"อนุสรณ์ ธรรมใจ"เห็นด้วยกับธปท.ไม่ควรนำคริปโทฯซื้อสินค้าเพราะผันผวนสูง
อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตบอร์ดแบงก์ชาติชี้ไม่ควรจัดคริปโทฯ เป็น "เงินตรา" เพราะมีความผันผวนสูง ไม่ควรนำมาชำระค่าสินค้าและบริการ เหมาะเป็นแค่สินทรัพย์เพื่อการลงทุนเท่านั้น มองว่าแบงก์ชาติควรออก “เงินดิจิทัล” ของตัวเอง เพื่อให้ประชาชนและภาคธุรกิจได้ใช้บริการ
รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย และอดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต กล่าวถึง การที่ภาคธุรกิจหลายแห่งได้ปรับตัวด้วยการใช้ “คริปโทเคอเรนซี” (Cryptocurrency) ในการชำระค่าสินค้าและบริการ หรือออกเหรียญดิจิทัลเองนั้น เป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นถึงการปรับตัวเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัลและการเงินดิจิทัลซึ่งเป็นแนวโน้มแห่งอนาคตและสอดคล้องกับระบบการชำระเงินแบบใหม่
ภาคการเงินกำลังเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีทางการเงิน หรือ FinTech ซึ่งก่อให้เกิดการเปลี่ยนรูปแบบของบริการทางการเงินในด้านต่างๆ โดยมีผู้เล่นใหม่ที่มิใช่สถาบันการเงินอย่างบริษัทเทคโนโลยีเข้ามาแข่งขันกับสถาบันการเงินอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะการเข้ามาเป็นผู้ให้บริการในระบบชำระเงินซึ่งมีรูปแบบการให้บริการที่ซับซ้อนน้อยกว่าเมื่อเทียบกับบริการทางการเงินประเภทอื่น
นวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการเงินสามารถแยกเป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่ กลุ่มนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการเงินแบบไม่กระทบกิจการธนาคารและสถาบันการเงินแบบเดิม และกลุ่มนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการเงินที่กระทบต่อกิจการธนาคารและสถาบันการเงินแบบเดิม
ผลกระทบที่สำคัญจากนวัตกรรมทางการเงินแบบที่ไม่ไปกระทบต่อกิจการธนาคารแบบเดิมจะเพียงผลักดันระบบชำระเงินไปสู่โลกไร้เงินสด (Cashless world) ได้เร็วขึ้นและเพิ่มบทบาทของ “ผู้เล่นใหม่” ที่มิใช่สถาบันการเงินซึ่งเข้ามาให้บริการ ณ จุดต่างๆ ของระบบชำระเงิน ทำให้ความไว้วางใจเดิมที่ลูกค้าเคยมีต่อสถาบันการเงินค่อยๆ ถูกเปลี่ยนผ่านไปยังผู้เล่นใหม่เหล่านี้
ซึ่งแน่นอนว่าย่อมนำไปสู่การลดลงของรายได้ค่าธรรมเนียมของธนาคารพาณิชย์และส่วนแบ่งทางการตลาดในอนาคต อย่างไรก็ตาม นวัตกรรมในกลุ่มนี้ยังไม่ได้ทดแทนหรือทำให้สถาบันการเงินหายไปจากวงจรการชำระเงิน โดยสถาบันการเงินยังคงมีบทบาทอยู่ในส่วนใดส่วนหนึ่งของการชำระเงิน จึงกระทบต่อกลุ่มธนาคารและสถาบันการเงินแบบเดิมไม่รุนแรง ไม่ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของระบบการเงิน
ส่วนนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการเงินอีกลุ่มหนึ่ง ถือเป็น Disruptive innovation นวัตกรรมเหล่านี้เริ่มจากการให้บริการการโอนเงินและชำระเงินระหว่างประเทศ โดยช่วยลดขั้นตอนของการโอนเงินในปัจจุบันที่มีต้นทุนสูงและใช้เวลานานเนื่องจากขั้นตอนมีความซับซ้อนและเกี่ยวข้องกับหลายฝ่ายในระบบธนาคารพาณิชย์ภายใต้การกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย ด้วยเทคโนโลยีทางการเงินแบบใหม่ทำให้ระบบชำระเงินไม่จำเป็นต้องอาศัยสถาบันการเงินเป็นตัวกลางหรือตัวกลางทางการเงินบางประเภทหายไปจากวงจรการชำระเงิน
