“พลังงาน” เร่งเคลียร์ทางหนุนเปิดโรงไฟฟ้าชุมชนทันปี68
การตั้งโรงไฟฟ้าชุมชน ถือเป็นหนึ่งในนโยบายพลังงานเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ให้ชุมชนมีรายได้จากการเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้า พร้อมจำหน่ายวัสดุทางการเกษตรเป็นเชื้อเพลิง เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างความเข้มแข็งในชุมชน ลดการย้ายถิ่นฐาน สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนชุมชน
นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน (พพ.) กล่าวว่า ภายหลังที่มีการพิจารณาอนุมัติโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (โครงการนำร่อง) จำนวน 43 ราย จากผู้สมัครที่ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติและคำเสนอขอขายไฟฟ้าด้านเทคนิค 169 ราย คิดเป็นปริมาณพลังงานไฟฟ้าเสนอขายรวม 149.50 เมกะวัตค์ เป็นตามที่คณะอนุกรรมการนำเสนอรายชื่อเมื่อวันที่ 22 ก.ย.2564 พพ.
ล่าสุด พพ.ได้ลงพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เข้าชมบริษัทปาล์มดีชุมชนกรีนพาวเวอร์ จำกัด ที่ได้ร่วมกับวิสาหกิจชุมชนปาล์มน้ำมันพืชโตไวและเลี้ยงสัตว์ปาล์มดีศรีนคร เพื่อผลิตไฟฟ้าจากพืชชีวมวล ขนาด 2.85 เมกะวัตต์ โดยใช้พืชโตเร็ว เป็นเชื้อเพลิงหลัก และนำวัสดุเหลือใช้จากสวนปาล์มเป็นเชื้อเพลิงเสริม และบริษัทปาล์มดีกรีนพาวเวอร์ จำกัด ได้ร่วมกับวิสาหกิจชุมชนผลิตปาล์มน้ำมันและปลูกหญ้าเนเปียร์ ในการผลิตไฟฟ้าแก๊สชีวภาพขนาด 3 เมกะวัตต์ ซึ่งการผลิตจะใช้หญ้าเนเปียร์ผสมกับน้ำเสีย 25% ในการหมักเพื่อให้เกิดแก๊สชีวภาพ และใช้แก๊สเพื่อมาผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าต่อไป
นายอดิศักดิ์ ชูสุข ผู้อำนวยการกองวิจัย ค้นคว้าพลังงาน พพ. กล่าวว่า ต้นปี2568 ทุกโรงไฟฟ้าจะต้องทำตามเป้าหมายสัญญา ไม่งั้นพพ.จะยกเลิกใบอนุญาต ทั้งนี้ เพื่อสร้างความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ พพ.จึงจัดเสวนาและนิทรรศการเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับวิสาหกิจชุมชนพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า และแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับพืชพลังงาน ถือเป็นหนึ่งในนโยบายพลังงานเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ที่จะช่วยให้ชุมชนมีรายได้จากการจำหน่ายวัสดุทางการเกษตรเป็นเชื้อเพลิง เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างความเข้มแข็งในชุมชน ลดการย้ายถิ่นฐานของแรงงาน เกิดการจับจ่ายใช้สอยในพื้นที่ ก่อให้เกิดการหมุนเวียนของเศรษฐกิจในชุมชน
