เปิดแผนลงทุน OR ปี65 ลุยธุรกิจ EV เร่งลงทุนสตาร์ทอัพ
“โออาร์” กางแผนปี65 ลงทุนธุรกิจท่องเที่ยว สุขภาพ ดิจิทัล โลจิสติกส์ ขยายปั๊ม 120 สาขา อเมซอน 500 สาขา เปิดจุดชาร์จอีวี 300 แห่ง หวังเปิดประเทศน้ำมันเครื่องบินโต 50% ผนึก “จีพีเอสซี” พัฒนาแบตEV ดัน “ฟิต ออโต้” ต่อยอดซ่อมรถอีวี ทุ่ม 6 พันล้าน พัฒนาศูนย์ธุรกิจค้าปลีกอยุธยา
บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ โออาร์ ที่มีทำสถิติได้รับความสนใจการจองหุ้นไอพีโอมากที่สุดในปี 2564 ด้วยยอดจอง 5.3 แสนราย ทำให้เป็นธุรกิจที่ได้รับความสนใจอย่างมาก โดยกลุ่ม ปตท.ได้มอบหมายให้โออาร์เป็นหัวหอกในการขับเคลื่อนธุรกิจ Mobility & Lifestyle เพื่อตอบโจทย์ผู้บิโภคในรูปแบบใหม่
น.ส.จิราพร ขาวสวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากการดำเนินธุรกิจปี 2564 ทั่วโลกเกิดวิกฤติโควิด-19 ในขณะที่ประเทศไทยได้ปิดพื้นที่และแบ่งโซนพื้นที่ความปลอดภัย แต่ไม่มีพื้นที่ใดที่ถูกกำหนดให้เป็นโซนสีเขียวเลย ซึ่งทำให้โออาร์ได้รับผลกระทบในจุดที่ต่ำสุดคือช่วงเดือน ส.ค.2564 โดยเฉพาะยอดขายน้ำมัน
ในขณะที่คาเฟ่ เมซอน จะมีบริการเสริมดิลิเวอรี่ จึงทำให้สามารถพยุงธุรกิจได้ 30% และเมื่อคนไทยได้รับการฉีดวัคซีนตามเป้ายอดเฉลี่ยเกือบ 70% ส่งผลให้สถานการณ์ในประเทศไทยดีขึ้นในช่วงเดือน ก.ย.-ต.ค.2564 การจองโรงแรมเพิ่มขึ้นถึง 70% และเมื่อวันที่ 1 พ.ย.2564 มีการเปิดประเทศ ยอดขายน้ำมันและนอนออยล์มียอดขายที่ดีขึ้น ดังนั้น แคมเปญท่องเที่ยวถือเป็นตัวกระตุ้นให้ธุรกิจโออาร์กลับมาดีขึ้น
“ยอดการขายน้ำมันปี 2565 คาดว่าจะกลับมาฟื้นตัว หลังจากรัฐบาลมีนโยบายเปิดประเทศตั้งแต่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดการท่องเที่ยวภายในประเทศเพิ่มขึ้นจำนวนมาก และคาดว่ายอดขายน้ำมันของโออาร์ได้ผ่านพ้นจุดต่ำสุดไปแล้วในเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา ขณะที่ยอดขายน้ำมันอากาศยานปี 2565 คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 50% ของยอดขายน้ำมันอากาศยานปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19” น.ส.จิราพร กล่าว
สำหรับแผนการดำเนินงานปี 2565 ของโออาร์ได้ตั้งเป้าขยายสาขาสถานีบริการน้ำมันไว้ที่ 110-120 สาขา จากปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 2,000 สาขา ขณะที่ร้านคาเฟ่ อเมซอน จะขยายสาขาเพิ่มอีก 400-500 สาขา จากปัจจุบันมีประมาณ 3,500 สาขา เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายปี 2566 จะเพิ่มเป็น 5,000 สาขา ทั้งในและนอกปั๊ม
ในขณะที่งบลงทุนในปี 2565 ยังอยู่ระหว่างการนำเสนอคณะกรรมการโออาร์ พิจารณาภายในเดือน ธ.ค.นี้ โดยก่อนหน้านี้ได้ตั้งงบลงทุนไว้ที่ 20,000 ล้านบาท แต่ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ต้องชะลอการลงทุนบางส่วนไป และส่งผลให้ปัจจุบันได้ใช้งบประมาณลงทุนไปแล้วประมาณ 6,000-8,000 ล้านบาท
