“อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ” อุตสาหกรรมเป้าหมายอนาคต-ความท้าทายศก.ไทย

“อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ”  อุตสาหกรรมเป้าหมายอนาคต-ความท้าทายศก.ไทย

อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ถือเป็นอุตสาหกรรมหลักที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ อีกทั้ง ยังเป็นสินค้า ส่งออกอันดับ 1 ของไทย โดยมีสัดส่วนมากถึงราว 26% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าทั้งหมดในปี 2020

นอกจากนี้ ยังเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานในการต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (Smart Electronics) ซึ่งถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายของพื้นที่ EEC ในกลุ่ม First S-Curve ที่มุ่งเน้นขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมการผลิตของไทยให้สามารถเติบโตสอดคล้องไปกับความต้องการของตลาดในโลกยุคดิจิทัล ซึ่งจะทำให้มีความต้องการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง รวมทั้งอุปกรณ์และเครื่องมืออัจฉริยะต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของไทยในปัจจุบันนั้น ยังเป็นการผลิตสินค้าในระดับกลางน้ำที่มีมูลค่าเพิ่มไม่มากนัก อาทิ แผงวงจรไฟฟ้า, เซมิคอนดักเตอร์ และวงจรพิมพ์ เป็นต้น ขณะที่ผู้ประกอบการไทยส่วนใหญ่ก็ยังเป็นเพียงผู้รับจ้างประกอบโดยไม่ได้มีเทคโนโลยีเป็นของตนเอง ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ไทยจะต้องเร่งปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไปสู่ห่วงโซ่การผลิตแบบใหม่ที่เน้นการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงและตอบโจทย์ความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนไป

ทั้งนี้ “ไต้หวัน” คือต้นแบบในการพัฒนาอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่น่าสนใจ เพราะมีจุดเริ่มต้นมาจากการเป็นฐานการประกอบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เช่นเดียวกับไทย แต่สามารถพัฒนาจนก้าวไปสู่การเป็นประเทศผู้นำด้านเทคโนโลยีระดับโลกได้ในปัจจุบัน โดยจุดเปลี่ยนสำคัญของไต้หวันเกิดขึ้นในปี 1973 ซึ่งรัฐบาลในสมัยนั้นตั้งเป้าหมายยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศผ่านการออกนโยบายและมาตรการด้านต่าง ๆ อาทิ มาตรการลดหย่อนภาษีสำหรับผู้ประกอบการที่ลงทุนด้าน R&D, มาตรการส่งเสริมธุรกิจร่วมลงทุนระหว่างนักธุรกิจไต้หวันกับนักธุรกิจต่างชาติ เป็นต้น นอกจากนี้ ภาครัฐและภาคเอกชนในประเทศยังได้มีการร่วมทุนกันจัดตั้งบริษัท Taiwan Semiconductor Manufacturing Company (TSMC) ขึ้นมา เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่มีมูลค่าสูง จนกลายเป็นบริษัทผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่อันดับหนึ่งของโลกในปัจจุบัน ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า สิ่งเหล่านี้คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไต้หวันประสบความสำเร็จในการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์จนกลายเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงมาจนถึงทุกวันนี้

อนึ่ง ไทยเองก็มีศักยภาพในการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เช่นเดียวกัน โดยอาศัยจุดแข็งในการเป็นฐานการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของบริษัทข้ามชาติมาอย่างยาวนาน รวมทั้งมีห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่งเป็นทุนเดิมอยู่แล้วเพื่อต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยีที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ดี สิ่งที่ภาครัฐต้องเร่งบูรณาการคือการพัฒนาบุคลากรและแรงงานที่มีศักยภาพและมีทักษะเฉพาะด้านอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้สามารถออกแบบและพัฒนาสินค้าที่เชื่อมโยงกับทิศทางการเติบโตของอุตสาหกรรมในอนาคตและระบบอัจฉริยะต่าง ๆ ได้ ทั้งการปรับทักษะ (reskill) และเพิ่มทักษะ (upskill) รวมทั้งการพัฒนาระบบนิเวศ (ecosystem) และโครงสร้างพื้นฐานในประเทศที่รองรับ อาทิ โครงสร้างพื้นฐานด้าน IoT หรือ Digital Platform อย่าง 5G เพื่อสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมและกระตุ้นอุปสงค์ในประเทศ ซึ่งจะดึงดูดให้เกิดการลงทุนในประเทศมากขึ้น รวมไปถึงการออกสิทธิประโยชน์ด้านต่างๆ ที่จูงใจให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนตั้งฐานการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่มีมูลค่าสูง ซึ่งจะสนับสนุนให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีมายังผู้ประกอบการในประเทศ สอดรับกับเป้าหมายในการยกระดับศักยภาพของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เพื่อก้าวไปสู่การเป็นศูนย์กลางในการผลิตอุปกรณ์และระบบอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะที่สำคัญของอาเซียน และการมีเทคโนโลยีเป็นของตัวเองภายในปี 2027 ตามแผนพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในอนาคตต่อไป

บทความโดย

นงนภัส โกฏิวิเชียร

นักวิเคราะห์

Economic Intelligence Center ธนาคารไทยพาณิชย์

[email protected] | EIC Online: www.scbeic.com