“กรุงศรี” ตั้งเป้าหมายธนาคารพันธมิตรที่ลูกค้าธุรกิจไว้วางใจ ชูความแข็งแกร่ง กรุงศรี - MUFG หนุนธุรกิจไทยเติบโตรอบด้าน

“กรุงศรี” ตั้งเป้าหมายธนาคารพันธมิตรที่ลูกค้าธุรกิจไว้วางใจ ชูความแข็งแกร่ง กรุงศรี - MUFG หนุนธุรกิจไทยเติบโตรอบด้าน

ช่วงโควิด-19 เป็นช่วงที่ท้าทายในการบริหารจัดการธุรกิจของผู้ประกอบการ “กรุงศรี” จึงขอเป็นหนึ่งในพันธมิตรที่ช่วยให้การเดินทางของลูกค้าสามารถก้าวผ่านโควิด การ disrupt ต่ออุตสาหกรรม และเติบโตรับ Mega Trend ได้อย่างแข็งแรง ปี 2564 เป็นอีกหนึ่งปีที่ท้าทายสำหรับภาคธุรกิจไทย ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ที่ยังอยู่ในระดับสูง และเศรษฐกิจภายในประเทศที่ยังไม่สามารถกลับมาฟื้นตัวได้เต็มศักยภาพ อย่างไรก็ดี ในหลายประเทศเริ่มเห็นทิศทางการฟื้นตัวที่ดีขึ้นของเศรษฐกิจ ซึ่งมาพร้อมกับโอกาสทางธุรกิจที่เปิดกว้าง

ปี 2564 เป็นอีกหนึ่งปีที่ท้าทายสำหรับภาคธุรกิจไทย ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ที่ยังอยู่ในระดับสูง และเศรษฐกิจภายในประเทศที่ยังไม่สามารถกลับมาฟื้นตัวได้เต็มศักยภาพ อย่างไรก็ดี ในหลายประเทศเริ่มเห็นทิศทางการฟื้นตัวที่ดีขึ้นของเศรษฐกิจ ซึ่งมาพร้อมกับโอกาสทางธุรกิจที่เปิดกว้าง

สำหรับมุมมองธุรกิจในระดับภูมิภาค “กรุงเทพธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์ คุณประกอบ เพียรเจริญ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่และวาณิชธนกิจ และ คุณโยชิโอะ อุเอะยามะ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ สองผู้บริหารคนสำคัญจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) สถาบันการเงินชั้นนำของประเทศ ซึ่งเป็นหนึ่งในเครือข่ายของกลุ่มธุรกิจการเงิน MUFG สถาบันการเงินชั้นนำระดับโลก ที่มีเครือข่ายพันธมิตรครอบคลุมมากกว่า 50 ประเทศ ในทุกภูมิภาค ทั้งเอเชีย ยุโรป และสหรัฐอเมริกา

“กรุงศรี” ตั้งเป้าหมายธนาคารพันธมิตรที่ลูกค้าธุรกิจไว้วางใจ ชูความแข็งแกร่ง กรุงศรี - MUFG หนุนธุรกิจไทยเติบโตรอบด้าน

 

“ในช่วงโควิด-19 เป็นช่วงที่ท้าทายมากสำหรับลูกค้า ทั้งในส่วนของธุรกิจที่ถูกผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงมาก และการถูก disrupt จากเทคโนโลยี ซึ่งกระทบวิธีการบริหารจัดการและความต้องการของลูกค้า นอกจากนี้ สำหรับลูกค้าที่ประกอบธุรกิจในหลายๆ ประเทศ และกำลังมองหาการลงทุนเพิ่มเติม เพื่อต่อยอดธุรกิจในช่วงของโควิด ก็เจอความท้าทายที่ต้องบริหารจัดการธุรกิจเป็นอย่างมาก  ซึ่งทางกรุงศรีก็ได้สนับสนุนลูกค้า ในหลายๆ ส่วน เช่น การให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการระดมทุน ทั้งในรูปแบบของสินเชื่อ การออกตราสารหนี้ และตราสารทุน การควบรวมกิจการ การบริหารจัดการความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนและดอกเบี้ย รวมไปถึงการเข้าไปช่วยบริษัทในการใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในส่วนของ Supply Chain และ Value Chain

นอกจากนี้ ในช่วงโควิด เป็นการยากที่ลูกค้าจะเห็นและเข้าใจเทรนด์ของอุตสาหกรรมตัวเองในต่างประเทศ เราได้ทำงานร่วมกับ MUFG ซึ่งมีสาขา และบริษัทในเครืออยู่ทั่วโลก ในการสนับสนุนข้อมูลในส่วนนี้ให้กับลูกค้า เพื่อให้ลูกค้าสามารถที่จะใช้ข้อมูลนี้ในการบริหารกลยุทธ์ เช่น บางเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไปแล้วในต่างประเทศ มักจะเกิดขึ้นในประเทศไทยในเวลาต่อมา รวมไปถึงกระแสของ Mega Trend เช่น ESG ที่มีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมจากมุมมองของ Stakeholders ที่เปลี่ยนไป” คุณประกอบ กล่าว

