‘ราคาน้ำมัน’ ขึ้น หรือ ลง มีปัจจัยจากอะไร?

‘ราคาน้ำมัน’ ขึ้น หรือ ลง มีปัจจัยจากอะไร?

“ราคาน้ำมัน” เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ถูกพูดถึงบ่อยมากในช่วงนี้ เพราะราคามันขึ้นสูงเอาๆ หลายคนที่ต้องใช้รถยนต์กันทุกวันก็อดเปรียบเทียบไม่ได้ว่า เมื่อปีที่แล้วราคาน้ำมันยังถูกกว่านี้ตั้งเยอะ ผ่านไปปีเดียวทำไมมันแพงขึ้นได้ขนาดนี้

การขยายตัวทางเศรษฐกิจและความต้องการใช้เชื้อเพลิงในแต่ละฤดูกาล มักจะส่งผลให้ภาคธุรกิจเร่งดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายรวมทั้งส่งผลต่อเนื่องให้ความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้น และแน่นอนว่าเป็นแรงผลักดันให้ราคาน้ำมันขยับตัวสูงขึ้น

 

  • ความต้องการใช้น้ำมันจะผันแปรไปตามฤดูกาลหรือสภาพภูมิอากาศ

เช่น ในฤดูหนาวน้ำมันจะมีราคาสูงกว่าฤดูร้อนเนื่องจากจะมีความต้องการใช้น้ำมันดีเซลและน้ำมันเตาเพิ่มขึ้นเพื่อนำไปใช้กับอุปกรณ์ที่ให้ความอบอุ่นนั่นเอง

  • ปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์

ที่มีผลต่อราคาน้ำมันในตลาดโลกสูงขึ้น หากเกิดความไม่สงบหรือความขัดแย้งในประเทศผู้ผลิตน้ำมัน เช่น ในตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นแหล่งผลิตน้ำมันที่สำคัญของโลกอาจจะก่อให้เกิดอุปสรรคในการขนส่ง และส่งผลให้มีปริมาณน้ำมันเข้าสู่ตลาดลดลง ก็จะทำให้ราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้นได้

  • ข้อตกลงของกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมัน หรือ OPEC

เนื่องจากกลุ่ม OPEC ต้องรักษาเสียรภาพราคาไม่ให้สูงหรือต่ำจนเกินไป

  • ปริมาณน้ำมันคงเหลือ

หากโรงกลั่นน้ำมันแต่ละแห่งมีปริมาณน้ำมันดิบที่ซื้อเตรียมไว้สำหรับกลั่นในปริมาณมาก ก็จะหยุดซื้อน้ำมันดิบในช่วงเวลาหนึ่ง ปริมาณความต้องการโดยรวมของตลาดโลกจะลดลง ก็จะเป็นปัจจัยที่กดดันราคาให้ลดลงเช่นกัน

  • ปัจจัยสภาพอากาศและภัยพิบัติ

สภาพอากาศที่ส่งผลกระทบรุนแรง เช่น พายุเฮอร์ริเคน ในสหรัฐ ทำให้กำลังการผลิตน้ำมันทั่วโลกลดลงเป็นระยะๆ หรือ แผ่นดินไหว จนแหล่งผลิตหรือท่อสำหรับขนส่งได้รับความเสียหาย ก็จะส่งผลต่อปริมาณน้ำมันดิบที่ผลิตเข้าสู่ตลาด

โดยเฉพาะหากแหล่งผลิตนั้นเป็นแหล่งที่มีกำลังการผลิตในระดับสูง ประกอบกับการเก็งกำไรจากปริมาณการกลั่นน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดเป็นที่มาของราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่มีความผันผวนทั่วโลก

  • ผลกระทบจากโรคระบาดหรือโควิด-19

ทำให้หลายประเทศมีมาตรการปิดประเทศเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดทำให้การเดินทางลดลงเป็นอย่างมากจึงส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับตัวลดลง

  • สงครามการค้าการสหรัฐและจีน

ก็ถือเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สองยักษ์ใหญ่เศรษฐกิจของโลกทำสงครามการค้าช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทั้งสองประเทศต่างใช้มาตรการทางการค้าตอบโต้กันไปมา รวมถึงการคว่ำบาตรสินค้าของฝ่ายตรงข้าม และการตั้งกำแพงภาษีนำเข้าจากแต่ละฝ่าย ซึ่งทำให้เกิดความกังวลว่าอาจกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมันโลก

  • ปัจจัยอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูป

ในตลาดหลักของโลกนั้นซื้อขายกันด้วยเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้นเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงหรือความผันผวนเกิดขึ้นกับอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างสกุลเงินท้องถิ่นกับเงินดอลลาร์สหรัฐ ต้นทุนในการซื้อน้ำมันดิบหรือน้ำมันสำเร็จรูปก็จะเปลี่ยนแปลงไปด้วย

  • นโยบายของภาครัฐ

ในหลายประเทศรัฐมีนโยบายอุดหนุนราคาน้ำมัน ซึ่งจะช่วยให้ราคาน้ำมันถูกลง แต่หากไม่อุดหนุนและนำเงินไปพัฒนาในส่วนอื่นแทน ราคาน้ำมันก็อาจจะสูงขึ้นเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ เพราะราคาขายปลีกน้ำมันแต่ละประเทศ ขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละประเทศอีกด้วย