เปิดใจ สุพจน์ เธียรวุฒิ ภารกิจ DGA ขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัล
การขับเคลื่อนไปสู่รัฐบาลดิจิทัล ถือเป็นภารกิจสำคัญอย่างหนึ่งของภาครัฐตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และยิ่งมีความสำคัญมากยิ่งขึ้นในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของสถานการณ์โควิด-19 หน่วยงานที่สำคัญที่มีบทบาทเป็นอย่างมากคือ สำนักงานรัฐบาลพัฒนารัฐบาลดิจิทัล หรือ (DGA)
“กรุงเทพธุรกิจ” สัมภาษณ์ "ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ" ผู้อำนวยการสำนักงานรัฐบาลพัฒนารัฐบาลดิจิทัล หรือ "DGA" เกี่ยวกับภารกิจสำคัญ แผนการพัฒนาข้อมูลภาครัฐ และผลักดันการใช้ประโยชน์ รวมทั้งโครงการสำคัญที่ได้มีการประกาศความสำเร็จในระยะเริ่มต้นในวันที่ 1 ธ.ค.ที่ผ่านมาอย่างโครงการ “Digital Transcript”
นายสุพจน์ กล่าวว่า DGA ได้มีการวางวิสัยทัศน์ในการทำงานเพื่อส่งเสริมให้ภาครัฐก้าวไปสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล ด้วยการเป็นหน่วยงานกลางที่สนับสนุนให้รัฐบาลก้าวไปสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล
โดยการทำงานได้มุ่งเน้นงานที่สำคัญ 3 ด้าน ประกอบไปด้วย 1.ด้านข้อมูล (Data) เพื่อสนับสนุนให้ภาครัฐ หน่วยงานราชการต่างๆใช้ข้อมูลในการขับเคลื่อนการทำงาน (Data Driven) นำข้อมูลไปใช้พัฒนาการทำงานในด้านต่างๆให้มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ได้มีการจัดตั้งสถาบันนวัตกรรมและธรรมาภิบาลข้อมูล เพื่อบริหารจัดการข้อมูลและนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ในการสร้างนวัตกรรมบนความถูกต้องเชื่อถือได้
โดยในการทำงานส่วนนี้ต้องเริ่มตั้งแต่การผลักดันให้หน่วยงานภาครัฐจะเก็บข้อมูลอย่างไร มีการจัดระเบียบข้อมูลเพื่อให้สามารถนำข้อมูลมาใช้ให้มีประสิทธิภาพ รวมทั้งที่จะสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลกับหน่วยงานภาครัฐมากขึ้น รวมทั้งเป็นข้อมูลที่เปิดให้ประชาชนเข้าถึงได้ โดยปัจจุบันมีเว็บไซด์ data.go.th ที่มีการแสดงข้อมูลแบบ Open Data กว่า 3,800 ชุดข้อมูล จาก 318 หน่วยงาน และมีคนเข้ามาใช้งานกว่า 3 ล้านครั้งในปีนี้
2.การทำแพลตฟอร์ม (Platform)เพื่อให้ภาครัฐก้าวไปสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มกลางที่ประชาชนจะเข้ามาใช้ประโยชน์ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการภาครัฐที่สะดวก ในทุกช่วงวัย เช่น แอพพลิเคชั่น “ทางรัฐ” ซึ่งปัจจุบันมีการบริการภาครัฐที่อยู่ในแอพพลิเคชั่นนี้แล้วกว่า 45 บริการ มีผู้ดาวน์โหลดใช้งานแล้วกว่า 130,000 ครั้ง เข้าถึงบริการกว่า 730,000 ครั้ง โดยในระยะต่อไปจะพัฒนาแอพพลิเคชั่นนี้ให้เป็นซุปเปอร์แอพที่มีบริการย่อยของหน่วยงานภาครัฐทุกหน่วยงานให้เข้ามาใช้งานได้โดยสะดวก โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับในช่วงชีวิตของประชาชน ตั้งแต่รับสวัสดิการแรกคลอด ในการเข้าสู่ระบบประกันสังคมของวัยแรงงาน ข้อมูลเครดิตบูโร ไปจนถึงการรับสวัสดิการในวัยเกษียณของประชาชน ซึ่งมีการทำแผนแม่บทใน Citizen Portal เอาไว้แล้วและอยู่ในช่วงการพัฒนาในช่วงปี 2564 – 2566
นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาช่องทางที่ให้ประชาชนเข้ามาแสดงความคิดเห็นในต่อร่างกฎหมายสำคัญ ผ่านเว็บไซต์ Law.go.th ที่เป็นระบบกลางทางกฎหมายที่หน่วยงานภาครัฐสามารถนำความคิดเห็นของประชาชนในการพัฒนากฎหมายได้ รวมทั้งมีระบบ GDX ที่ปัจจุบันมีการเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานต่างๆแล้ว 194 หน่วยงาน มีการเข้าถึงการบริการแล้ว 70 ล้านครั้ง รวมไปถึงการพัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับการเดินทางเข้าประเทศไทยของชาวต่างชาติในระบบ Thailand Pass ที่รับการคัดกรองหน้าด่านตรวจคนเข้าเมืองได้ 1000 คนต่อชั่วโมง และลดเวลาในการตรวจคัดกรองได้กว่า 50%
