คลังเผยรัฐบาลพร้อมโยกงบเยียวยาโอไมครอน

คลังเผยรัฐบาลพร้อมโยกงบเยียวยาโอไมครอน

คลังย้ำรัฐบาลมีเม็ดเงินเพียงพอรองรับผลกระทบโอไมครอน และพร้อมโยกงบเพื่อใช้เยียวยาประชาชนและเศรษฐกิจ มั่นใจจีดีพีปีนี้โต 1% ส่วนปีหน้าคาดโต 4% ชี้ราคาน้ำมันดิบผันผวนจะเป็นปัจจัยกระทบระยะสั้น ขณะที่ การส่งออกและมาตรการภาครัฐจะเป็นปัจจัยหลักหนุนภาพรวมเศรษฐกิจ

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวภายหลังปาฐกถาหัวข้อมองเศรษฐกิจไทยหลังโควิด-19 ในงานสัมมนาหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ว่า รัฐบาลได้เตรียมพร้อมในแง่เม็ดเงินในการรองรับการดูแลเศรษฐกิจหากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19สายพันธุ์ใหม่โอไมครอน โดยพร้อมที่จะโยกงบประมาณเงินกู้จากพ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท ซึ่งปัจจุบันเหลือวงเงินราว 2.5 แสนล้านบาท มาใช้ในการเยียวยาประชาชน

“กรณีที่หากโอไมครอนระบาดจะมีเม็ดเงินในการเยียวยาอยู่หรือไม่นั้น ยืนยันว่า ยังมีเม็ดเงินจากพ.ร.ก.เงินกู้ 500,000 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันยังมีเม็ดเงินเหลือ 250,000 ล้านบาท ที่ใช้สำหรับฟื้นฟูเศรษฐกิจนั้น สามารถโยกวงเงินดังกล่าวมาใช้ได้ก่อนหากจำเป็น”

ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2565 รัฐบาลก็มีเม็ดเงินที่จะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจทั้งจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี และงบลงทุน โดยงบลงทุนนั้น จะมีอยู่ประมาณ  1 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น งบลงทุนจากภาครัฐ 6 แสนล้านบาท และงบลงทุนจากรัฐวิสาหกิจกว่า 3 แสนล้านบาท ซึ่งโครงการของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจจะเป็นไปตามแผนที่วางไว้แน่นอน โดยปัจจุบันกระทรวงการคลัง อยู่ระหว่างติดตามแผนการใช้จ่ายดังกล่าวด้วย

สำหรับการแพร่ระบาดโควิดสายพันธุ์โอไมครอนนั้น ยังเป็นเรื่องที่ต้องติดตาม โดยด้านมาตรการป้องกันเป็นเรื่องของด้านสาธารณสุข แต่ทางด้านกระทรวงการคลังจะต้องติดตามเพื่อไม่ให้กระทบกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

ดังนั้น มาตรการป้องกันจะต้องชัดเจน โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้สั่งการให้ติดตามว่าสายพันธุ์โอไมครอนจะมีความรุนแรงมากน้อยแค่ไหน รวมถึง ด้านการท่องเที่ยว ได้ปรับเปลี่ยนการตรวจจาก ATK เป็นการตรวจแบบ RT-PCR แทน

“มาตรการตอนนี้ เราต้องทำให้สมดุลระหว่างการดูแลโควิด-19 คู่ขนานกับการดูแลเศรษฐกิจ ซึ่งปัจจุบันพบว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อเริ่มลดลง ขณะที่ประชาชนในประเทศเริ่มฉีดวัคซีนมากขึ้น แต่มาตรการที่ยังต้องเข้มตอนนี้คือ การสวมหน้ากา และการล้างมือ”

ส่วนการขยายตัวเศรษฐกิจในปีนี้นั้น มั่นใจว่า จะขยายตัวได้ 1% ซึ่งเป็นระดับการเติบโตที่สมเหตุผล ส่วนปีหน้า คาดว่า จะขยายตัวได้ 4% โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนหลักจากภาคการส่งออกที่ยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง และการท่องเที่ยวที่เริ่มฟื้นตัว รวมไปถึงการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐด้วย

อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ โดยเฉพาะโอไมครอนว่าจะมีความรุนแรงมากน้อยแค่ไหน รวมถึง ความผันผวนของราคาน้ำมันดิบ ที่เชื่อว่า จะส่งผลกระทบในระยะสั้น โดยรัฐบาลพยายามเร่งสนับสนุนการลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิง และหันมาใช้พลังงานสีเขียวมากขึ้น

นายอาคมกล่าวว่า ในอนาคตไทยจะต้องเร่งส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจแบบทั่วถึง ส่งเสริมความสามารถในการแข่งขัน ไม่เน้นเฉพาะการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่จะเน้นที่ความยั่งยืน ทั่วถึง และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยในการประชุม COP26 รัฐบาลไทยได้ให้คำมั่นจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปี 2065 รวมถึง การเดินหน้าการไปสู่รถยนต์ไฟฟ้า โดยเริ่มจากหน่วยงานของภาครัฐก่อน

ขณะเดียวกัน รัฐบาลยังจะเร่งส่งเสริมโมเดลทางเศรษฐกิจแบบ BCG เน้นการสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าสูง การพัฒนาเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและยั่งยืน นอกจากนี้ จะต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจสู่อุตสาหกรรมใหม่ โดยการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ในอุตสาหกรรม New S curve ซึ่งจะเป็นพลังแห่งการเติบโตในอนาคต รวมถึง การเปลี่ยนเป็นเศรษฐกิจดิจิทัล โดยรัฐบาลจะสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานในด้านดิจิทัล ทั้ง 5G นวัตกรรม ยกระดับสินค้าและบริการ รวมถึงแพลตฟอร์มดิจิทัลด้วย เป็นต้น

นายอาคม ยังกล่าวถึงการพัฒนาของสินทรัพย์ดิจิทัล ที่นักลงทุนโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ให้ความสนใจว่า ปัจจุบันสินทรัพย์ดิจิทัลมีความผันผวนสูง โดยกระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อยู่ระหว่างหารือในเรื่องดังกล่าว เพื่อให้การลงทุนเป็นตามกฎระเบียบระหว่างประเทศ และเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย

ด้านสถานะการเงินของประเทศในปัจจุบันนั้น ยืนยันว่า มีความมั่นคงและแข็งแกร่ง และรัฐบาลสามารถบริหารจัดการ ทางการเงิน เพื่อที่จะสนับสนุนประชาชนและธุรกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด ส่งเสริมให้มีการฟื้นตัวได้

ขณะที่ การดำเนินนโยบายใดนั้น ต้องให้มั่นใจว่า ไทยจะไม่ศูนย์เสียความมั่นคงทางการคลัง เพราะเรามีเป้าหมายต้องการให้มีวินัยและความยั่งยืน ในการดำเนินนโยบายใดใด ขอให้คำมั่น คลังจะปฏิบัติตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง และ กฎระเบียบทางการคลังอื่นๆ เพื่อรักษาระดับให้ดี โดยปัจจุบัน หนี้สาธารณะต่อจีดีพีของไทยอยู่ที่ระดับ 58.8% ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการคลังที่ 70% ซึ่งเป็นเพดานที่กำหนดไว้