สิ่งนี้ได้ขยายมายังการจ่ายเงินซื้อสินค้าและบริการด้วย “คริปโทเคอเรนซี” ของผู้ประกอบการไทยหลายแห่งจากหลายกิจการ หากแพร่หลายแล้วจะทำให้บทบาทของ “เงิน” หรือ Fiat Money ที่กำกับดูแลโดยแบงก์ชาติลดความสำคัญอย่างรวดเร็ว และแบงก์ชาติอาจสูญเสียอำนาจในการควบคุมปริมาณเงินในระบบ นโยบายการเงินของแบงก์ชาติจะมีประสิทธิภาพน้อยลง
การออกใช้สกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง (retail CBDC) จัดว่าเป็นทางเลือกหนึ่งในการรักษาไว้ซึ่งสมดุลระหว่าง fiat money และสกุลเงินดิจิทัลทางเลือก อันจะช่วยบรรเทาผลกระทบต่ออธิปไตยทางการเงิน คือ การเพิ่มประสิทธิภาพและรูปแบบของ public money ให้สอดคล้องกับพัฒนาการของภูมิทัศน์ทางการเงินที่เปลี่ยนไปให้มีโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีทางการเงินที่สามารถรองรับและเชื่อมโยงกับสกุลเงินทางเลือกใหม่ๆ รวมถึงผู้เล่นใหม่ๆ ในระบบเศรษฐกิจการเงินที่จะมาต่อยอดตอบโจทย์โลกยุคดิจิทัลในวันข้างหน้าได้
รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวเตือนว่า ราคาคริปโทเคอเรนซีเข้าสู่ขาลงรอบใหม่และผันผวน โดยบิทคอยน์ปรับลง 17% อิเธอเรียมปรับลง 16% ภายในวันเดียวเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา และตลาดหุ้นอาจมีการปรับฐานใหญ่ คริปโทเคอเรนซี ไม่เหมาะสมเป็น “เงินตราดิจิดัล” เพราะมีความผันผวนสูง เป็นสื่อกลางแลกเปลี่ยนที่ไม่มีเสถียรภาพนัก ไม่สามารถวัดมูลค่าหรือสะสมค่าได้อย่างมีประสิทธิภาพนัก เป็นสินทรัพย์เพื่อการลงทุนได้แต่อาจจะไม่สามารถเป็น “เงินตรา” ในการแลกเปลี่ยนเพื่อซื้อสินค้าบริการได้ดีหรือมีประสิทธิภาพ
แต่แบงก์ชาติควรปล่อยให้ “เอกชน” ตัดสินใจเลือกเองได้ว่า เอกชนหลายใดจะนำ “คริปโทเคอเรนซี” มาใช้ในการชำระสินค้าและบริการ เพราะขณะนี้หลายบริษัทประกาศให้ลูกค้าชำระค่าสินค้าด้วยคริปโทฯ เช่น กลุ่มอสังหาฯ ทั้งบริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน), บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน), บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) ยังมี กลุ่มค้าปลีก อย่างเช่น "เดอะมอลล์ กรุ๊ป” ร่วมมือกับ “Bitkub” “ร้านกาแฟอินทนิล” ของบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) มีแผนออกเหรียญโทเคนเอง
สิ่งที่แบงก์ชาติต้องดำเนินการ คือ วางระบบบริหารความเสี่ยงในการใช้ “คริปโทเคอเรนซี” ชำระสินค้าและบริการ และเอกชนต้องรับความเสี่ยงจากการดำเนินการดังกล่าวเอง แม้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไม่ได้ห้ามให้ทำธุรกรรมดังกล่าว แต่ประกาศไม่สนับสนุนให้ใช้สินทรัพย์ดิจิทัลมาชำระค่าสินค้าและบริการ เนื่องจากมองว่ามีความผันผวนสูง เสี่ยงที่จะถูกโจรกรรมทางไซเบอร์ และอาจถูกใช้เป็นเครื่องมือในการฟอกเงิน
รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวว่า จากประกาศล่าสุดของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ไม่สนับสนุนการใช้ “คริปโทเคอเรนซี” นั้น แม้ไม่ได้เป็นการห้ามทำธุรกรรมแต่น่าจะส่งผลกระทบต่อธุรกรรมการซื้อสินค้าและบริการผ่าน “คริปโทเคอเรนซี” อย่างแน่นอน อย่าง JMART และ BTS จะได้รับผลกระทบจากยอดขายและการใช้บริการในกลุ่มลดลง เพราะมีแผนนำเหรียญ JFin Coin ใช้ชำระสินค้าในกลุ่ม, CRC ที่เตรียมเปิดรับเหรียญในการซื้อสินค้าและบริการ ส่วนกลุ่มอสังหาฯ ORI, ANAN ให้ซื้อบ้านด้วย BTC, ETH และ USDT