โดยบริการดังกล่าวเป็นการดำเนินงานภายใต้กลุ่มงานลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่และวาณิชธนกิจ (Corporate and Investment Banking Group) หรือ CIB ซึ่งมีพันธกิจสำคัญในการสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ธุรกิจของลูกค้า (Value Creation) การดูแลคุณภาพสินทรัพย์ (Asset Quality) และการสร้างห่วงโซ่ธุรกิจแบบดิจิทัล (Digitalize Value Chain)

สำหรับเป้าหมายแรก ธนาคารกรุงศรีฯ ได้นำเสนอช่องทางการระดมทุนที่หลากหลาย ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงนวัตกรรมทางการเงินรูปแบบใหม่เพื่อสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจ โดยการร่วมมือและการสนับสนุนจาก MUFG ส่งผลให้ลูกค้าของกรุงศรีสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่เหมาะสมกับธุรกิจ และมีนวัตกรรมทางการเงิน ซึ่งสอดคล้องกับ Mega Trend และนโยบายทางภาครัฐ อาทิ การระดมทุนในต่างประเทศ (Cross-border) ในรูปแบบของ สินเชื่อซามูไร (Samurai Loan) หุ้นกู้ซามูไร (Samurai Bond) จากฐานนักลงทุนในประเทศญี่ปุ่น และการระดมทุนในรูปแบบของตราสารหนี้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ (USD Bond) ในส่วนของการระดมทุนภายในประเทศทำได้หลายรูปแบบ เช่น สินเชื่อโครงการ การออกตราสารหนี้ “พันธบัตร หุ้นกู้” และการออกตราสารทุน “หุ้น REIT” รวมไปถึงการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ “Securitization”

นอกจากนั้น ธนาคารฯ ยังได้นำเสนอการเพิ่มนวัตกรรมทางการเงินเข้าไปผนวกกับการระดมทุนซึ่งกำลังเป็นที่สนใจจากทั้งทางบริษัทผู้ระดมทุนและนักลงทุน อาทิ สินเชื่อและตราสารหนี้ที่มีส่วนของ ESG เช่น สินเชื่อสีเขียว Green Loan ตราสารหนี้สีเขียว Green Bond และสินเชื่อและตราสารหนี้ที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน (Sustainability-Linked Loan/Bond) ซึ่งถือเป็นจุดแข็งของธนาคารฯ ที่สามารถให้คำปรึกษาแก่ลูกค้าได้ดี โดยการรับการสนับสนุนจาก MUFG

โดยเมกะเทรนด์ที่ทวีความสำคัญมากขึ้น ทั้งในภาคการเงิน และภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ คือการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล หรือ ESG โดยประเด็นดังกล่าวถูกกล่าวถึงอย่างมาก และมีบทบาทต่อภาคการเงินตลอดระยะเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา ขณะที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้เข้ามาเป็นปัจจัยเร่งให้ตลาดของการระดมทุนด้าน ESG มีการเติบโตต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน

ในฐานะสถาบันการเงินที่มีเป้าหมายดำเนินธุรกิจบนความยั่งยืน คุณประกอบ กล่าวว่า ธนาคารกรุงศรีฯ มีส่วนร่วมในการสนับสนุนการระดมทุนที่คำนึงถึง ESG ทั้งการระดมทุนของภาครัฐและการระดมทุนภาคเอกชนในประเทศไทย อาทิ การเสนอขายตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond) ของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กระทรวงการคลัง การเสนอขายตราสารหนี้สีเขียวของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) บริษัท โตโยต้า ลีสซิ่ง จำกัด บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) ตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืนของ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน)

นอกจากนี้ ธนาคารฯ ยังเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จในการเสนอขายตราสารหนี้ที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนรายแรกใน ประเทศไทย Sustainability-Linked Bond และการให้สินเชื่อที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยื่น Sustainability-Linked Loan ซึ่งมีส่วนของ Samurai Loan ของบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) รวมถึงความสำเร็จในการปล่อยสินเชื่อที่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืน (Sustainability-Linked Loan) แก่บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) อีกทั้งยังเดินหน้าพัฒนาตลาดการเงินไทยอย่างยั่งยืนผ่านการสนับสนุนการระดมทุนด้วยอัตราดอกเบี้ย THOR (Thai Overnight Repurchase Rate) แก่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