นายวิกรม โกมลตรี ตัวแทนบริษัท ปาล์มดีกรีนพาวเวอร์ จำกัด กล่าวว่า โรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพจะใช้พื้นที่ประมาณ 40 ไร่ โดยมีวิสาหกิจชุมชนฯ ที่มีสมาชิกกว่า300 ราย มีความพร้อมที่จะปลูกพืชพลังงานอย่างหญ้าเนเปียร์เพื่อป้อนให้กับโรงไฟฟ้าชุมชน โดยใช้วิธีการเช่าพื้นที่ปลูกเป็นหลักประมาณ 250ไร่ โดยอยู่ระหว่างปรับพื้นที่ เพื่อปลูกหญ้าเนเปียร์นำร่องเป็นตัวอย่าง หรือจะเป็นพื้นที่ริมคลองพระราชดำริในหลวงรัชกาลที่ 9 ชะอวด-แพรกเมือง ก็เตรียมที่จะเช่าให้สมาชิกวิสาหกิจชุมชนปลูกหญ้าเนเปียร์ด้วยเช่นกัน
“เรามีพื้นที่สำรองเพื่อปลูกหญ้าเนเปียร์อีกกว่า 1,000 ไร่ แต่จะไกลจากโรงงานถือเป็นแผนสำรองในการจัดหาเชื่อเพลิง ซึ่งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯมีพื้นที่รวมกว่าหลายหมื่นไร่ จะได้หญ้าเนเปียร์ 70 ตันต่อไร่ต่อปี ซึ่งการผลิตเชื้อเพลิงชีวมวล 1 เมกะวัตต์ จะใช้หญ้า 30-50 ตันต่อวัน ซึ่งหากผลิต 2.75 เมกะวัตต์ จะใช้หญ้าราว100 ตัน ตั้งเป้า 300 วันจะใช้หญ้าเนเปียร์ 3 แสนตัน ซึ่งปาล์ม 1 โรงงานจะมีพื้นที่ปลูก 1 แสนไร่ ดังนั้น พื้นที่เพาะปลูกหญ้าเนเปียร์ 100 ไร่เต็มพื้นที่ต่อ 1 เมกะวัตต์ ถือว่าเพียงพอ ส่วนราคารับซื้อหญ้าอยู่ที่ตันละ 300-500 บาท สวนปาล์มหากคิดตามสูตรเฉลี่ยทั้งปีทั้งประเทศ 3 ตันต่อไร่ แต่ในพื้นที่นี้โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 5 ตันต่อไร่ต่อปี ส่วนราคาปาล์มขณะนี้กิโลกรัมละ 6 บาท และหากคิด 3 ตันจะได้ 18,000 บาทต่อ1ไร่”
อย่างไรก็ตาม เจตนารมณ์ในการสร้างโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับคนในชุมชนตามนโยบายภาครัฐ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจซึ่งแน่นอนว่าทุกอย่างมีผลกระทบ อยู่ที่ว่าจะหาทางป้องกันอย่างไร ให้มีความรับผิดชอบต่อชุมชน ซึ่งพืชพลังงานคิดว่าผลกระทบคงไม่น่าจะมีอะไร เพราะมีการนำน้ำเสียและแก๊สมาปั่นไฟ ในขณะที่ชีวมวลจะสร้างให้มีมาตรฐาน ทั้ง ควัน หรือกลิ่น ก็จะต้องอยู่ในมาตฐาน มีการตรวจวัดค่าปริมาณการปล่อยทุกครั้ง พร้อมทั้งมีโรงงานต้นแบบ ชุมชนได้รับผลกระทบหรือไม่อย่างไร จะไม่คำนึงด้านราคาอย่างเดียวแต่จะคำนึงถึงระยะยาวเพื่อให้เกิดผลกระทบน้อยสุด
