KTB เร่งประคองลูกหนี้ พ้นหน้าผา ‘เอ็นพีแอล’
“กรุงไทย” คาดยอดปล่อยสินเชื่อปี 65 เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากปีนี้คาดทำได้ตามเป้าหมายที่ 3-4% เหตุ เศรษฐกิจเริ่มฟื้น หวังโอมิครอนกระทบไม่รุนแรง เผย ขณะนี้ลูกหนี้สัญญาณกลับมาชำระหนี้ดีขึ้น
นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย (KTB) เปิดเผยว่า ภาพรวมการดำเนินธุรกิจ ในด้านการปล่อยสินเชื่อ ถือว่ายังสามารถเติบโตได้โดยคาดว่า ปีนี้สินเชื่อน่าจะเติบโตตามเป้าหมายที่ 3-4 %เช่นเดียวกันกับปี 2565 ที่คาดว่าจะเห็นสินเชื่อเติบโตได้ต่อเนื่องจากปีนี้ ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ หากโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ไม่ได้มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากนัก
สำหรับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ณ สิ้นไตรมาส 3 ของกรุงไทย อยู่ที่ 3.57% ลดลง หากเทียบกับสิ้นปีที่ผ่านมาที่ระดับ 3.81% ส่วนสินเชื่อ ขยายตัวอยู่ที่ 9.3%
ปัจจุบันภาพรวมลูกหนี้มีทิศทางปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะสัญญาณการชำระเงินคืนที่ดีขึ้นต่อเนื่อง ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ หลังรัฐบาลมีการเร่งฉีดวัคซีนไปสู่ 60-70% ของประชากรทั้งประเทศส่งผลให้ภาคเศรษฐกิจ ภาคท่องเที่ยวกลับมาฟื้นตัวได้ นำไปสู่การมีรายได้มากขึ้น
ทั้งนี้ แม้ภาพรวมจะปรับตัวดีขึ้น แต่ธนาคารมองว่า ปัจจุบันยังเป็นช่วงของการประคองและช่วยเหลือลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง ภายใต้วิกฤติโควิด-19 ที่ยังอยู่ต่อเนื่อง ทำให้ยังมีความจำเป็นในการใช้มาตรการของธปท.ในการเข้ามาดูแลลูกหนี้ต่อเนื่อง
“วันนี้ลูกหนี้ทั้งระบบ 2 ล้านล้านบาท เราเชื่อว่าสถานะเขาดีขึ้น ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่ก็ต้องประคองไปเรื่อยๆ เพราะภายใต้โควิด-19 เราต้องยอมรับว่ามีอาฟเตอร์ช็อกที่ซ่อนอยู่ จากโควิด-19 ที่คาดว่าจะสร้างอิมแพคต่ออุตสาหกรรม ต่อสถาบันการเงินไปอย่างน้อย2ปี”
นายผยง กล่าวถึง กรณี ที่คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.)ได้หารือและพิจารณาร่างประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาเกี่ยวกับเรื่องเช่าซื้อรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ ของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) ที่มีการกำหนดเพดานดอกเบี้ยรถยนต์ และรถจักรยานยนต์มือสอง
โดยร่างกำหนดให้คิดดอกเบี้ยได้ไม่เกิน 20% นั้น เชื่อว่า การเข้ามาคุมด้านดอกเบี้ยถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะปัจจุบันไม่ได้มีมาตรฐานในการคิดดอกเบี้ยสินเชื่อเช่าซื้อ ซึ่งอาจไม่ได้สร้างเป็นธรรมให้กับผู้บริโภค
ทั้งนี้การกำหนดเพดานดอกเบี้ยที่ 20% ก็อาจกระทบต่อภาครวม หรือมีผลกระทบเป็นลูกโซ่ได้ เพราะการคิดอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำเกินไป จะทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถดำเนินธุรกิจให้อยู่รอดได้ โดยเฉพาะธุรกิจลิซซิ่งในต่างจังหวัด
ซึ่งอาจนำมาสู่การลดการปล่อยสินเชื่อรถ จนกระทบมาสู่ผู้กู้ ให้ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้ ซึ่งอาจทำให้ลูกหนี้กลุ่มนี้กลับไปพึ่งพาหนี้นอกระบบในท้ายที่สุดได้
อย่างไรก็ตาม กกร. มีการเสนอให้ กำหนดเพดานดอกเบี้ยรถยนต์ใช้แล้ว 24% ต่อปี และดอกเบี้ยมอเตอร์ไซค์ 36%