ประกาศของ ธปท. ส่งผลกระทบเชิงลบต่อบริษัทจดทะเบียนอยู่บ้าง โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจประเภท ICO Portal เนื่องจากจะเป็นอุปสรรคในการออกโทเคน แต่ประกาศอาจมีความจำเป็นต่อการป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนสูง เสี่ยงที่จะถูกโจรกรรมทางไซเบอร์ และอาจถูกใช้เป็นเครื่องมือในการฟอกเงิน ส่วนกลุ่มที่รับชำระค่าสินค้าบริการคาดไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากจำนวนผู้บริโภคที่จะใช้โทเคนซื้อขายสินค้าและบริการยังจำกัดมาก ด้าน SCB อาจได้รับผลกระทบจากธุรกรรมของ Bitkub ที่อาจต่ำกว่าเป้าหมาย ถ้าเป็น Stable Coin แบงก์ชาติควรสนับสนุนมาใช้ชำระค่าสินค้าและบริการได้ ทางแก้ คือ แบงก์ชาติควรเร่งออก “เงินดิจิทัล” เอง เพื่อประชาชนและธุรกิจทั่วไปได้ใช้บริการ
ขณะที่ Mobile money ได้เกิดขึ้นเป็นเรื่องปรกติในสังคมแล้ว การโอนเงินผ่านโทรศัพท์มือถือผ่านผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ อาจเป็นการโอนเงินระหว่างผู้ใช้บริการภายในเครือข่ายโทรศัพท์ด้วยกันหรือการโอนเงินไปยังผู้รับปลายทางที่อยู่นอกเครือข่ายโดยอาศัยการส่ง SMS และรหัสลับ (PIN) ให้กับผู้รับเงินเพื่อนำไปเบิกเงินกับร้านค้าที่เป็นตัวแทนหรือ ATM ซึ่งพบทั้งการโอนเงินในประเทศและการโอนเงินระหว่างประเทศ ตัวอย่างเช่น M-Pesa ใช้ในอินเดีย หรือ Wing ของกัมพูชา เป็นต้น P2P cross-border money transfer: การโอนเงินระหว่างประเทศผ่านบัญชีผู้ใช้งานซึ่งให้บริการโดย Non-banks ระบบจะตรวจสอบความต้องการโอนเงินในแต่ละประเทศด้วย Algorithm เพื่อจับคู่ความต้องการโอนเงินที่ตรงกัน ซึ่งระบบนี้ใช้กันทั้งในละตินอเมริกา หรือ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เป็นต้น
เวลานี้เอง Distributed ledger technology (DLT) หรือ เทคโนโลยีการลงบัญชีแบบกระจายตัว หรือ Blockchain การโอนเงินอาจเกิดขึ้นได้โดยอาศัยสัญญาอัจฉริยะ หรือ Smart contract ที่มีเทคโนโลยีนี้เป็นพื้นฐาน ข้อตกลงจะบันทึกไว้ด้วยรหัสคอมพิวเตอร์ให้เกิดการทำตามเงื่อนไขที่ตกลงไว้อัตโนมัติเมื่อมีเหตุการณ์ตามที่ระบุไว้ในสัญญา เช่น การจ่ายเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยเมื่อครบระยะเวลาที่กำหนดในสัญญาอัตโนมัติ และไม่จำเป็นต้องอาศัยตัวกลางทางการเงินที่เป็นธนาคารตัวแทนต่างประเทศ หรือเครือข่าย SWIFT เหมือนการโอนเงินรูปแบบเดิม
กลุ่มนวัตกรรมการเงินที่กล่าวมาข้างต้นเป็น Disruptive innovation ที่จะกระทบระบบการชำระเงินและระบบธนาคารแบบดั้งเดิมมาก สามารถแบ่งได้เป็น 2 ระดับ คือ ระดับที่หนึ่ง การเสริมบริการชำระเงินของสถาบันการเงิน ปัจจุบันบริการโอนเงินผ่านมือถือ และการโอนเงินบุคคลต่อบุคคลโดยไม่ผ่านตัวกลางทางการเงินได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงรูปแบบของบริการทางการเงินในประเทศกำลังพัฒนาจำนวนมากและทำให้เกิดบริการทางการเงินที่ทั่วถึงมากขึ้นซึ่งช่วยเสริมบริการทางการเงินและทดแทนบริการของธนาคารพาณิชย์ในเวลาเดียวกัน โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ คือ อัตราการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยี เช่น อินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์เคลื่อนที่
อย่างไรก็ดี สำหรับพื้นที่หรือประเทศที่มีโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินพร้อมและพัฒนาเป็นอย่างดี การชำระเงินผ่านสถาบันการเงินยังคงเป็นทางเลือกที่ดีกว่าสำหรับผู้บริโภค ระดับที่สอง การทดแทนบริการทางการเงินหลักของสถาบันการเงิน เทคโนโลยีการลงบัญชีแบบกระจายตัว หรือ Distributed ledger มีศักยภาพในการทดแทนการโอนเงินระหว่างประเทศในรูปแบบเดิมจากคุณสมบัติเฉพาะหลายประการ โปร่งใส ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ ต้นทุนต่ำ ลดขั้นตอนและรวดเร็วกว่า