สำหรับเป้าหมายในการดูแลคุณภาพสินทรัพย์ลูกค้า ถือเป็นพันธกิจที่มีความสำคัญอย่างยิ่งท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 เพราะการแพร่ระบาดของไวรัสส่งผลต่อรายได้และคุณภาพสินทรัพย์ของลูกค้า สะท้อนจากปริมาณหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของระบบธนาคารที่ปรับเพิ่มขึ้น โดยเป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งในประเทศและต่างประเทศ

“ในช่วงวิกฤติ ธนาคารกรุงศรีฯ ให้ความช่วยเหลือลูกค้าตามแนวทางของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และยังคงให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง ทั้งในกลุ่มลูกค้าที่มีความแข็งแกร่ง กล่าวคือ กลุ่มธุรกิจที่มีโอกาสกลับมาดำเนินการได้ปกติภายหลังได้รับสภาพคล่องสนับสนุนธุรกิจ และกลุ่มลูกค้าที่ยังอ่อนแอ ด้วยมาตรการช่วยเหลือที่เหมาะสมกับลูกค้าแต่ละราย (Tailor-made)  เราต้องการเห็นลูกค้าของเราก้าวผ่านโควิด การ disrupt ต่ออุตสาหกรรม และ Mega Trend ได้อย่างแข็งแรง และประสบความสำเร็จทั้งในประเทศไทยและในเวทีโลก” คุณโยชิโอะ กล่าว

สำหรับเป้าหมายสุดท้ายในการสร้างห่วงโซ่ธุรกิจแบบดิจิทัล เพื่อสนับสนุนลูกค้าให้พร้อมรับมือกับความท้าทายที่เข้ามาดิสรัปธุรกิจ อาทิ สังคมไร้เงินสด (Cashless Society) ระบบนิเวศธุรกิจ (Business Ecosystem) การลดใช้กระดาษ (Paperless) ฯลฯ ผ่านการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินธุรกิจของลูกค้า เพื่อให้ดิสรัปชั่นเกิดขึ้นในรูปแบบที่สร้างสรรค์ที่สุด โดยตั้งเป้าหมายเป็นสถาบันการเงินพันธมิตรที่สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลตลอดการเดินทางของลูกค้า

โดยโจทย์ใหญ่ที่จะช่วยให้ภาคธุรกิจไทยเดินหน้าต่อได้ในโลกหลังโควิด-19 คุณประกอบ และคุณโยชิโอะ กล่าวว่า เทคโนโลยี จะเป็นตัวแปรสำคัญ เพราะเป็นเครื่องมือที่ทำให้การดำเนินธุรกิจทำได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ซึ่งธนาคารกรุงศรีฯ ในฐานะผู้ประกอบธุรกิจการเงิน ก็ได้นำเอาเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาบริการที่มอบให้แก่ลูกค้าเช่นกัน

ยกตัวอย่างเช่น ระบบการจองซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนแก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก หรือหุ้น IPO ของบริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) จากเดิมการเสนอขาย IPO จะทำผ่านช่องทางออฟไลน์เท่านั้น แต่ปัจจุบันลูกค้าสามารถจองซื้อผ่านช่องทางออนไลน์บนแอพพลิเคชั่น KMA-Krungsri Mobile App ได้ด้วยตนเอง โดยในอนาคตอันใกล้ ธนาคารฯ มีแผนเสนอขายตราสารรูปแบบต่างๆ ผ่านช่องทางดังกล่าว ควบคู่ไปกับช่องทางออฟไลน์อีกด้วย

ในช่วงท้ายของการสัมภาษณ์ คุณโยชิโอะ ได้เล่าถึงประสบการณ์การทำงานภายใต้กลุ่ม MUFG และประสบการณ์การร่วมงานกับภาคธุรกิจไทย ว่า ธุรกิจไทยมี “จุดแข็ง” ในการสร้างพันธมิตรเพื่อขยายธุรกิจ ซึ่งน่าจะเป็นโอกาสดีหากนำจุดแข็งดังกล่าวไปต่อยอดขยายธุรกิจในต่างประเทศ แต่ทั้งนี้ การออกไปลงทุนภายนอกประเทศจำเป็นต้องเข้าใจสภาพแวดล้อม รวมถึงมีผู้ช่วยบริหารความเสี่ยงที่ดี ซึ่งในโอกาสนี้ธนาคารกรุงศรีฯ มีความพร้อม และความมั่นใจในการจะเป็นธนาคารพันธมิตรที่ลูกค้าธุรกิจสามารถไว้วางใจได้

“กรุงศรี” ตั้งเป้าหมายธนาคารพันธมิตรที่ลูกค้าธุรกิจไว้วางใจ ชูความแข็งแกร่ง กรุงศรี - MUFG หนุนธุรกิจไทยเติบโตรอบด้าน