เร่งหาพันธมิตรธุรกิจ
นอกจากนี้ ปี 2565 จะขยายแผนการลงทุนในธุรกิจใหม่เพิ่มเติม โดยจะเปิดกว้างโดยการหาพันธมิตรร่วมลงทุนทั้งรายใหญ่และรายย่อยหรือเอสเอ็มอี รวมถึงสตาร์ทอัพที่ตั้งเป้าสนับสนุน 15-20 ราย ใน 10 ปีต่อจากนี้ ซึ่งในปี 2564 ได้ร่วมทุนไปแล้ว 2 ราย
ทั้งนี้ การร่วมลงทุนกับสตาร์ทอัพจะเป็นการตอบสนองธุรกิจบริการ ท่องเที่ยว สุขภาพ ดิจิทัลและโลจิสติกส์ เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคยุคใหม่ และจะเปิดตัวซูเปอร์แอพพลิเคชั่น ที่ตั้งเป้าหมายให้ทุกกลุ่มอายุให้สามารถโหลดแอปพลิเคชั่นติดหน้าจอแรกในโทรศัพท์มือถือได้ ซึ่งจะมีไลฟ์สไตล์หลายกิจกรรมที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน
ขณะที่ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มในปี 2565 จะขยายตัวเพิ่มขึ้น หลังจากเปิดให้บริการศูนย์ธุรกิจค้าปลีกโออาร์ จ.พระนครศรีอยุธยา อย่างเต็มประสิทธิภาพพร้อมกัน ทั้งศูนย์กระจายสินค้า (ดีซี), โรงคั่วกาแฟ , โรงผงผสม, โรงงานเบอเกอรี่ ซึ่งโรงงานต่างๆ นั้น โออาร์ได้นำระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์มาใช้ในกระบวนการผลิต ทำให้ลดต้นทุนด้านบุคลากร เพิ่มความแม่นยำในการจัดส่งสินค้าบริการได้สะดวกมากขึ้น ถือเป็นโรงงานอันดับต้นที่นำระบบทันสมัยมาใช้ โดยได้ลงทุนภายใต้งบประมาณ 6,000 ล้านบาท บนพื้นที่ 200 ไร่ มีพนักงงานรวม 400 คน
เป้าขยายปั๊มชาร์จอีวี300แห่ง
นางสาวปิติรัตน์ รัตนโชติ ผู้จัดการฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สำหรับแผนการดำเนินงานในปี 2565 บริษัทตั้งเป้าหมายขยายสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) เพิ่มเป็น 300 แห่ง จากปัจจุบันอยู่ที่ 97 แห่งทั้งภายในสถานีให้บริการน้ำมันและนอกสถานีบริการ หรือที่เรียกว่า OR SPACE ซึ่งจะเป็นพื้นที่ให้บริการชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าโดยไร้บริการหัวจ่ายน้ำมัน และเป็นแหล่งรวมร้านค้าแบรนด์พันธมิตร
ทั้งนี้ คาดว่าธุรกิจอีวีจะเป็นธุรกิจที่สนับสนุนการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในอนาคต โดยโออาร์ได้ร่วมมือกับบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ จีพีเอสซี เพื่อพัฒนาแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงการพัฒนาแอพพลิชั่นเพื่อรองรับการชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า อีกทั้งยังเตรียมความพร้อมธุรกิจซ่อมบำรุงยานยนต์ไฟฟ้า โดยต่อยอดจากศูนย์บริการยานยนต์ฟิต ออโต้ (FIT Auto) ของโออาร์
เล็งปิดดีลสตาร์ทอัพ1-2ราย