อย่างไรก็ตาม การพัฒนา Distributed ledger เพื่อใช้ในระบบการชำระเงินขนาดใหญ่ที่มีปริมาณธุรกรรมจำนวนมากและเชื่อมโยงธุรกรรมระหว่างประเทศทั่วโลกทดแทนระบบชำระเงินผ่านสถาบันการเงินแบบเดิมต้องใช้เวลาอย่างน้อย 5-10 ปี ในเวลานี้ สถาบันการเงินที่มีรายได้จากการโอนเงินระหว่างประเทศต้องรีบเร่งในการปรับตัวหารายได้อย่างอื่นมาทดแทน Distributed ledger จะเพิ่มผู้เล่นรายใหม่ในธุรกิจบริการการเงิน
รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ควรวิตกกังวลผลกระทบของเทคโนโลยีทางการเงินและ “คริปโทเคอเรนซี” มากเกินไปจนกระทั่งไปออกระเบียบหรือมาตรการใดๆ ที่ไปชะลอหรือเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาระบบการชำระเงินหรือระบบการเงินภายใต้เทคโนโลยีแบบใหม่
และเข้าใจว่าธนาคารกลางของทุกประเทศรวมทั้งแบงก์ชาตินั้นมีหน้าที่ให้เกิดระบบการเงินและระบบการชำระเงินที่มีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ แต่ความมั่นคงและเสถียรภาพอย่างแท้จริงนั้นต้องเกิดจากการปรับตัวของระบบธนาคารและสถาบันการเงินแบบดั้งเดิมที่เกิดขึ้นมาในศตวรรษที่ 17 ภายใต้พลวัตของเทคโนโลยีทางการเงินในศตวรรษที่ 21 ด้วย
การรักษาความสมดุลระหว่างการส่งเสริมให้เกิดการใช้ระบบการเงินและระบบชำระเงินด้วยเทคโนโลยีทางการเงินใหม่ๆ รวมทั้งการใช้ “คริปโทเคอเรนซี” กับการประคับประคอง “ระบบการเงินและสถาบันการเงินแบบดั้งเดิม” ให้สามารถดำเนินต่อไปได้ในระยะเปลี่ยนผ่านเพื่อไม่ให้เกิดการความเสี่ยงในเชิงระบบ อย่างไรก็ตาม ปัญหาเฉพาะหน้าขณะนี้ คือ การระมัดระวังไม่ให้เกิดการลุกลามของปัญหาการล้มละลายและการขาดสภาพคล่องของธุรกิจอุตสาหกรรมประกันวินาศภัยสู่ภาคการเงินอื่นๆ
และรัฐบาลและธนาคารกลาง ควรประสานให้ คปภ มีแนวทางและมาตรการชัดเจนในการทำให้ผู้ประกอบการประกันภัยที่มีฐานะการเงินอ่อนแอสามารถเข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำพิเศษเพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่องเฉพาะหน้า และปรับเปลี่ยนกฎระเบียบบางประการเพื่อให้กิจการประกันภัยสามารถประคับประคองสถานการณ์ความเสี่ยงเชิงระบบจากวิกฤติโควิด
รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า อนาคตธุรกิจการเงินการธนาคารไทยจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก จะมีการขยายพรมแดนทางธุรกิจออกไป พลวัตนี้ส่งผลบวกต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจและตลาดการเงิน อย่างไรก็ตาม สถาบันการเงินและธนาคารแบบดั้งเดิมที่ไม่ปรับตัวให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและพฤติกรรมผู้บริโภคย่อมมีสภาพไม่ต่างจากความล่มสลายลงของกิจการทางด้านบริการอื่นๆ แบบดั้งเดิม เช่น ธุรกิจสื่อสารมวลชนแบบดั้งเดิม ธุรกิจโทรคมนาคมดั้งเดิม เป็นต้น
ธุรกิจการให้บริการการเงินของธนาคารแบบดั้งเดิม Traditional Banking Service จะลดบทบาทลงอย่างรวดเร็วกว่าที่คาดการณ์หากไม่มีแรงต้านต่อการเปลี่ยนแปลงจากกฎระเบียบเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่มธนาคารแบบดั้งเดิม ขณะที่การให้บริการทางการเงินและปล่อยสินเชื่อแบบดิจิทัล (Digital Financial Service) และ ธุรกิจดิจิทัลแพลตฟอร์ม การลงทุนและการบริการทางด้านเทคโนโลยีที่ใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลขนาดใหญ่และเทคโนโลยีบล็อกเชนจะเป็นอนาคตของกลุ่มธุรกิจการเงิน