเดี่ยว (คอปโดรน) แอร์บล๊าส ปั๊มลากสาย เป็นต้น

- การทดสอบระบบการเจาะและอัดยาเข้าทางลำต้นในการควบคุมโรคในต้นยาง

3. การพัฒนาพันธุ์ยางต้านทาน ด้วยการทดสอบความสามารถในการต้านทานต่อโรคใบร่วงชนิดใหม่ของพันธุ์ยางตามคำแนะนำ จำนวน ๓๘ สายพันธุ์ เช่น BPM1 PB235 RRIT3904

4. กิจกรรมการประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ จัดทำคู่มือ เอกสารแผ่นพับ อินโฟกราฟฟิค ความรู้และการป้องกันกำจัด ผ่านช่องทางต่าง การอบรมครูยางอาสา การประชุม สัมมนา แลกเปลี่ยนความรู้ทั้งในและต่างประเทศ

            มาตรการควบคุมเชื้อ

1. กิจกรรมสนับสนุนเครื่องมืออุปกรณ์พ่น สารเคมี และปุ๋ย โดยใช้งบกองทุนพัฒนายางพารา มาตรา 49 (3) ดำเนินการไปแล้วไม่น้อยกว่า 16,000 ไร่

2. กิจกรรมสนับสนุนการใช้ชีวภัณฑ์ในการฟื้นฟูต้นยาง และควบคุมโรคใบร่วงชนิดใหม่ ได้แก่ มรย.1 และมรย.2 ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ดำเนินการในพื้นที่ 10,000 ไร่ และสนับสนุนชีวภัณฑ์เชื้อรา สารกระตุ้นทางชีวภาพแพลนท์จี สารกระตุ้นทางชีวภาพแพลนท์จี เฟอร์ตี้ ร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ดำเนินการในพื้นที่ 12,000 ไร่

            มาตรการพื้นฟูเกษตรกร

กิจกรรมพัฒนาอาชีพเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อยเพื่อความยั่งยืน ด้วยการปรับเปลี่ยนเป็นการปลุกพืชอื่นแทนยางพาราในพื้นที่ที่โรคระบาดรุนแรง เป้าหมาย 19,500 ไร่ โดยการยางแห่งประเทศไทยสนับสนุนเงินทุนไร่ละ 10,000 บาท