เคแบงก์ ผนึก 5 โรงพยาบาลรัฐ พัฒนา Digital Healthcare Platform เต็มรูปแบบ
กสิกรไทย ร่วมขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สู่การเป็น “Smart Hospital” กับโรงพยาบาลรัฐ 5 แห่ง พัฒนา Digital Healthcare Platform เต็มรูปแบบ ตั้งเป้ายอดดาวน์โหลดจากผู้ใช้บริการโรงพยาบาลรัฐกว่า 1 ล้านราย จากจำนวนผู้ป่วยนอกรวม 4 ล้านรายให้เข้าถึงบริการด้านสุขภาพ
นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย เผยว่า ธนาคารกสิกรไทย มุ่งมั่นมีบทบาทต่อการพัฒนาและขับเคลื่อนทุกภาคส่วนของสังคมไทย ด้วยการนำดิจิทัลเทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญในการพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์ม เพื่อให้เกิดนวัตกรรมที่สามารถอำนวยประโยชน์สูงสุดให้กับสังคมไทย
โดยโรงพยาบาลเป็นหน่วยงานสำคัญที่มีบทบาทต่อการส่งเสริมสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทยทุกคน ความร่วมมือกับโรงพยาบาลในการพัฒนา Digital Healthcare Platform จึงมุ่งเน้นการช่วยลดภาระของโรงพยาบาล และเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการกับคนไข้และผู้ที่มาใช้บริการของโรงพยาบาล ที่มีผู้ใช้บริการในแต่ละวันเป็นจำนวนมาก
โดยธนาคารได้พัฒนาแอปพลิเคชันสำหรับคนไข้ด้วยระบบบริการสุขภาพดิจิทัลที่เชื่อมโยงระบบนิเวศน์การใช้บริการและการบริหารจัดการของโรงพยาบาลให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังสอดคล้องกับวิถีนิวนอร์มอลที่เป็นผลจากสถานการณ์แพร่ระบาดเชื้อโควิด-19
“ธนาคารได้นำความเชี่ยวชาญการพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลมาใช้สำหรับการพัฒนาแอปพลิเคชันให้กับแต่ละโรงพยาบาล โดยประกอบด้วย 3 แกนหลักที่ตอบโจทย์ทั้งผู้ใช้บริการและผู้ให้บริการ ได้แก่ 1) การวางโครงสร้างการเชื่อมต่อข้อมูลจากฐานข้อมูลกลางของโรงพยาบาล (Hospital Information System: HIS) มาแสดงที่แอปพลิเคชันและแพลตฟอร์ม เพื่อให้แสดงผลได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว ช่วยลดขั้นตอนและเวลาทำงาน 2) การสร้างประสบการณ์การเข้ารับบริการที่โรงพยาบาล ผ่านแอปพลิเคชันที่ใช้งานที่ง่าย รวดเร็ว สามารถทำได้ด้วยตนเอง ทั้งในและนอกสถานที่ของโรงพยาบาล และ 3) การเชื่อมโยงระบบชำระเงินและบริการทางเงินต่าง ๆ โดยในอนาคตจะมีการพัฒนาฟีเจอร์ให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น เพื่อนำไปสู่เป้าหมายการเป็น Smart Hospitalและตอบโจทย์ผู้ใช้บริการ 4 ล้านราย ให้สามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพที่สะดวก รวดเร็ว และลดเสี่ยงจากโควิด-19” นางสาวขัตติยา กล่าว
โดยแอปพลิเคชันที่ธนาคารกสิกรไทยได้ร่วมพัฒนากับโรงพยาบาลรัฐ 5 แห่ง ได้แก่ 1) แอป Chula Care โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย 2) แอป CBH PLUS โรงพยาบาลชลบุรี 3) แอป TUH for All โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ 4) แอป RJ Connectโรงพยาบาลราชวิถี และ 5) แอป NIT PLUS สถาบันประสาทวิทยา สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชันของโรงพยาบาลแต่ละแห่งได้ที่ App Store หรือ Play Store โดยมีบริการสำคัญ 7 ฟีเจอร์หลักที่ธนาคารร่วมพัฒนา* ได้แก่
1. บริการตรวจสอบสิทธิ์ - เชื่อมต่อกับฐานข้อมูลของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้ผู้ป่วยเช็คสิทธิ์รักษาพยาบาล 3 กองทุน ทั้งบัตรทอง ประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ
2. บริการนัดหมาย - ทำนัดหมาย และแสดงข้อมูลรายการนัดหมายพร้อมส่งข้อความแจ้งเตือน
3. บริการใบนำทาง – รู้ลำดับการเข้ารับบริการ ทั้งขั้นตอนการเข้าพบแพทย์ พยาบาล ชำระเงิน รับยา ตรวจ X-ray เจาะเลือด ตรวจแลป เป็นต้น
4. บริการชำระเงิน - รองรับการชำระเงินทั้งผ่านแอป K PLUS, สแกน Thai QR Code, บัตรเครดิต, บัตรเดบิต
5. บริการบริจาคเงิน - อำนวยความสะดวกให้ผู้ประสงค์ที่จะบริจาคเงินสมทบแก่โรงพยาบาล
6. ข้อมูลข่าวสาร – นำเสนอข้อมูลข่าวสารของโรงพยาบาล ข้อมูลด้านสุขภาพ
7. ข้อมูลแผนที่ – แสดงแผนที่ตั้งอาคาร คลีนิก ศูนย์อาหาร ร้านค้า ในโรงพยาบาล
เมื่อเร็ว ๆ นี้ ธนาคารกสิกรไทย ร่วมกับกรุงเทพมหานคร และสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อพัฒนาแอปพลิเคชันในรูปแบบ Single App สำหรับใช้กับผู้ป่วยของโรงพยาบาลในสังกัดสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร 11 แห่ง โดยแอปพลิเคชันจะพร้อมให้บริการภายในต้นปี 2565