สศช.แนะปรับฐานข้อมูลบัตรคนจนทุกปี พร้อมเพิ่มกลไกสร้างรายได้
“สศช.” แนะรัฐบาลปรับฐานข้อมูลผู้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐทุกปี เพื่อให้สามารถช่วยเหลือได้ถูกต้องตรงจุด แนะเพิ่มกลไกในการช่วยยกระดับรายได้ผู้มีรายได้น้อย เพิ่มอบรม เสริมทักษะดิจิทัล และปรับโครงสร้างหนี้ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำได้ง่ายขึ้น
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ “สภาพัฒน์” กล่าวถึงมาตรการการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยในโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่จะมีการเปิดลงทะเบียนรอบใหม่ในต้นปี 2565 ว่านโยบายดังกล่าวเป็นการดูแลประชาชนผู้มีรายได้น้อยซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องเข้าไปให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้น ซึ่งมีการทำมาต่อเนื่องหลายปีงบประมาณ
ทั้งนี้นโยบายนี้สามารถที่จะเป็นนโยบายระยะยาวต่อเนื่องไปได้แต่ภาครัฐเองต้องดำเนินการเพิ่มเติมในเรื่องของการปรับปรุงฐานข้อมูลของผู้มีรายได้น้อยให้เป็นปัจจุบัน ซึ่งนโยบายในลักษณะนี้ต้องมีการปรับปรุงฐานข้อมูลทุกปีเพื่อให้การใช้เงินในโครงการตรงกับวัตถุประสงค์ที่ต้องการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยให้ได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐได้ตรงจุดมากที่สุด ทั้งนี้ในการให้มีการลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยรอบใหม่ในช่วงต้นปี 2565 ถือว่ามีความเหมาะสมเนื่องจากครั้งล่าสุดที่ให้มีการลงทะเบียนคือ ในช่วงปี 2562 ก่อนที่จะเกิดสถานการณ์โควิด-19 โดยในการลงทะเบียนรอบใหม่ กระทรวงการคลัง จะมีการนำเอาฐานข้อมูลรายได้ของครัวเรือนมาพิจารณาด้วย เพื่อให้สามารถช่วยเหลือครัวเรือนยากจนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ซึ่งจะต้องดูว่าเกณฑ์ที่ออกมาสุดท้ายแล้วจะมีการกำหนดเงื่อนไขอย่างไรบ้าง
นอกจากนี้สิ่งที่รัฐบาลควรดำเนินการก็คือ การเพิ่มโครงการ หรือกลไกที่จะช่วยให้ผู้มีรายได้น้อยสามารถเพิ่มรายได้ โดยอาจเป็นการเพิ่มทักษะการทำงานที่ตรงกับสถานการณ์ในปัจจุบัน และตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานที่จะช่วยให้ผู้มีรายได้น้อยมีรายได้เพิ่มขึ้น
“ในเชิงนโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐสามารถที่จะเป็นนโยบายระยะยาวได้ เพราะภาครัฐก็มีหน้าที่ ที่จะต้องดูแลผู้ที่มีรายได้น้อยอยู่แล้ว แต่ก็สองส่วนคือ ภาครัฐต้องมีกลไกให้ผู้มีรายได้น้อยสามารถยกระดับรายได้ ขณะที่ผู้มีรายได้น้อยก็ต้องมีความพยายามที่จะพัฒนาทักษะ ความรู้ต่างๆ เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับตัวเองด้วยเพื่อขยับรายได้มากขึ้นด้วย”
นางสาวจินางค์กูร โรจนนันต์ รองเลขาธิการ สศช. กล่าวว่า สถานการณ์ความยากจนในประเทศไทยที่ สศช. มีการติดตามสถานการณ์พบว่าในปี 2563 ที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีคนจนที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนที่กำหนดไว้ที่ 2,762 บาทต่อเดือน รวมทั้งสิ้น 4.8 ล้านคน เพิ่มขึ้น 5 แสนคนจากปี 2562 ซึ่งถือว่าเพิ่มขึ้นไม่มากนักเมื่อเทียบกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปี 2563 ที่หดตัว 6.1%