นอกจากนี้ โออาร์ยังมองหาการเติบโตจากภายนอก ผ่านการจัดตั้งกองทุนส่วนบุคคลออร์ซอน เวนเจอร์ส (ORZON Ventures) เพื่อลงทุนในสตาร์ทอัพสำหรับต่อยอดธุรกิจ โดยโออาร์ถือหุ้น 99% และอีก 1% เป็นการถือหุ้นของกลุ่มบริษัท 500 สตาร์ตอัพ (500 Startups) ผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนในสตาร์ทอัพ
ทั้งนี้ ORZON Ventures มีมูลค่าแรกเริ่มลงทุน 25 ล้านดอลลาร์ หรือ 835 ล้านบาท โดยเบื้องต้นคาดว่าจะปิดดีลลงทุนในสตาร์ทอัพราว 1-2 ราย ในช่วงต้นปี 2565
สำหรับแนวโน้มธุรกิจในปี 2565 คาดว่าจะเติบโตดีกว่าปี 2564 เพราะได้ปัจจัยหนุนจากการเปิดประเทศ โดยคาดหวังกิจกรรมทางเศรษฐกิจและธุรกิจจะกลับมาเพิ่มขึ้น ผู้คนเริ่มกลับมาเดินทางและจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น รวมถึงปัจจัยหนุนคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบดูไบในปี 2565 จะเคลื่อนไหวที่ 65.5 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
เกาะติดสายพันธุ์“โอมิครอน”
ขณะที่แนวโน้มธุรกิจในไตรมาส 4 ปี 2564 คาดว่าจะได้ปัจจัยหนุนจากการกลับมาของนักท่องเที่ยวบางส่วน ภายหลังเปิดประเทศวันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา แต่ยังมีความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ ผลกระทบจากโรคโควิด-19 ได้ส่งผลให้แผนการดำเนินงานปี 2564 ไม่สามารถเติบโตได้ตามเป้าหมาย เพราะเผชิญกับปัญหาขาดแคลนแรงงาน รวมถึงการติดต่อหน่วยงานราชการ
สำหรับในประเทศจะมีการเปิดสถานีบริการน้ำมันอยู่ที่ 86 แห่ง จากเป้าหมาย 110 แห่ง การเปิดคาเฟ่อเมซอนอยู่ที่ 407 สาขา จากเป้าหมาย 420 สาขา และการเปิดสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าอยู่ที่ 97 แห่ง จากเป้าหมาย 100 แห่งเช่นเดียวกับต่างประเทศ การเปิดสถานีบริการน้ำมันอยู่ที่ 43 แห่ง จากเป้าหมาย 52 แห่ง ส่วนคาเฟ่อเมซอนอยู่ที่ 46 สาขา จากเป้าหมาย 56 สาขา
อย่างไรก็ตามเชื่อว่ารายได้ยังเติบโตจากแรงหนุนราคาน้ำมันดิบดูไบที่เพิ่มขึ้นสูงเฉลี่ย 66.2 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล รวมถึงรายได้จากการลงทุนในธุรกิจที่ไม่ใช่น้ำมัน (Non-oil Business) อาทิ การลงทุนในร้านอาหารโอ้กะจู๋ และการลงทุนในบริษัท อิ่มทรัพย์ โกลบอล คูซีน จำกัด เจ้าของเชนร้านอาหารญี่ปุ่นโคเอ็น ซูชิ บาร์ และโอโนะซูชิ
รายงานข่าวจากโออาร์ระบุว่า รายได้ของโออาร์ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 (ม.ค.-ก.ย.) อยู่ที่ 353,960 ล้านบาท แบ่งเป็นธุรกิจน้ำมัน 328,348 ล้านบาท มีสัดส่วนถึง 91.0% รองลงมาเป็นธุรกิจค้าปลีกสินค้าและบริการอื่น 11,907 ล้านบาท มีสัดส่วน 3.3% ธุรกิจต่างประเทศ 19,738 ล้านบาท มีสัดส่วน 5.5% และธุรกิจอื่นๆ 738 ล้านบาท มีสัดส่วน 0.2%