จับตา ttb จับมือ เอเอ็มซี ตั้งบริษัทร่วมทุน เคลียร์ ‘หนี้เสีย’
จับตาแบงก์ หันโฟกัส จับมือเอเอ็มซี ตั้งบริษัทร่วมทุน ทำธุรกิจบริหารหนี้ด้อยคุณภาพ ด้าน SCBxประกาศตั้งบริษัทจัดการหนี้สินเชื่อไม่มีหลักประกัน จับตากสิกรจับมือJMT ล่าสุดวงในชี้จับตาอีกแบงก์ ttb หลังมีข่าวซุ่มตั้งเอเอ็มซี เเคลียร์หนี้เสีย
ปัจจุบันแนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือเอ็นพีแอล มีทิศทางเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ณ ไตรมาส 3 ที่ผ่านมา มีการรายงานตัวเลข “หนี้เสีย”ในระบบธนาคารพาณิชย์ โดยพบว่ามีสูงถึง 5.46 แสนล้านบาท หรือราว 3.14% ซึ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง หากเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาที่อยู่ระดับ 3.09% และยังเพิ่มขึ้นหากเทียบกับระดับก่อนเกิด ที่หนี้เสีย อยู่เพียง 2.98% ณ สิ้นไตรมาส 4 ปี 2562 แม้ที่ผ่านมา แม้ปัจจุบันจะมีมาตรการช่วยเหลือจากธปท.และแบงก์ในการช่วยอุ้มลูกหนี้จากวิกฤติก็ตาม
เช่นเดียวกันกับ สินเชื่อที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความเสี่ยงด้านเครดิต หรือที่เราคุ้นหูกันดี คือ SM หรือลูกหนี้ใน Sage 2 ที่มีประวัติการค้างชำระ แต่ยังไม่เกิน 90 วัน ที่ปัจจุบันเพิ่มสูงต่อเนื่องเช่นกันมาอยู่ที่ 6.69%
ภายใต้หนี้เสียที่ ทยอยปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง บริษัทบริหารสินทรัพย์ หรือเอเอ็มซี ที่ทำธุรกิจรับบริหารหนี้เสีย จะยิ่งมีบทบาทอย่างมาก ในการเป็นเครื่องมือสำคัญ เพื่อเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาหนี้เสียในระบบได้อย่างมีประสิทธิภาพ และลดปัญหาหนี้ครัวเรือนในระบบให้ลดลงได้
หากดูจำนวน เอเอ็มซีในปัจจุบันพบว่า มีทิศทางเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยปัจจุบันมีจำนวนเอเอ็มซี ที่อยู่ภายใต้กำกับธปท.ที่ 61 บริษัท เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หากเทียบกับไตรมาส แรกปี 2563 ที่มีเพียง 56 บริษัท ดังนั้นภายใต้แนวโน้มหนี้เสียที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ก็อาจเป็น “โอกาสท่ามกลางวิกฤติ”ของเอเอ็มซี ในการเข้ามาแข่งขันรับซื้อหนี้เสียในระบบไปบริหารมากขึ้น
แต่อย่างไรก็ตาม แม้เอเอ็มซี จะมีเพิ่มขึ้น แต่บทบาทในการเข้าไป รับบริหารหรือแก้หนี้เสียของเอเอ็มซี ยังอาจไม่ได้ตอบโจทย์มากนัก เพราะยังมีข้อจำกัดด้านกฎหมายภายใต้ พระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ. 2541 ที่ยังไม่ได้เปิดกว้างในการทำธุรกิจมากนัก
โดยธปท.ระบุว่า ณ 31 มิ.ย. 2564 ที่ผ่านมา ภายใต้บบส. ที่มีจำนวน 60 แห่ง มีการเข้าไปรับซื้อหนี้หรือรับโอนหนี้เสียในระบบ ในปี 2563 เพียง 71,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นราว 14% ของยอดคงค้างหนี้เสียในระบบของสถาบันการเงินที่มีสูง 5.23 แสนล้านบาทเท่านั้น
แต่ภายใต้วิกฤติโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดความผันผวน ความไม่แน่นอนที่มีสูงขึ้น อาจทำให้สินทรัพย์ด้อยคุณภาพในระบบการเงินทยอยเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้นภายใต้กรอบกฎหมายเดิม ก็อาจไม่เพียงพอที่จะสนับสนุนให้ บบส. เป็นกลไกสำคัญในการบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ และช่วยแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนในระบบได้ ดังนั้นเพื่อให้ บบส. มีบทบาท ในการเข้ามาช่วยบริหารหนี้เสียได้อย่างมีประสิทธิภาพ ธปท.จึงเห็นความจำเป็นในการแก้ไขกฎหมายเพิ่มเติม เพื่อลดข้อจำกัดในการทำธุรกิจของบบส.
