บจ.ไทยสะดุ้ง! แบงก์ชาติเบรกใช้"เงินดิจิทัล"ซื้อสินค้า
“คริปโทเคอร์เรนซี” หรือ “สกุลเงินดิจิทัล” เป็นสินทรัพย์ที่กำลังมาแรงและได้รับความนิยมสุดๆ ในยุคนี้ สอดรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภคยุคใหม่ที่เปลี่ยนไป
โดยกระแสความร้อนแรงของเงินดิจิทัลถูกจุดพลุด้วย “บิทคอยน์” เหรียญคริปโทฯ แรกของโลก ซึ่งเริ่มเป็นที่รู้จักกันมากขึ้นในช่วงปี 2560 หลังราคาบิทคอยน์ค่อยๆ ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จนเกือบทะลุ 20,000 ดอลลาร์ หรือ กว่า 6 แสนบาท
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้บิทคอยน์เริ่มเป็นที่นิยม สืบเนื่องมาจากสภาพคล่องที่มีอยู่จำนวนมากจากการอัดฉีดเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจของธนาคารกลางประเทศต่างๆ แต่ผลตอบแทนในสินทรัพย์เดิมๆ อย่างตลาดหุ้น ตราสารหนี้ พันธบัตร ทองคำ ฯลฯ กลับไม่น่าจูงใจ นักลงทุนจึงต้องการแสวงหาการลงทุนในสินทรัพย์ใหม่ๆ ที่ให้ผลตอบแทนที่มากกว่า ซึ่งบิทคอยน์เป็นหนึ่งในตัวเลือกที่น่าสนใจ
แม้ว่าบิทคอยน์จะไม่สามารถจับต้องได้เหมือนสกุลเงินหลักอื่นๆ แต่การมีเทคโนโลยีบล็อกเชนอยู่เบื้องหลัง ทำให้สามารถตรวจสอบที่มาที่ไปได้ในทุกครั้งๆ ที่มีการขุด โอนเหรียญ หรือ ซื้อขายกัน จึงทำให้บิทคอยน์ค่อยๆ เป็นที่นิยม และเริ่มได้รับการยอมรับจากหน่วยงานกำกับดูแลของประเทศต่างๆ มากขึ้น
แต่หลังจากนั้นเกิดการปรับฐานครั้งใหญ่ ราคาบิทคอยน์ร่วงหลุดแนวรับ 10,000 ดอลลาร์ ท่ามกลางความวิตกกังวลเรื่องความปลอดภัย มองกันว่าเงินดิจิทัลอาจเข้าไปเกี่ยวข้องกับธุรกิจสีเทา ใช้เป็นช่องทางฟอกเงิน จนรัฐบาลหลายประเทศต้องออกประกาศเตือนให้นักลงทุนเพิ่มความระมัดระวังหรือหลีกเลี่ยงการลงทุนไปก่อน ขณะที่บางประเทศถึงขั้นใช้ยาแรงห้ามซื้อขายกันเลยทีเดียว
โดยบิทคอยน์ใช้เวลาพักฐานเกือบ 2 ปี ก่อนที่จะกลับสู่ช่วงขาขึ้นรอบใหม่ พร้อมๆ กับสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ที่ก่อตัวขึ้น โดยรอบนี้บิทคอยน์ได้รับปัจจัยหนุนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากการอัดฉีดสภาพคล่องทางการเงินเพื่อต่อสู้กับโรคระบาด
ขณะที่บรราดานักลงทุนรายใหญ่ รวมทั้งนักธุรกิจ บุคคลสำคัญระดับโลกมากมาย เริ่มเข้ามาลงทุนในบิทคอยน์และคริปโทฯ อื่นๆ จึงยิ่งทำให้กระแสเงินดิจิทัลฮอต! ขึ้นไปอีก ขณะเดียวกันหลายบริษัทยักษ์ใหญ่ประกาศรับชำระค่าสินค้าและบริการด้วยเงินดิจิทัล ช่วบจุดพลุเพิ่มดีกรีความร้องแรง
ในปี 2564 ราคาบิทคอยน์ยังอยู่ในช่วงขาขึ้น แม้จะมีการปรับฐานเป็นระยะ แต่กลายเป็นเรื่องปกติของเงินดิจิทัลไปแล้วที่มักจะ “ขึ้นแรง-ลงแรง” โดยปีนี้บิทคอยน์ขึ้นไปทำออลไทม์ไฮที่ 68,990.90 ดอลลาร์ หรือ ทะลุ 2 ล้านบาทเป็นที่เรียบร้อย เทียบกับราคาปิดปี 2563 ที่ 28,890.12 ดอลลาร์ กลายเป็นสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนน่าจะมากที่สุดในโลกไปแล้ว
