"กองทุนเพื่อผู้รับงานไปทำที่บ้าน" ปี 65 ดอกเบี้ย 0% ใคร "กู้เงิน" ได้บ้าง?
กระทรวงแรงงานเปิด "กองทุนเพื่อผู้รับงานไปทำที่บ้าน" ปี 65 ดอกเบี้ย 0% สำหรับผู้กู้รายใหม่ เริ่มให้ยื่นคำขอ "กู้เงิน" ในมาตรการดังกล่าวได้ตั้งแต่วันนี้ - 31 ส.ค. 65 ชวนเช็ครายละเอียดใครขอกู้ได้บ้าง? และต้องมีคุณสมบัติอย่างไร?
พี่น้องชาวแรงงานมีเฮ! เมื่อกระทรวงแรงงานเผยข่าวดี เปิดให้กลุ่มแรงงานยื่นขอ "กู้เงิน" ตามมาตรการ "กองทุนเพื่อผู้รับงานไปทำที่บ้าน" ประจำปี 2565 อัตราดอกเบี้ย 0% นาน 12 เดือน เพื่อช่วยให้ "แรงงานนอกระบบ" สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างถูกกฎหมาย
กรุงเทพธุรกิจอนไลน์ ชวนเจาะรายละเอียดว่าหากกลุ่มแรงงานต้องการขอกู้ตามมาตรการนี้ ต้องมีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง? และให้ยื่นกู้ได้ถึงเมื่อไหร่? เรารวบรวมเรื่องที่ต้องรู้มาให้แล้วที่นี่!
1. กองทุนเพื่อผู้รับงานไปทำที่บ้าน ปี 65 วงเงิน 5,000,000 บาท
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 กระทรวงแรงงานได้อนุมัติวงเงินกู้ยืม จำนวน 5,000,000 บาท เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนสำหรับแรงงานนอกระบบ ที่เป็นผู้รับงาน/กลุ่มผู้รับงานไปทำที่บ้าน ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนถูกกฎหมาย ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบซ้ำเติมในสถานการณ์โควิด
โดยในปีนี้มีมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมสำหรับผู้ขอกู้ใน "กองทุนเพื่อผู้รับงานไปทำที่บ้าน" คือ จะลดอัตราดอกเบี้ยเหลือ 0% ต่อปี ในงวดที่ 1 -12 โดยมีเป้าหมายปล่อยกู้เงินกองทุนฯ จำนวน 44 กลุ่ม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
- อัพเดทล่าสุด! "เยียวยากลุ่มคนกลางคืน" รับเหนาะๆ 1.2 หมื่นต่อคน
- โค้งสุดท้าย! ขยายวงเงิน สินเชื่อ สปส. เสริมสภาพคล่องสถานประกอบการ
- แหล่งเงินเยียวยาสถานบันเทิงใช้เงินกู้ฯ - ประกันสังคม จ่ายลูกจ้าง - นักดนตรี
- เปิดกระเป๋ารัฐบาล งบฯสู้ โอมิครอน 3.8 แสนล้าน ‘คลัง’ เปิดช่องกู้เพิ่ม
2. ให้ยื่นขอกู้ได้แล้ววันนี้ - 31 ส.ค. 65
สำหรับกลุ่มแรงงานนอกระบบที่สนใจโครงการ "กองทุนเพื่อผู้รับงานไปทำที่บ้าน" สามารถยื่นคำขอได้ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 64 - 31 ส.ค. 65 และทำสัญญากู้ยืมเงิน ภายในวันที่ 30 ก.ย. 65
3. เช็คเงื่อนไข ผู้กู้ต้องคุณสมบัติอะไรบ้าง?
นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน ให้คำตอบว่าสำหรับคุณสมบัติผู้กู้ใน "กองทุนเพื่อผู้รับงานไปทำที่บ้าน" มีดังนี้
- ต้องเป็นผู้รับงานไปทำที่บ้านที่จดทะเบียนไว้กับกรมการจัดหางาน และมีผลการดำเนินการและมีรายได้จากการรับงานไปทำที่บ้าน
- ต้องมีหลักฐานการรับงานไปทำที่บ้านจากผู้จ้างงาน ซึ่งมีทั้งประเภทบุคคลและกลุ่มบุคคล
- ประเภทบุคคล : ต้องมีทรัพย์สินหรือเงินทุนไม่น้อยกว่า 5,000 บาท
- ประเภทกลุ่มบุคคล : ต้องมีผู้นำกลุ่มและสมาชิกกลุ่มกู้ร่วมกันไม่น้อยกว่า 5 คน มีทรัพย์สินหรือเงินทุนในการดำเนินกิจกรรมของกลุ่มรวมกันไม่น้อยกว่า 10,000 บาท
4. บุคคล VS กลุ่มบุคคล ขอกู้ได้สูงสุดกี่บาท?
สำหรับวงเงินในการขอกู้กับ "กองทุนเพื่อผู้รับงานไปทำที่บ้าน" มีกำหนดเพดานวงเงินกู้ไว้ดังนี้
- รายบุคคลกู้ได้ไม่เกิน 50,000 บาท ระยะเวลาชำระคืนภายใน 2 ปี
- รายกลุ่มบุคคลกู้ได้ไม่เกิน 300,000 บาท ระยะเวลาชำระคืนภายใน 5 ปี
โดยมีรายงานว่าตั้งแต่ปี 2548 - ปัจจุบัน มีผู้รับงานไปทำที่บ้านที่จดทะเบียนกับกรมการจัดหางาน จำนวน 1,082 ราย/กลุ่ม สมาชิกจำนวน 6,102 คน และมีผู้กู้เงินจากกองทุนฯแล้ว จำนวน 545 ราย/กลุ่ม (34 ราย/511 กลุ่ม) เป็นเงินทั้งสิ้น 57,566,000 บาท
5. แรงงานนอกระบบยื่นขอกู้เงินกองทุนฯ ได้ที่ไหน?
สำหรับผู้ที่สนใจกู้ยืมเงินกองทุนฯ สามารถตรวจสอบคุณสมบัติและยื่นคำขอกู้เงินได้ที่ "สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10" หรือ "สำนักงานจัดหางานจังหวัด" ในท้องที่ที่ผู้รับงานไปทำที่บ้านได้จดทะเบียนไว้กับกรมการจัดหางาน ภายใน 31 สิงหาคม 2565 และทำสัญญากู้ยืมให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 กันยายน 2565
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร. 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694
อีกทั้ง รมว.กระทรวงแรงงาน ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า นายกรัฐมนตรี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา และรองนายกรัฐมนตรี พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน มีความห่วงใยแรงงานนอกระบบที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด
โดยกำชับให้กระทรวงแรงงาน ดูแลคนกลุ่มแรงงานนอกระบบให้ได้รับการเยียวยาอย่างทั่วถึง เข้าถึงโอกาสและได้รับความเสมอภาคทางสังคม
ทางกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน จึงได้เปิดกองทุนฯ นี้อีกครั้ง และได้ลดอัตราดอกเบี้ยเหลือร้อยละ 0 ต่อเนื่องมาปีนี้เป็นปีที่ 3 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้รับงานไปทำที่บ้าน รวมทั้งส่งเสริมอาชีพ และการมีงานทำ เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น