การแก้กฎหมายครั้งนี้ จะทำให้ขอบเขตการทำธุรกิจของบบส.กว้างขึ้น โดยเอื้อให้บบส. สามารถรับจ้างบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพให้กับหน่วยงานภาครัฐตามรายชื่อที่กระทรวงการคลังกำหนดได้ เช่นการเข้าไปบริหารหนี้ให้ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) เพื่อช่วยภาครัฐบริหารจัดการสินทรัพย์ได้ดีขึ้นขึ้น
รวมถึงทำให้บบส.สามารถให้บริการแก่ลูกค้าได้หลายกลุ่มมากขึ้น ซึ่งอาจเป็นการสร้างโอกาสใหม่ในการสร้างรายได้ของธุรกิจบบส.ในระยะข้างหน้าด้วย
“ธรัฐพร เตชะกิจขจร” กรรมการผู้จัดการ บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (SAM) กล่าวถึงการแก้กฎหมายครั้งนี้ ของธปท.ถือเป็นโอกาสของ บริษัทเอเอ็มซีมากขึ้น ให้สามารถเปิดกว้างในการทำธุรกิจ นอกจากกรอบเดิมๆ เอื้อให้เอเอ็มซีสามารถเข้าไปบริหารหนี้ด้อยคุณภาพได้มากขึ้น
ซึ่งวันนี้ SAM อยู่ระหว่างการเจรจา ร่วมทุน หรือ Joint venture ร่วมกับแบงก์รัฐและแบงก์พาณิชย์ เพื่อขยายสายป่านในการทำธุรกิจให้มากขึ้นด้วย ซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจนได้ภายในไตรมาสแรกปีหน้า หลังธปท.มีการปลดล็อกกฎหมายเสร็จสิ้น
ดังนั้นเชื่อว่า การแข่งขันในธุรกิจบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ ในระยะข้างหน้า จะคึกคักมากขึ้น เพราะเวลานี้ มีผู้เล่นทั้งในและนอกตลาด เริ่มให้ความสนใจมากขึ้น ในการเข้ามาทำธุรกิจนี้
โดยเฉพาะแบงก์ ที่เริ่มให้ความสนใจ ตั้งเอเอ็มซี เพื่อบริหารหนี้เสียภายในองค์กร รวมไปถึงบริษัทอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ ที่มีการจับมือกับเอเอ็มซี หรือพาร์สเนอร์ชิฟ ในการหาโอกาสเพื่อเข้ามาบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่มีอยู่จำนวนมากในปัจจุบัน
“เรามองว่าการเปิดให้บริษัทเอเอ็มซี สามารถจับมือกับพันมิตร หรือเข้าไปรับบริหารสินทรัพย์ได้กว้างขึ้น แม้จะทำให้เกิดการแข่งขันในระบบมากขึ้น จากผู้เล่นใหม่ๆที่เข้ามา แต่เชื่อว่าจะเป็นผลบวกต่อเรา เพราะเราเชื่อว่า เรามีความเชี่ยวชาญในการบริหารหนี้ด้อยคุณภาพอันดับต้นๆในธุรกิจนี้ ดังนั้นหากแบงก์ หรือผู้เล่นอื่นๆอยากจะทำ ก็ต้องเดินเข้ามาหาเราก่อน”
หากย้อนดูการเคลื่อนไหวในตลาดที่ผ่านมา พบว่า ทั้งแบงก์ และนอนแบงก์ เริ่มประกาศเจตนารมณ์ชัดเจน ในการเข้ามาทำธุรกิจเอเอ็มซีมากขึ้น เช่น เอสซีบี เอกซ์ (SCBX) ยานแม่ลำใหม่ของ ธนาคารไทยพาณิชย์(SCB) ที่ประกาศตั้ง บริษัท บริหารสินทรัพย์ คาร์ดเอกซ์ จำกัด (Card X AMC) เพื่อให้เข้ามาบริหารหนี้ด้อยคุณภาพที่ไม่มีหลักประกัน โดยเฉพาะหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลของแบงก์ ซึ่งหากทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็อาจเห็นการออกมารับบริหารหนี้ด้อยคุณภาพนอกแบงก์ด้วยในระยะข้างหน้า
ฟาก “กสิกรไทย” ก็มีกระแสข่าวว่า ได้บรรลุข้อตกลงร่วมกับ บมจ.เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส (JMT) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ บมจ.เจมาร์ท (JMART) เพื่อจัดตั้งบริษัทร่วมทุนในรูปแบบของบริษัทบริหารสินทรัพย์ ในการรับโอนหนีเสียที่ไม่มีหลักประกันของแบงก์ไปบริหารเช่นเดียวกัน แม้ก่อนหน้านี้ JMT จะแจ้งตลาดหลักทรัพย์ว่า ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการหารือพันธมิตร แต่ยังไม่มีข้อสรุปอย่างเป็นทางการแต่อย่างใด
ไม่เพียงเท่านั้น เร็วๆนี้ มีข่าวจากวงในว่า ฟากแบงก์ใหญ่อีกแบงก์ อย่าง ธนาคารทีเอ็มบีธนชาติ ( ttb) ก็อยู่ระหว่างซุ่มดีลกับ เอเอ็มซี ตัวท๊อปในระบบเช่นเดียวกัน เพื่อจัดตั้งบริษัทร่วมทุน ในการเข้าไปทำธุรกิจบริหารหนี้ด้อยคุณภาพ ทั้งของแบงก์ และนอกแบงก์
ท้ายที่สุด ก็เชื่อว่า จะเป็นประโยชน์มาสู่ประเทศ สู่ระบบการเงินไทย ให้สามารถมีเครื่องมือมากขึ้น ในการเข้าไปมาจัดการหนี้เสีย จัดการหนี้ครัวเรือนได้อย่างเต็มประสิทธิภาพมากขึ้น
เหล่านี้ ถือเป็น “มูฟเม้นท์”ที่สำคัญ ที่น่าจับตามาก หากแบงก์ใหญ่ชั้นแนวหน้า หันโฟกัส ลงมาทำธุรกิจนอกแบงก์ ในธุรกิจบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพในระยะข้างหน้า ทั้งการจับมือกับเอเอ็มซี รวมพันธมิตร หรือจะตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมาบริหารเอง
ซึ่งทำให้ ธุรกิจบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ หรือเอเอ็มซีในระยะข้างหน้าคึกคักมากขึ้น ภายใต้สมรภูมิรบใหม่ที่จะเกิดขึ้น จากผู้เล่นใหม่ที่เป็นเจ้าใหญ่ เจ้าถิ่นอย่างแบงก์ ที่กุม “หนี้เสีย”อยู่ในมือมหาศาลเข้ามาเล่นในตลาดนี้เอง