แน่นอนว่าความร้อนแรงของบิทคอยน์ ทำให้คริปโทฯ สกุลอื่นๆ คึกคักขึ้นเช่นกัน ขณะที่ในประเทศไทยของเรามีนักลงทุนหน้าใหม่ขอลงสนามกันเพียบ โดยปัจจุบันมีคนไทยเปิดบัญชีเทรดเงินดิจิทัลมากกว่า 1.6 ล้านบัญชี
นอกจากความนิยมในการเทรดเงินดิจิทัลแล้ว ปัจจุบันเริ่มมีการนำเงินดิจิทัลมาใช้ในชีวิตประจำวัน หลายบริษัทประกาศให้ลูกค้าชำระค่าสินค้าด้วยคริปโทฯ ที่คึกคักสุดๆ เห็นจะเป็นกลุ่มอสังหาฯ ทั้งบริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) หรือ SIRI ที่ประกาศรับ ทั้ง Bitcoin (BTC), Ethereum (ETH), USDC และ USDT ผ่าน Bitazza
ส่วนบริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ANAN และ บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ORI ร่วมมือกับ Bitkub รับ 3 สกุลเงิน BTC, ETH และ USDT, ด้านบริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SC จับมือกับ Zipmex รับถึง 5 เหรียญ ได้แก่ BTC, ETH, ZMT, USDT และ USDC และมีแผนออกเหรียญของตัวเองในอนาคตด้วย ขณะที่น้องใหม่ บริษัท แอสเซทไวส์ จำกัด (มหาชน) หรือ ASW ผนึก Bitkub เปิดให้แลกคริปโทฯ เป็นเงินบาทเพื่อนำมาใช้ชื้อบ้านและคอนโด
นี่เป็นเพียงแค่ตัวอย่างเท่านั้น จริงๆ แล้วยังมีอีกหลายบริษัทและหลายธุรกิจที่ประกาศรับคริปโทฯ ทั้งกลุ่มค้าปลีก, ร้านอาหาร, สายการบิน ไปจนถึงธุรกิจบันเทิง แต่ล่าสุดเหมือนมีฟ้าผ่าลงมาดังเปรี้ยง! หลังธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศไม่สนับสนุนให้ใช้สินทรัพย์ดิจิทัลมาชำระค่าสินค้าและบริการ เนื่องจากมองว่ามีความผันผวนสูง เสี่ยงที่จะถูกโจรกรรมทางไซเบอร์ และอาจถูกใช้เป็นเครื่องมือในการฟอกเงิน
แม้แบงก์ชาติจะไม่ได้ “ห้าม” โดยตรง แต่การออกมาพูดครั้งนี้สร้างแรงสั่นสะเทือนไม่น้อย โดย บล.เคทีบีเอสที ระบุว่า มีมุมมองเชิงลบต่อประเด็นดังกล่าว โดย JMARTและ BTS จะได้รับผลกระทบจากยอดขายและการใช้บริการในกลุ่มลดลง เพราะมีแผนนำเหรียญ JFin Coin ใช้ชำระสินค้าในกลุ่ม
ส่วน RS จะให้ใช้เหรียญ POPCOIN ซื้อสินค้าและบริการในเครือ เช่นเดียวกับ CRC ที่เตรียมเปิดรับเหรียญในการซื้อสินค้าและบริการ กลุ่มอสังหาฯ ORI, ANAN ให้ซื้อบ้านด้วย BTC, ETH และ USDT
ด้าน SCB จะได้รับผลกระทบจากธุรกรรมของ Bitkub ที่อาจต่ำกว่าเป้าหมาย แต่อย่างไรก็ดี ฝ่ายวิจัยเชื่อว่าถ้าเป็น Stable Coin ธปท. จะยังสนับสนุนให้นำมาซื้อขายได้ เพราะเป็นเหรียญที่ได้รับความนิยม และเสี่ยงน้อยกว่าแบบอื่นๆ
ส่วนบล.เอเซีย พลัส ประเมินว่า ประกาศของ ธปท. จะส่งผลกระทบเชิงลบต่อบริษัทจดทะเบียนที่ประกอบธุรกิจประเภท ICO Portal เนื่องจากกลายเป็นอุปสรรคในการออกโทเคน ส่วนกลุ่มที่รับชำระค่าสินค้าบริการคาดไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากจำนวนผู้บริโภคที่จะใช้โทเคนซื้อขายสินค้าและบริการยังน้อยอยู่