อย่างไรก็ตาม การที่จำนวนคนจนที่ไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก มาจากมาตรการช่วยเหลือเยียวยาของภาครัฐในช่วงที่ผ่านมาที่ครอบคลุมประชาชนกว่า 40 ล้านคน ในชุดมาตรการต่างๆ ซึ่งคิดเป็นการช่วยเหลือเฉลี่ยทั้งปี 13,473 บาทต่อคนต่อปี หรือเฉลี่ย 1,123 บาทต่อคนต่อเดือน หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 40% ของเส้นความยากจน
“จากสถานการณ์โควิด -19 ที่กระทบต่อคนในวงกว้าง ทำให้ต้องใช้งบประมาณมาก การช่วยเหลือเยียวยา โดยในปี 2563 เฉพาะโครงการช่วยเหลือเยียวยาตาม พ.ร.ก. เงินกู้ฯ ใช้งบไปทั้งสิ้น 7.09 แสนล้านบาท ขณะที่ในปี 2564 ซึ่งเป็นปีที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือเยียวยาแล้ว 1.36 แสนล้านบาท ทั้งนี้ หากสถานการณ์รุนแรงขึ้น อาจทำให้รัฐต้องออกช่วยเหลือเยียวยาเพิ่มขึ้นซึ่งจะเป็นการเพิ่มภาระทางการคลัง และเป็นข้อจำกัดต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจในอนาคต”
ในส่วนของการให้ความช่วยเหลือเพิ่มรายได้และแรงงานและผู้มีรายได้น้อย ให้มีโอกาสพัฒนาทักษะ และเพิ่มรายได้ใน 3 ข้อที่สำคัญคือ
1. ต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะ และการฝึกอบรมเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งต้องมีกลไกที่เชื่อมโยงกับความต้องการของตลาด
โดยเฉพาะผู้ว่างงานที่ว่างงานเป็นระยะเวลานาน ทั้งนี้แม้ว่าปัจจุบันจะมีการฝึกอบรมออนไลน์ของภาครัฐและเอกชน ทั้งที่มีค่าใช้จ่ายและไม่เสียค่าใช้จ่าย หากระบบการฝึกอบรมมีการเชื่อมโยงกับตำแหน่งงานจะช่วยอำนวยความสะดวกให้แรงงานสามารถพัฒนาทักษะได้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน และหางานได้ง่ายขึ้น
2. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโครงข่ายอินเทอร์เน็ตให้มีความพร้อม และสามารถเข้าถึงได้จะช่วยทั้งการอำนวยความสะดวกให้ผู้ได้รับผลกระทบเข้าถึงการช่วยเหลือเยียวยาได้มากขึ้น รวมทั้งยังสนับสนุนการเรียนการสอน การพัฒนาทักษะ และการหารายได้ แม้รัฐบาลจะมีโครงการเน็ตประชารัฐเน็ตห่างไกล และเน็ตชายขอบ ที่กระจายไป 44,352 แห่ง แต่ยังเข้าไม่ถึงครัวเรือน อีกทั้งยังมีต้นทุนสูงเมื่อเทียบกับรายได้ของคนจน ซึ่งเป็นข้อจำกัดที่สำคัญของคนจนในการเข้าถึงสวัสดิการและการเรียนรู้ออนไลน์ต่างๆ ซึ่งต้องมีการพัฒนาในส่วนนี้
และ 3. การปรับโครงสร้างหนี้ และส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งทุนที่มีดอกเบี้ยต่ำ เพื่อประกอบอาชีพ ร่วมกับการฝึกอบรมอาชีพ และยกระดับทักษะทางการเงิน จะมีส่วนช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับครัวเรือน และสร้างโอกาสในการหารายได้ให้กับแรงงานมากขึ้นด้วย
พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์ ศิลาวงษ์