ทั้งนี้ ขณะนี้รัฐบาลได้ให้โอกาสโรงงานหาพลังงานเชื้อเพลิงในสัดส่วน 20% ได้ เพราะหากให้ใช้เชื้อเพลิงที่มาจากรัฐวิสาหกิจ 100% จะส่งผลกระทบได้ อีกทั้งการลงทุนสูงครั้งละกว่า 200 ล้านบาท ดังนั้น 20% ที่รัฐเปิดโอกาสให้เอกชนทำถือเป็นจุดแข็งสร้างโอกาสชุมชนได้นำเอาทะลายปาล์มมาขาย อีกทั้ง ยังได้เตรียมพื้นที่ปลูกหญ้าเนเปียร์ พร้อมแบ่งโซน เพื่อเสริมให้โรงไฟฟ้าได้ตลอดอายุสัญญา 20 ปี
“ราคาเชื้อเพลิงในท้องตลอดเชื้อเพลิง 20% ที่เป็นทะลายปาล์มที่ส่งขายไปส่วนใหญ่ และนำไปส่งในภาคกลางจะเกิดต้นทุนค่าขนส่งมากกว่าค่าเชื้อเพลิงด้วยซ้ำ จึงมองไปถึงผลกระทบทั้งในเรื่องของค่าน้ำมันและสร้างมลพิษ ส่วนราคาก็จะขึ้นอยู่กับราคาตลาดแต่ก็จะมีการประกันราคาให้ โรงไฟฟ้าเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็จะต้องอยู่ได้ และยืนยันว่าราคาไม่น้อยกว่าที่อื่นแน่นอน”
นายวิกรม กล่าวว่า คาดว่าโรงงานจะผลิตไบโอแก๊สจะเริ่มจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ปลายปี2565 ส่วนโรงไฟฟ้าชีวมวลจะต้องดูรายละเอียดก่อนสร้างเพราะยังมีผลกระทบเรื่องการบริหารจัดการ รวมถึงเงินลงทุนเพื่อให้อยู่ในกรอบกำหนดของพพ.ที่ไม่เกิน 36 เดือน หรือภายในวันที่ 21 มกราคม 2568 คาดว่าจะคุ้มทุนใน 7 ปีจากการลงทุนราว 160-170 ล้านบาท
นอกจากนี้ การให้วิสาหกิจชุมชนมีหุ้น 10% หากวางแผนในการสร้างลงทุนที่ดี วิสาหกิจชุมชนจะได้รับผลในการยืนพื้นตรงนี้แน่นอน สามารถนำเงินไปต่อยอดได้ เมื่อรัฐได้กำหนดว่าโรงไฟฟ้าจะต้องมีเงินจำนวนหนึ่งไปพัฒนาด้านการศึกษา ด้านสาธารณูปโภค โดยมีการทำบันทึกข้อตกลงท้องถิ่นตั้งเป้าว่าใน 1ปี จะมีเงิน 1ล้านบาท ต่อ1 โรง มาพัฒนาได้หลายอย่าง เกิดประโยชน์กับชุมชนเป็นอย่างมาก
“การจะเพิ่มบ่อชีวมวลอีก 1 บ่อ ต้องทำความเข้าใจให้ชาวบ้าน ก่อนจะทำต้องมีข้อมูลให้ชัดเจน โดยเฉพาะประเด็นสิ่งแวดล้อม ว่าจะมีเทคโนโลยีแบบไหน ดูที่ข้อกังวลเขาก่อน ผลประโยชน์ชุมชนที่ได้ 1 ล้านบาทต่อปี จะมีการจัดสรรเพื่อประโยชน์สูงสุดเพื่อส่วนรวม อยากเสนอภาครัฐ เมื่อเราทำแล้วลดโลกร้อน เป็นสิ่งที่ได้กับชุมชน ราคาที่ได้ไม่ควรจะมีการแข่งขัน โรงอื่นอาจจะให้ชุมชนแค่ 1 แสนบาทต่อปี จึงถือเป็นเรื่องที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าชุมชน”
นายมนัส รอดมินทร์ ประธานวิสาหกิจชุมชนปาล์มน้ำมันและหญ้าเนเปียร์ ปาล์มดีศรีนคร กล่าวว่า พื้นที่จำนวน 90% เป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ เหมาะกับการทำเกษตรกรรม มีน้ำพร้อมจากคลองพระราชดำริ ชาวบ้านรวมตัวกันปลูกพืชพลังงานเพื่อเป็นการเพิ่มรายได้ สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน ที่ผ่านมาเกษตรกรอยู่ไม่ได้ ลูกหลานต้องอพยพไปอยู่กรุงเทพฯ ต้องหางานทำ ตอนนี้เป็นโอกาสดี ทั้งการขายในส่วนของทะลายปาล์มเพื่อนำไปผลิตเป็นกระแสไฟฟ้ามีความต่อเนื่อง ปัจจุบันได้เปลี่ยนจากการทำนามาปลูกปาล์มเดือนละ 2 ครั้ง สร้างความมั่นคงให้เกษตรกร
