ส่อง แผนแก้เหลื่อมล้ำ รัฐเร่ง 4 เรื่องสำคัญปิดช่องว่างการพัฒนา
รัฐบาลเดินหน้าแผนแก้ความเหลื่อมล้ำตั้ง "กบสท."นายกฯเป็นประธาน พ่วงผู้ทรงคุณวุฒิ 20 คน เดินหน้า 4 เรื่องสำคัญปิดช่องว่างที่ยังทำไม่สำเร็จในแผนยุทธศาสตร์ชาติ ดูแลนักเรียนยากจน เสริมเศรษฐกิจฐานราก พัฒนาหลักประกันและความคุ้มครองทางสังคม พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
ปัญหาความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาสำคัญที่สั่งสมในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน บ่อยครั้งบานปลายเป็นชนวนทางการเมืองที่ถูกปลุกเร้าขึ้นมาให้เกิดเป็นความขัดแย้งทางสังคมเป็นระยะๆ รวมทั้งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ถูกบรรจุไว้ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศที่จะต้องวางแผนแก้ไขอย่างเป็นระบบ
ในความพยายามแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำของรัฐบาล ล่าสุดได้มีการตั้งคณะกรรมการบูรณาการเพื่อพัฒนาความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางสังคม หรือ "กบสท." โดยมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประธาน มีพล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นรองประธานกรรมการ และมีกรรมการประกอบด้วย รัฐมนตรี ผู้แทนภาคเอกชน และผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 20 คน มีเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นกรรมการและเลขานุการ
ที่ประชุมฯได้เห็นชอบในหลักการของแนวทางการขับเคลื่อนการบูรณาการเพื่อพัฒนาความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางสังคม เพื่อปิดช่องว่างการพัฒนาที่ยังไม่บรรลุเป้าหมายตาม
กรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ 4 เรื่องสำคัญ ประกอบด้วย
1.สร้างระบบและกลไกให้ความช่วยเหลือเด็กนักเรียนยากจนพิเศษเป็นรายบุคคล กลุ่มเป้าหมาย คือ กลุ่มนักเรียนยากจนพิเศษ กลุ่มเด็กที่ไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษาและไม่ได้ทำงาน (NEETs) และกลุ่มเด็กในครัวเรือนยากจนข้ามรุ่น ประกอบด้วย มาตรการให้ความช่วยเหลือเฉพาะเป็นรายบุคคล เชื่อมโยงการเรียนรู้ทุกประเภทและเปิดทางเลือกในการเรียนรู้เพื่อให้เกิดการเทียบโอนระหว่างทักษะ ประสบการณ์ กับคุณวุฒิการศึกษา และเกิดการเรียนรู้ต่อเนื่อง รวมทั้งมาตรการช่วยเหลือครอบครัวของเด็ก
โดยเป็นการบูรณาการการทำงานระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคม และภาคเอกชน
2.ส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากโดยเพิ่มการเข้าถึงดิจิทัลทั้งระบบ กลุ่มเป้าหมาย คือ กลุ่มประชากรร้อยละ 40 ที่มีรายได้ต่ำสุด (กลุ่ม Bottom 40) ประมาณ 32.7 ล้านคน และกลุ่มผู้ประกอบการท้องถิ่น/วิสาหกิจชุมชน ประกอบด้วย มาตรการอุดหนุนการเข้าถึงดิจิทัล และเพิ่มศักยภาพการใช้ดิจิทัลทั้งระบบแก่คนจนและกลุ่มเปราะบาง
เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงบริการพื้นฐานด้านสาธารณสุข การศึกษา และการประกอบอาชีพ รวมทั้งจูงใจให้เกิดการอบรมพัฒนาทักษะอาชีพ Reskill Upskill New skill และพัฒนาศูนย์เรียนรู้ในพื้นที่เพื่อสร้างอาชีพและทักษะการเป็นผู้ประกอบการในยุคชีวิตวิถีใหม่ ตลอดจนบูรณาการฐานข้อมูลคลัสเตอร์ผู้ประกอบการท้องถิ่นกับหน่วยวิจัยและพัฒนาของสถาบันศึกษาระดับจังหวัดในรูปของ Open Data เพื่อเป็นคลังข้อมูลและความรู้กลางที่ผู้ประกอบการ/ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงอย่างเท่าเทียม
สำหรับยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ และเพิ่มขีดความสามารถของชุมชนท้องถิ่นในการพัฒนา การพึ่งตนเองและการจัดการตนเอง โดยเป็นการบูรณาการการทำงานระหว่างกระทรวงการคลัง กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) ร่วมด้วยภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคม และภาคเอกชน
3.พัฒนาหลักประกันและความคุ้มครองทางสังคมให้ครอบคลุม กลุ่มเป้าหมาย คือ คนจนตกหล่นจากมาตรการสวัสดิการแห่งรัฐหรือระบบฐานข้อมูลที่สำคัญ ประกอบด้วย มาตรการปรับปรุงฐานข้อมูลขนาดใหญ่สำหรับการพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต (TPMAP) และข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) โดยใช้ผลการค้นหา สอบทานข้อมูลด้วยกลไกในพื้นที่ เพื่อพัฒนาฐานข้อมูลรายบุคคลให้ครอบคลุมประชากรจากครัวเรือนยากจนข้ามรุ่นทุกคนและเป็นปัจจุบัน มาตรการเพิ่มระดับการออมในระบบประกันสังคมและการออมภาคสมัครใจ รวมทั้งมาตรการจัดทำระบบให้ความช่วยเหลือในยามวิกฤติจากบทเรียนโควิด-19 โดยใช้ทุนทางสังคมและการมีส่วนร่วมของชุมชนเป็นปัจจัยหลักในการกำหนดรูปแบบ แนวทาง และช่องทางการจัดสรรการเยียวยาช่วยเหลือ
โดยเป็นการบูรณาการการทำงานระหว่างศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) / ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) กระทรวงการคลัง กระทรวงแรงงาน สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) (พอช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กรมการพัฒนาชุมชน ร่วมด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรชุมชนและภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคม
4.พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการในเมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของภูมิภาค ให้เข้าถึงประชาชนทุกกลุ่ม กลุ่มเป้าหมาย คือ ประชาชนทุกกลุ่มในเมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของภูมิภาค อาทิ กทม. และปริมณฑล ขอนแก่น เชียงใหม่ เมืองในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก สงขลา และภูเก็ต เพื่อกระจายความเจริญ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างทั่วถึง
ประกอบด้วย มาตรการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการของเมืองเพื่อรองรับการมีส่วนร่วมของประชาชน เช่น ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ระบบคมนาคมขนส่ง ระบบดิจิทัล สาธารณสุข และการศึกษา อย่างสอดคล้องกับอัตลักษณ์และความต้องการของพื้นที่ พัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศเพื่อการพัฒนาพื้นที่และเมืองร่วมกันระหว่างภาครัฐ เอกชน และประชาชน โดยวางแผนการพัฒนาให้พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและภัยพิบัติ และเสริมสร้างสมรรถนะประชาชนท้องถิ่นในทุกระดับ ให้มีศักยภาพการบริหารจัดการพื้นที่และเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งมาตรการส่งเสริมแหล่งเรียนรู้ในเมืองเพื่อประชาชนทุกกลุ่ม
โดยส่งเสริมให้ภาคส่วนต่าง ๆ สร้างและพัฒนาแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย มีคุณภาพ และตอบสนองต่อความต้องการประชาชน ภายใต้มาตรการทางภาษีเพื่อจูงใจ โดยเป็นการบูรณาการการทำงานระหว่างกระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงการคลัง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมด้วยองค์กรชุมชนและภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคม
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มอบหมายฝ่ายเลขานุการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนการบูรณาการเพื่อพัฒนาความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางสังคม ตามที่ประชุมเห็นชอบ