พาณิชย์ชี้“เงินเฟ้อ”ไทย ไม่เข้าเงื่อนไข Stagflation
ภาวะ Stagflation เป็นสถานการณ์ร่วมระหว่างภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Stagnation or Recession) และภาวะเงินเฟ้อสูง (High Inflation) ถือว่าเป็นสถานการณ์ที่ค่อนข้างผิดปกติในระบบเศรษฐกิจ และโอกาสที่ทั้งสองสถานการณ์จะเกิดพร้อม ๆ กันนั้น มีไม่บ่อยนัก
แต่ความไม่ปกติจากการระบาดโควิด-19 ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา อาจทำให้สิ่งที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นสามารถเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะในแวดวงเศรษฐกิจมหภาค
รณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (อธิบดี สนค.) เปิดเผยว่า จากข้อมูลเศรษฐกิจของไทยในภาพรวมและรายสาขา และแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่เริ่มปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเงินเฟ้อในไตรมาสที่ 3 ของปี 2564 ชี้ว่า ไทยยังไม่เข้าสู่ภาวะ Stagflation
เนื่องจากในภาวะที่เศรษฐกิจถดถอย กิจกรรมทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่จะมีแนวโน้มลดลง ทั้งภาคการผลิต การบริโภค การใช้จ่ายภาครัฐ การลงทุน และการส่งออก ส่งผลต่อการจ้างงาน รายได้ และความต้องการ ซึ่งในที่สุดจะเป็นแรงกดดันให้ราคาสินค้าและบริการหรือเงินเฟ้อลดลง
อย่างไรก็ตาม หากมีปัจจัยอื่นที่กดดันให้ราคาสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะปัจจัยด้านต้นทุน อาทิ ราคาน้ำมัน ค่าขนส่ง และราคานำเข้า อาจทำให้เงินเฟ้อโดยรวมขยายตัวและเกิดภาวะ Stagflation ได้ในที่สุด
จากเงื่อนไขดังกล่าวหากพิจารณาจากเศรษฐกิจไทย ไตรมาสที่ 3 ปี 2564 ที่ชี้ว่า ไทยยังไม่เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) แม้ว่า GDP ในไตรมาสที่ 3 จะลดลง0.3% (YoY) เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหลายประเภทถูกจำกัด ขณะที่เศรษฐกิจไตรมาสที่ 2 ของปี ขยายตัวถึง7.6% ส่งผลให้เศรษฐกิจของไทยเฉลี่ย 9 เดือนของปี 2564 ขยายตัว1.3% และในช่วงที่เหลือของปี 2564 และ ปี 2565 คาดว่าจะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีเครื่องชี้วัดเศรษฐกิจสำคัญที่ส่งสัญญาณว่า เศรษฐกิจไทยบางส่วน ยังคงขยายตัวและบางส่วนเริ่มฟื้นตัว โดยเฉพาะการส่งออกสินค้า การลงทุนภาคเอกชน การใช้จ่ายภาครัฐ และการผลิต
รณรงค์ กล่าวถึง เงินเฟ้อของไทยว่า ในพ.ย.ที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น2.71% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ตามราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และสินค้าในกลุ่มอาหารบางชนิด และเงินเฟ้อเฉลี่ย 11 เดือน (ม.ค.- พ.ย.) ปี 2564 สูงขึ้น1.15% (AoA) ซึ่งตัวเลขเงินเฟ้อดังกล่าว ไม่ถือว่าเป็นระดับที่สูงและยังไม่น่ากังวลมากนัก
“เมื่อเทียบกับช่วงที่หลายฝ่ายกังวลว่าไทยจะเข้าสู่ภาวะ Stagflation ในเดือนเม.ย. ที่ผ่านมาเนื่องจากเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น3.41% ซึ่งเป็นการขยายตัวที่สูงที่สุดในรอบ 8 ปี 4 เดือน แต่เป็นแค่ช่วงเวลาสั้น ๆ โดยมีราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นปัจจัยสำคัญ”
เมื่อพิจารณาราคาน้ำมันในช่วงดังกล่าว พบว่า ราคาน้ำมันดิบดูไบ เม.ย. เฉลี่ย 63.03 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น207.16% yoy เพราะเม.ย. 2563 เป็นช่วงที่ราคาน้ำมันต่ำสุดในปีนี้ ที่ 20.52 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ทำให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศ เพิ่มขึ้น38.30% และ น้ำมันเชื้อเพลิงยังมีสัดส่วนในตะกร้าเงินเฟ้อค่อนข้างมาก ที่ 8.1% แน่นอนย่อมกระทบเงินเฟ้อให้เพิ่มขึ้น แต่ต่อมามีทิศทางราคาน้ำมันก็ลดลง และกลับมาเพิ่มขึ้นเล็กน้อยอีกครั้งในช่วงก.ย.-พ.ย. ดังนั้น จึงถือว่าเงินเฟ้อในเดือนพ.ย.2564 ไม่อยู่ในระดับที่สูงจนเกินไป และยังอยู่ในกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่กำหนดไว้ในช่วง1.0 – 3.0% ซึ่งเป็นระดับที่เหมาะสมและ เอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ
สำหรับแนวโน้มราคาสินค้าปี 2565 อาทิ น้ำมันเชื้อเพลิง คาดว่า ราคาน้ำมันดิบในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2565 จะสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีแนวโน้มลดลงในช่วงครึ่งปีหลัง ทั้งนี้ ในภาพรวมราคาน้ำมันดิบโดยเฉลี่ยปี 2565 มีแนวโน้มใกล้เคียงกับปี 2564 สำหรับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศปี 2565 มีทิศทางที่สอดคล้องกับ การเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงต้นปี 2565 และจะค่อย ๆ ปรับลดลงในช่วงปลายปี 2565
จากตัวเลขสถานการณ์เศรษฐกิจต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั้งภาพรวมและรายสาขา ตามเงื่อนไขของ Stagflation ประเทศไทยในขณะนี้ยังไม่อาจถือว่าอยู่ในภาวะดังกล่าว และยังชี้ว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยเริ่มปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้เงินเฟ้อจะขยายตัวเพิ่มขึ้น แต่เฉลี่ยยังอยู่ในกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ และมีโอกาสน้อยที่ทั้งปีจะสูงเกินกรอบดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดตลอดเวลา รวมทั้งได้ออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไปพร้อม ๆ กับการดูแลค่าครองชีพประชาชนเป็นระยะ ๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดภาวะ Stagflation ได้อีกด้วย