กรุงไทย เร่งเดินยุทธศาสตร์’สปีดโบ๊ท’จับมือพันธมิตร ตั้งบริษัทใหม่ ธ.ค.นี้
กรุงไทยจ่อเปิดบิ๊กดีลครั้งใหญ่ ผ่านการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับพันธมิตรต่างชาติ ต้นธ.ค.นี้ ชี้หนุนให้เกิดการปฏฺิวัติองค์กรครั้งใหญ่อย่างรุนแรงและรวดเร็ว ภายใต้ยุทธ์ศาสตร์เรือเร็วของธนาคาร หวังสร้างศักยภาพการเติบโตแบงก์อย่างมีเสถียรภาพ
นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ราว 2 สัปดาห์ข้างหน้า หรือราวต้นธ.ค. ที่จะถึงนี้ ธนาคารจะมีการเปิดตัวการลงทุนครั้งใหญ่ ร่วมกับพันธมิตรต่างชาติรายใหม่ โดยจะเป็นการร่วมทุน ผ่านการจัดตั้งบริษัทร่วมทุน ซึ่งอยู่ภายใต้แผนการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ของธนาคาร ผ่าน เรือเร็ว หรือ Speed boat
อย่างไรก็ตามการตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมาครั้งนี้ จะถูกตั้งขึ้นมา ภายใต้ โฮลดิ้ง หรือบริษัทลูกของธนาคาร ที่มีอยู่แล้ว ซึ่งโฮลดิ้งที่ธนาคารถือหุ้นอยู่ในปัจจุบัน คือ บริษัท กรุงไทยแอดไวซ์เซอรี่ จำกัด( KTBA) ที่ล่าสุดธนาคารถือหุ้น 75.99% ขณะที่บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด(มหาชน)KTC ถือหุ้นอยู่ที่ 24%
โดยรูปแบบการตั้งร่วมทุนครั้งใหม่ จะมีลักษณะจะคล้ายกับที่ธนาคาร ตั้งบริษัท อินฟินิธัส บาย กรุงไทย ที่ธนาคารถือหุ้น 100% โดยตั้งขึ้นมาเพื่อให้ขับเคลื่อนธุรกิจธนาคารในลักษณะเรือเร็ว
“โฮลดิ้งของธนาคารมีอยู่แล้ว วันนี้เรามีบริษัทแอดไวซ์เซอรี่ ที่แบงก์ถือหุ้น 2ใน 3 ซึ่งโฮลดิ้งตัวนี้ ก็มีลูกอันแรกคือ อินฟินิธัส บาย กรุงไทย ดังนั้นในระยะข้างหน้า ก็จะเห็นบริษัทใหม่ๆแตกขึ้นมาอีก จากโฮลดิ้งที่มีอยู่แล้ว เพื่อหาการเติบโตใหม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ธนาคารพูดมาโดยตลอด ภายใต้ speed boat และ carrier ซึ่งหน้าที่ของสปีทโบ๊ทคือ การไปหาแผ่นดินใหม่ๆ ไปหาธุรกิจใหม่ๆ ลองผิดลองถูก นั้นคือเหตุผลที่เราต้องแตกยอดออกมา โฮลดิ้งของเราก็จะแตกสปีทโบ๊ทออกมาเรื่อยๆ นี่คือโครงสร้างที่เราวางไว้”
อย่างไรก็ตาม การจับมือร่วมกับพันธมิตรครั้งใหญ่ครั้งนี้ เชื่อว่าจะนำไปสู่ ความเป็นไปได้ ที่จะทำให้กรุงไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงและรวดเร็ว บนโลกใหม่ ซึ่งจะทำให้เกิดการปฏิวัติ การปรับเปลี่ยนทุกเรื่องของธนาคารกรุงไทย ทั้งในแง่การทำธุรกิจ การทำธุรกรรมของแบงก์ต่างๆ
ซึ่งนอกจากจะหนุนให้ธนาคารเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วแล้ว อีกด้านจะเข้ามาช่วยหนุนการเติบโตให้กับธนาคารต่อเนื่อง อย่างมีเสถียรภาพและแน่นอนมากขึ้น
“การจับมือครั้งนี้ จะทำให้เกิดการปฏิวัติครั้งสำคัญของกรุงไทย คำว่าพันธมิตรคือ ทั้งคู่ก็ต้องมี การสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Creation) ในการต่อท่อเข้ามา เพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทุกเรื่องกับธนาคาร ทั้งการเปลี่ยนแปลงของการทำธุรกิจของแบงก์ การทำธุรกรรมของแบงก์ ซึ่งที่จะประกาศในเร็วๆนี้ จะเน้นทำให้เกิดการเติบโตต่อเนื่อง อย่างมีเสถียรภาพและแน่นอน มากกว่าสไตล์ที่หวือหวา จะหกคะเมนตีลังกาคงไม่ใช่ แต่เราเน้นโตแบบมีเสถียรภาพ”
อย่างไรก็ตาม มองว่าการลงทุนร่วมกันครั้งนี้ ถือเป็นเรื่องปกติ ทุกแบงก์ต้องปรับเปลี่ยน ต้องฉกฉวยวิกฤติให้เป็นโอกาส ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นอยู่แล้ว ซึ่งธนาคารกรุงไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น ทุกแบงก์สู้หมด และมีจุดแข็งที่แตกต่างกัน และทุกแบงก์ก็พยายามยึดโยงจากจุดแข็งของตัวเอง เพื่อสร้างโอกาสใหม่ๆ ซึ่งครั้งนี้ ก็เป็นการใช้ดีสรับชั่นให้เป็นโอกาสสำหรับธนาคารกรุงไทย
"การมองว่า การหาพาสเนอร์ เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ การที่เราจะฝังตัวไปกิจกรรมหลักของลูกค้า จำเป็นต้องgo beyond ทุกสถาบันการเงินเหมือนกัน เราไม่สามารถรู้จริง ดังนั้นการหาพันธมิตรคือความท้าทายของทุกธุรกิจ เพื่อสร้างความต่อเนื่องและเติมเต็ม Digital Connectivity ซึ่งจะเห็นการต่อยอดออกไปเรื่อยๆ ทุกอย่างอยู่ในยุทธ์ศาสตร์คู่ขนานของธนาคาร"