นอกจากนี้ เมื่อมีโรงไฟฟ้าเกิดขึ้น เกษตรกรไม่ต้องกังวลว่าจะไม่มีตลาดรองรับ เมื่อชุมชนมีรายได้ที่มั่นคง อยากเห็นลูกหลานเกษตรกรไปทำงานที่อื่นทยอยกลับมาสู่บ้านเกิดของตัวเอง อีกทั้ง จากการที่ราคาน้ำมันมีความผันผวน เกษตรกรค่อนข้างไม่สบายใจ หากจะนำปาล์มน้ำมันที่เป็นเชื้อเพลิงมาผลิตกระแสไฟฟ้าจะทำให้เกษตรกรอยู่ได้ นอกจากนี้ กระแสการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) กำลังจะมา ต้องเตรียมพร้อมผลิตกระแสไฟฟ้าจะต้องพร้อม ชาวสวนมีความพร้อมแล้วที่จะผลิตเชื้อเพลิงเพื่อให้พอกับความต้องการของโรงไฟฟ้าชุมชน
นายวัชระพงค์ คงแก้ว ประธานวิสาหกิจชุมชนปาล์มน้ำมันพืชโตไวและเลี้ยงสัตว์ปาล์มดีศรีนคร กล่าวว่า ชาวบ้านได้เตรียมพื้นที่ไว้ 2 ส่วน โดยส่วนที่ 1 ใช้เป็นพื้นที่ในการปลูกไม้โตเร็ว เช่น กระถิน ยูคาลิปตัส ปลูกเป็นเชื้อเพลิงทางเลือก และให้ผลผลิตต่อพื้นที่สูง มีความหนาแน่นของต้นไม้สูง ปริมาณขี้เถ้าต่ำ ปริมาณลิกนินสูง ซึ่งจะทำให้มีค่าความร้อนสูง ทนโรคและแมลง เติบโตได้ดีในพื้นที่ดินเสื่อมโทรม ความสามารถในการแตกหน่อดี ขยายพันธุ์ได้ง่าย สามารถปลูกร่วมกับพืชเกษตรอื่นได้ และส่วนที่ 2 เป็นแผนรองรับในเรื่องของต้นปาล์มกับทะลายปาล์ม เมื่อโรงไฟฟ้าก่อตั้งเสร็จเรียบร้อย คิดว่าวิสาหกิจชุมชนจะมีความพร้อมที่จะส่งเชื้อเพลิงให้กับโรงไฟฟ้า สมาชิกจะมีรายได้เพิ่มขึ้น
สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก เป็นโครงการที่คิดขึ้นตั้งแต่ปี 2562 ในสมัยนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และได้เข้าสู่การพิจารณาของ กพช.เมื่อ 11 ก.ย. 2562 โดย กพช.ในครั้งนั้นเห็นชอบกรอบการส่งเสริมให้เกิดโรงไฟฟ้าชุมชนรวม 1,933 เมกะวัตต์ ซึ่งกระทรวงพลังงานได้บรรจุในแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ.2561-2580 หรือ AEDP2018 แต่เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงคณะรัฐมนตรี และส่งไม้ต่อมายังนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนปัจจุบัน จึงเกิดการเปลี่ยนแปลงนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชนฯ และเสนอ กพช.พิจารณาอีกครั้ง เมื่อ 16 พ.ย. 2563 โดยให้เป็นเพียงโครงการนำร่อง 150 เมกะวัตต์ เท่านั้น