นักวิชาการจี้รัฐดันไทยฐานการผลิตรถ EV
ประเทศไทยกำลังก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน ตามนโยบายส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า หรือ รถ EV ที่ตั้งเป้าผลิตรถที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี 2573
ประเทศไทยกำลังก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน ตามนโยบายส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า หรือ รถ EV ที่ตั้งเป้าผลิตรถที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี 2573 ในขณะที่ต่างประเทศมีมาตรการสนับสนุนผู้ใช้รถ เช่น การให้เงินอุดหนุนผู้ซื้อรถยนต์ไฟฟ้า การยกเว้นค่าทางด่วนให้ผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งประเทศไทยจำเป็นที่จะต้องพิจารณามาตรการสนับสนุน
ประธานคณะกรรมการบริหารอุทยานการเรียนรู้ป๋วย 100 ปีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ระบุ ที่ผ่านมายังไม่เห็นนโยบายที่ชัดเจนในการสนับสนุนส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าจากรัฐบาล มองว่าประเทศไทยมีเทคโนโลยีที่มากพอขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่าจะสนับสนุนได้มากน้อยแค่ไหน ทั้งนี้ ยานยนต์ไฟฟ้าต้องบูรณาการร่วมกันกับพลังงานหมุนเวียน เพราะแหล่งพลังงานในประเทศไทย 80% ยังมาจากเชื้อเพลิงน้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ ที่ยังต้องใช้ควบคู่กัน ดังนั้น ประเทศไทยต้องเดินหน้าในเรื่องพลังงานหมุนเวียน ที่ไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกนอกเหนือจากพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งไทยยังต้องการการสนับสนุนวัตกรรมในการใช้พลังงานหมุนเวียนมากกว่าที่ผ่านมาที่ถือว่ารัฐบาลยังสนับสนุนได้ไม่มากเท่าที่ควร
AIS ดึงศักยภาพ 5G นำร่อง 'รถไฟฟ้าไร้คนขับ'
ล่าสุดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ร่วมมือกับ AIS นำเทคโนโลยีดิจิทัล 5G มาพัฒนาเพื่อสร้างรากฐานด้านความยั่งยืน ในการยกระดับคุณภาพชีวิตจนสามารถขับเคลื่อนประเทศไปสู่การเป็นสังคมเมืองแบบ Smart City พัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน ผ่านระบบการขนส่งต้นแบบอัจฉริยะด้วย รถไฟฟ้าไร้คนขับ ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า 100% ในการขับเคลื่อนบนโครงข่ายอัจฉริยะ AIS 5G ให้บริการทดลองรับ-ส่ง ภายในพื้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สำหรับนักศึกษา-บุคลากร
หัวหน้าฝ่ายงานปฏิบัติการและสนับสนุนด้านเทคนิคทั่วประเทศ AIS วสิษฐ์ วัฒนศัพท์ ระบุ ศักยภาพของ 5G สามารถเชื่อมต่อและสร้างประโยชน์ให้กับคนไทยได้อีกหลายมิติ โดยรถ EV ไร้คนขับที่ทดลองใช้งานจริงในระบบขนส่งสาธารณะภายในพื้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญในกำหนดเทรนด์โลกอนาคตในการนำเทคโนโลยีมาเป็นเครื่องยนตร์ขับเคลื่อนการบริหารจัดการเมือง หรือ พื้นที่ต่างๆ ในประเทศให้เดินหน้าสู่การเป็น Smart City สมบูรณ์แบบได้
สำหรับระบบขนส่งสาธารณะแบบไร้คนขับเป็นการนำรถโดยสารที่ใช้พลังงานไฟฟ้า 100% ขนาด 7 ที่นั่ง ติดตั้งอุปกรณ์ Sensors and Computing Hardware ทำให้ตัวรถสามารถใช้ Software ควบคุมการขับเคลื่อนได้อย่างอัตโนมัติ ทั้ง Auto-Pilot mode ขับเคลื่อนตามเส้นทางที่กำหนดแบบอัตโนมัติ โดยระบบการทำงานของเซนเซอร์จะเน้นย้ำเรื่องความปลอดภัยในระยะการเดินรถรอบทิศทาง และ Virtual Control mode ขับเคลื่อนผ่านการควบคุมระยะไกล ซึ่งจะสามารถบังคับรถโดยสารไฟฟ้าบนเครื่องซิมูเลเตอร์ที่สตรีมจากกล้อง 360 องศา โดยระบบจะช่วยตรวจสอบความปลอดภัยในการเดินรถอย่างสมบูรณ์แบบ
ทีมข่าวเนชั่นทีวี รายงาน