3.การพัฒนาบุคลากรภาครัฐในด้านดิจิทัล โดยให้ความสำคัญกับการสร้างความรู้ ความเข้าใจ ทางด้านดิจิทัลให้แก่บุคลากรภาครัฐ โดยสถาบันพัฒนาบุคลากรภาครัฐดิจิทัล (TGDA) ได้ออกแบบหลักสูตร และแนวทางในการพัฒนาทักษะดิจิทัลหลายหลักสูตรเพื่อให้บุคลากรภาครัฐมีความพร้อมรองรับภารกิจของรัฐบาลดิจิทัลมากขึ้น หากบุคลากรภาครัฐมีความรู้ในเรื่องดิจิทัลก็จะนำความรู้เรื่องนี้มาพัฒนาการให้บริการประชาชน และธุรกิจได้มากขึ้น
นายสุพจน์ กล่าวต่อว่าหลังจากสถานการณ์โควิด-19 หน่วยงานภาครัฐมีความเข้าใจและเห็นความสำคัญของรัฐบาลดิจิทัลมากขึ้น ซึ่งการเป็นรัฐบาลดิจิทัลต้องให้ความสำคัญกับการใช้ข้อมูลในการวางแผน นโยบายภาครัฐ หรือเป็นการขับเคลื่อนแบบที่เรียกว่า การขับเคลื่อนภาครัฐด้วยข้อมูล (Data Driven) ซึ่งนอกจากการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐให้ประชาชนเข้าถึงแล้ว ภาครัฐจะต้องมีความคล่องตัว มีความยืดหยุ่น เป็นรัฐบาลที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนได้อย่างรวดเร็ว และมีความโปร่งใส
ในปี 2565 มีการผลักดันให้เกิดการใช้ประโยชน์จากข้อมูลในเชิงนวัตกรรม โดย DGA ได้มีการเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อติดตามโครงการภายใต้คำสั่งนายกรัฐมนตรี ร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) โดยมีระบบที่ใช้ในการติดตามโครงการดูแลเกษตรกรของรัฐบาล เช่น โครงการประกันรายได้สินค้าเกษตร ที่สามารถติดตามข้อมูลเรื่องของผู้เข้าร่วมโครงการ ยอดจ่ายรายโครงการ พื้นที่เกษตรกรรมภายในโครงการ การขึ้นทะเบียนเกษตรกร และการจ่ายเงินโครงการ ซึ่งข้อมูลที่มีการแสดงผลได้รวดเร็วแม่นยำ และเป็นรายละเอียดจากพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศ ช่วยให้รัฐบาลสามารถประเมินผลโครงการและวางแผนทางนโยบายได้แม่นยำ ทันต่อสถานการณ์มากขึ้น
นอกจากนั้นยังมีโครงการรายงานอุบัติเหตุทางถนน โดยใช้ฐานข้อมูลจาก 3 ฐานข้อมูล ได้แก่ 1.ระบบมรณะบัตรและหนังสือรับรองการตาย จากกระทรวงสาธารณสุข (กรมควบคุมโรค) 2. ระบบ e-Claim จากบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ และ 3.ระบบ POLISH จากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทำให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องไปวิเคราะห์แก้ไขอุบัติเหตุได้
สำหรับโครงการที่มีความคืบหน้าที่สำคัญอีกโครงการหนึ่งที่ DGAได้ร่วมกับหน่วยงานต่างๆในการผลักดันคือโครงการ “Digital Transcript” ซึ่งเป็นโครงการที่ให้สถาบันการศึกษารัฐ-เอกชนทุกแห่งออกใบรับรองการจบการศึกษาและผลการศึกษาในรูปแบบดิจิทัล ซึ่งในปัจจุบันมีสถานศึกษาที่เข้าร่วมแล้วกว่า 39 แห่ง และมีหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่ยอมรับ Digital Transcript แล้วกว่า 16 แห่ง ซึ่งรวมถึงหน่วยงานราชการหลายแห่ง โดยหน่วยงานที่ยอมรับการใช้ Digital Transcript แทนระบบกระดาษแบบเดิม โดยหน่วยงานที่ยอมรับการใช้ Digital Transcript ในการรับสมัครบุคลากร เช่นกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เป็นต้น ซึ่งลดการค่าใช้กระดาษและลดค่าใช้จ่ายของภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนได้ ปีละประมาณ 378.73 ล้านบาทต่อปี
ทั้งนี้ในระยะต่อไปDGA จะทำงานร่วมกับสำนักงานนโยบายสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในการขยายผลการออก Digital Transcript ในทุกระดับชั้นตั้งแต่มัธยมปลาย ลงไปถึงระดับประถมศึกกษาเพื่อลดต้นทุนให้กับผู้ปกครองและนักเรียนในการเดินทางไปขอใบทรานสคริปของนักเรียนนักศึกษา รวมทั้งช่วยให้การรับสมัครงานของภาคเอกชนใช้เวลารวดเร็วขึ้นในการตรวจสอบความถูกต้องของทรานสคิปส่งผลดีต่อการประหยัดต้นทุน มีความสะดวกมากขึ้น ซึ่งจะช่วยทำให้เศรษฐกิจของประเทศในส่วนที่เกี่ยวข้องสามารถขับเคลื่อนต่อเนื่องไปได้