สหภาพรถไฟฯ ยื่น 3 ข้อเสนอ ยันปิดหัวลำโพงกระทบประชาชน
สหภาพรถไฟฯ เสนอ 3 แนวทางแก้ปมหัวลำโพง ยันไม่ควรหยุดเดินรถ หันแก้ปัญหาเพิ่มทางยกระดับข้ามรถไฟ หรืออุโมงค์ยมราช พร้อมดึงพื้นที่เชิงพาณิชย์ทุกแปลงเร่งหารายได้
นายสาวิทย์ แก้วหวาน ที่ปรึกษาสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) เปิดเผยถึงการจัดงานเสวนา "ปิดหัวลำโพงเพื่อการพัฒนาฯ หรือผลักภาระให้ประชาชน" ที่จัดขึ้นโดย สร.รฟท. วันนี้ (7 ธ.ค.) โดยระบุว่า สร.รฟท. มีข้อเสนอต่อรัฐบาลและผู้เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหา ดังต่อไปนี้
1. การให้มีบริการขบวนรถไฟรับ – ส่งผู้โดยสารที่สถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) ควรมีอยู่ต่อไป โดยให้มีขบวนรถไฟชานเมืองทุกสาย และรถบริการเชิงสังคม(PSO) ทางไกล อย่างน้อยเส้นทางละ 1 ขบวน มีต้นทาง – ปลายทางที่สถานีกรุงเทพ เพื่อเป็นบริการขนส่งสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของรัฐ ที่รองรับประชาชนจำนวนมากจากทั่วทุกส่วนภูมิภาคเข้ามาสู่กรุงเทพมหานคร ด้วยความสะดวก ปลอดภัย รวมทั้งใช้ในการเดินขบวนรถพิเศษเนื่องในโอกาสต่างๆ ที่สำคัญของประเทศ และของการรถไฟฯ อีกทั้งเป็นพื้นที่อันควรค่ายิ่งแก่การอนุรักษ์ใช้เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ได้ ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์ที่มีชีวิต ส่วนที่สถานีกลางบางซื่อ ให้เป็นต้นทาง – ปลายทาง ของขบวนรถเชิงพาณิชย์และขบวนอื่นๆที่จะมีต่อไปในอนาคต
2.การแก้ปัญหาการจราจรติดขัดในพื้นที่ กทม. รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการขนส่งทางรางเป็นระบบหลักอย่างสมบูรณ์เต็มระบบ ซึ่งในประเทศที่เจริญแล้วต่างก็ใช้ระบบขนส่งทางรางเป็นระบบขนส่งหลักในเมืองเพื่อแก้ไขปัญหาการจราจร ส่งเสริมให้ลดปริมาณการใช้รถยนต์ เนื่องจากขนส่งคนได้เป็นจำนวนมาก ไม่สร้างมลภาวะเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทางแก้ควรขยายทางยกระดับข้ามทางรถไฟ หรือขุดอุโมงค์ที่ถนนตัดผ่านเสมอระดับทางที่ยมราช โดยรัฐบาลควรดำเนินการเร่งรัดโครงการก่อสร้างโครงข่ายรถไฟชานเมืองสายสีแดงส่วนต่อขยายให้เต็มรูปแบบ ที่ดำเนินการโดยรัฐทั้งระบบโครงสร้างพื้นฐานและการบริหารจัดการ เพื่อควบคุมราคาค่าบริการและเป็นรัฐสวัสดิการให้กับประชาชน
3.การพัฒนาพื้นที่ในเชิงพาณิชย์เพื่อมาชดเชยผลการดำเนินงานที่ขาดทุนของการรถไฟฯ ควรดำเนินการจากที่ดินของการรถไฟฯในพื้นที่ที่มีความพร้อม เช่น พื้นที่ย่านพหลโยธิน บางซื่อ จตุจักร รัชดาภิเษก สถานีแม่น้ำ หรือพื้นที่อื่นๆที่มีศักยภาพและความพร้อมทั้งในกรุงเทพ และต่างจังหวัด เช่น เชียงใหม่ พิษณุโลก อรัญประเทศ สงขลา พังงา ประจวบคีรีขันธ์ อุดรธานี ขอนแก่นอุบลราชธานี นครราชสีมา และ บุรีรัมย์ เป็นต้น พื้นที่สถานีรถไฟหัวลำโพงเป็นที่ดินที่มีวัตถุประสงค์ในการใช้เพื่อประโยชน์แห่งรัฐและประชาชน ดำเนินธุรกิจอันเกี่ยวกับการขนส่งของรถไฟที่ใช้สำหรับการเดินรถ การนำมาใช้เพื่อประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ อาจเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขัดกับวัตถุประสงค์ตามพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ.2494 มาตรา 6 ต้องการที่จะหาประโยชน์จากการพัฒนาที่ดิน โดยหากมีความจำเป็นต้องพัฒนาที่ดินบริเวณสถานีหัวลำโพงด้วย ไม่จำเป็นต้องปิดสถานีหัวลำโพง และหยุดให้บริการเดินรถไฟแต่อย่างใด เพราะการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์กับการขนส่งสาธารณะทางรถไฟสามารถดำเนินการควบคู่กันไปได้ ตามกรณีที่อ้างว่าการรถไฟฯขาดทุนต้องพูดความจริงให้หมด ตามพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 มาตรา 43 ถ้ารายได้มีจำนวนไม่พอสำหรับรายจ่าย(ขาดทุน) รัฐพึงจ่ายเงินให้แก่การรถไฟแห่งประเทศไทยเท่าจำนวนที่ขาด โดยการรถไฟฯ ดำเนินงานตามนโยบายของรัฐในการให้บริการเชิงสังคมที่ต่ำกว่าต้นทุน ขาดทุนสะสมกว่า 190,000 ล้านบาท แต่รัฐบาลไม่ได้จ่ายเงินชดเชยให้ตามเวลา และตามจำนวนที่ขาด จนทำให้การรถไฟฯต้องไปกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่อง และรับภาระดอกเบี้ยประมาณปีละ 3,000 ล้านบาท
สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยสมาชิก และคนรถไฟทุกคน ขอสืบทอดเจตนารมณ์พระราชปณิธาน ของสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว “พระปิยมหาราช”ที่มีมาอย่างยาวนาน ทรงพระราชทาน “กิจการรถไฟ” ไว้เพื่อประโยชน์แห่งรัฐและประชาชน และรักษาประวัติศาสตร์ที่ทรงคุณค่ายิ่งของการรถไฟเอาไว้ รวมทั้งความเจริญรุ่งเรืองของระบบขนส่งทางรถไฟโดยตรง สร.รฟท.ไม่ได้คัดค้านการพัฒนาแต่อย่างใด แต่การพัฒนานั้นควรนำไปสู่สิ่งที่ดีกว่าเดิม ด้วยความยั่งยืนของประชาชน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ไม่สร้างภาระให้กับประชาชน โดยมิใช่การทำลายคุณค่าทางประวัติศาสตร์ การด้อยค่าความสำคัญโดยทำให้ภาพของการเป็นกิจการแห่งรถไฟสยามเลือนหายไป ซึ่งหากไม่มีขบวนรถไฟเข้ามาแล้วจะเรียกว่าเป็นประวัติศาสตร์ที่มีชีวิตได้อย่างไรกัน